ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย
วิชาชีพการแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมายประกอบด้วย การแก้ไขการพูด และการแก้ไขการได้ยิน ได้เข้าร่วมมีบทบาทในการบริการทางด้านสาธารณสุขนานกว่า 30 ปีโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล และรองศาสตราจารย์ ดร.รจนา ทรรทรานนท์ ได้วางรากฐานงานทางด้านโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูด ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 หลังจากที่อาจารย์ทั้งสองท่านสำเร็จการศึกษาด้านโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูด ตามลำดับ จาก Temple University ประเทศสหัรฐอเมริกา และได้เริ่มจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย ตั้งแต่ปีพ.ศ.2519
นับเป็นสถาบันแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ทำให้มีบุคลากรที่สำเร็จการศึกษามารับใช้สังคมในการวินิจฉัยความผิดปกติของการสื่อความหมาย ให้การช่วยเหลือ ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยที่มีความผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้สามารถสื่อความหมายได้เช่นเดียวกับคนทั่วไปโดยไม่ต้องเป็นภาระของสังคม การผลิตบุคลากรเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากความจำกัดของอาจารย์ผู้สอน ซึ่งต้องรับผิดชอบทั้งงานด้านบริการและการศึกษา การศึกษาในระดับมหาบัณฑิตที่ต้องใช้เวลาหลายปีทำให้ไม่สามารถเพิ่มการผลิต เป็นผลให้จำนวนบุคลากรไม่เพียงพอต่อการให้บริการผู้ป่วย ซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ สถาบันจึงได้มีการผลิตบุคลากรระดับประกาศนียบัตร สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย (หลักสูตร 1 ปี) เมื่อสำเร็จการศึกษาปฏิบัติงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย ทำให้มีการกระจายของบุคลากรตามจังหวัดต่างๆ มากขึ้น อย่างไรก็ดี วิชาการและเทคโนโลยีได้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เนื้อหาวิชาการที่เกี่ยวข้องล้วนเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ สถาบันจึงดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร โดยจัดทำหลักสูตรอนุปริญญา สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย ในปี พ.ศ.2542 เพื่อให้เจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์เข้ารับการศึกษาเพิ่มเติมอีก 2 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาออกไปปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานวิทยาศาสตร์ สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย นอกจากนั้นยังได้ปรับเปลี่ยนคุณวุฒิการศึกษาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต เป็นวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ.2542 แม้ว่าสถาบันได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรเพื่อให้การเรียนการสอนมีความทันสมัยเป็นปัจจุบันแล้วก็ตาม การรับนักศึกษาเข้าเรียนในหลักสูตรมหาบัณฑิต ซึ่งได้เปิดกว้างสำหรับผู้มีพื้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ทางการศึกษา และจิตวิทยา เป็นต้น เข้ามาศึกษาต่อ โดยจะต้องเริ่มเรียนเนื้อหาวิชาที่จำเป็นพื้นฐานก่อนเข้าศึกษาในหลักสูตร ได้แก่ กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา ของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการได้ยินและการพูด ภาษาศาสตร์สัทศาสตร์ และเนื้อหาวิชาในหลักสูตรมหาบัณฑิตที่นักศึกษาต้องเรียนรู้ มีเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้เรียนต้องใช้เวลานานในการศึกษาและต้องทำวิทยานิพนธ์ ประกอบกับการที่การศึกษามีเพียงหลักสูตรอนุปริญญา และปริญญาโท ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาไม่สามารถศึกษาต่อในระดับปริญญาโทได้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ทางการศึกษาของวิชาชีพ และมีความต่อเนื่อง สถาบันจึงได้จัดทำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย หลักสูตร 4 ปี โดยเริ่มรับนักศึกษารุ่นแรกด้วยการสอบเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของประเทศ (Entrance) ในปีการศึกษา 2547 ขณะนี้ นักศึกษาปริญญาตรีรุ่นแรกกำลังศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาคการศึกษาที่ 1 ซึ่งจะสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ.2551