ต้นฉบับโน้ตเพลงประจำคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และเพลงสถาบันรามาธิบดี

 
  ต้นฉบับโน้ตเพลงประจำคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ได้รับบริจาคจาก 
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์
 

        ต้นฉบับโน้ตเพลงประจำคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และเพลงสถาบันรามาธิบดี เป็นของส่วนตัวของศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์ ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์เพลง อาทิ เพลงรามาฯ ปณิธาน (2529) เพลงคืนสู้เหย้าชาวรามาฯ (2546) เพลงรามาธิบดี (2529) เพลงแม่รามาฯ ที่รักยิ่ง (2529) เพลงรำวงรามาฯ ช่วยไทย (2529) เพลงอำลา อาลัย (2529) โดยใช้นามแฝงว่า “วราห์ วรเวช”  บันทึกเสียงในรูปแบบ เทปคลาสเซ็ท และแผ่นบันทึกเสียง (แผ่นซีดี)  ขับร้องโดย แพทย์หญิงพันทิวา สินรัชตานันท์ จักษุแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและนักร้องวงดุริยางค์ราชนาวีไทย  จัดทำทั้งในรูปแบบเพลงขับร้องและเพลงบรรเลง   มีการเผยแพร่ในสื่อหลายช่องทาง และยังมีการนำไปบันทึกเสียงและทำนองต่างๆ  นอกจากนั้นคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้จัดคอนเสิร์ต “ 51 ปี งานเพลงหมอวราห์ คอนเสิร์ตอิ่มบุญอิ่มใจ”  เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 เวลา 15.00 น. ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล โดย  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ  อมาตยกุล  เป็นผู้ดำเนินรายการ บรรเลงเพลงโดยวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (TPO)

 


  แถบบันทึกเสียงเพลงประจำคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและเพลงสถาบันรามาธิบดี
ได้รับบริจาคจาก ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์
 

          ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์ ได้ประพันธ์ เพลงประจำคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและเพลงสถาบันรามาธิบดี ตั้งแต่ พ.ศ. 2529 - พ.ศ. 2546 ได้รับความนิยมมาก และมีการบันทึกไว้ในสื่อดังนี้
          1. แถบบันทึกเสียงขนาดเล็ก (Compact Cassette) เพลงคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2529 ผลิตโดย เอเชี่ยน แอสโซซิเอเต็ล อินดัสตรีย์ จำกัด แถบบันทึกเสียงขนาดเล็กแบ่งออกเป็นสองหน้า  หน้า A บรรจุเพลงจำนวน 6 เพลง และหน้า B เป็นดนตรีบรรเลงของ 6 เพลงที่อยู่ในหน้า A โดย ทั้ง 6 เพลงนั้น ประพันธ์คำร้องและทำนอง โดย ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์ เรียบเรียงและควบคุมดนตรีโดย วิชัย อิงอัมพร และศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์ ประพันธ์คำร้อง เพลงที่ 5  ร่วมกับอาจารย์บุญเสริม พึ่งพุทธรัตน์  บันทึกเสียง โดย มนตรี โรจนถาวร และบันทึกเสียงที่ห้องบันทึกเสียงไพบูลย์สตูดิโอ 
         2. แถบบันทึกเสียงแม่เหล็ก (Precision Magnetic Tape) เครื่องหมายการค้า Ampex โดยปรากฏลายมือเขียนด้านหลังกล่องบันทึกชื่อเพลง แม่รามาฯ ที่รัก รามาฯ ปณิธาน รามาฯ ศรีสง่า และรามาธิบดี  เป็นต้นฉบับของเพลงประจำสถาบัน “รามาธิบดี” ทั้งสี่เพลง
         3. กระดาษบันทึกโน้ตเพลงต้นฉบับลายมือ ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์ ในชื่อที่ใช้ในการแต่งเพลงว่า “วราห์ วรเวช” เพลงแม่รามาที่รักยิ่ง และเพลงรามาปณิธาน และสำเนาบันทึกโน๊ตเพลงรามาธิบดี แต่งคำร้องโดย ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์วราวุธ สุมาวงศ์ และเรียบเรียงเสียงประสานโดย วิชัย อึ้งอัมพร