You are here

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ บุญเกิด

สรุปจาก Oral History ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ บุญเกิด

 

บรรยากาศการเรียนการสอนในสมัยนั้น

                            อาจารย์เล่าว่า บรรยากาศการเรียนการสอนของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีช่วงนั้นเด่นมากคือ สวยโรงพยาบาลใหม่และสะอาด อาจารย์ส่วนมากจบการศึกษาใหม่ ๆ จากต่างประเทศ ภายในอาคารนั้นมีการออกแบบที่รองรับการปฏิบัติงานโดยมีสำนักงานของอาจารย์และห้องบรรยายอยู่ตรงกลางด้านซ้ายและขวาเป็นหอผู้ป่วย ชื่อเสียงของคณะฯ โดดเด่นมากจนเป็นที่กล่าวถึงว่า ถ้าจะแต่งงานก็ไปดุสิตธานี ถ้าเจ็บป่วยต้องมารามาธิบดี สิ่งที่นับว่าเป็น Innovation และน่าภาคภูมิใจ คือ หลักสูตรเวชศาสตร์ชุมชน โดยนักศึกษาต้องไปฝึกที่อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้นักศึกษาได้ไปคลุกคลีกับชนบทจนมีผลทำให้แพทย์ที่จบการศึกษาจากรามาธิบดีได้รับสมญานามว่าเป็นแพทย์ที่มุ่งเน้นชนบทดังนั้นเมื่อจบการศึกษาแล้วสามารถอยู่ในชนบทได้ การเรียนการสอนทางการแพทย์ในช่วงรุ่นแรก ๆ คณะฯ โดดเด่นมากคิดว่าการจัดอันดับการเลือกเข้าเรียนแพทย์นั้น คณะฯ น่าจะเป็นอันดับ 1

 

ประสบการณ์ต่าง ๆ จากการทำงานในฐานะผู้บริหาร

                           อาจารย์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ พ.ศ. 2538 – 2542 และได้ปรับปรุงพื้นที่ของภาควิชาใหม่โดยใช้เงินบริจาคทั้งสิ้นแต่ในระยะแรกยังไม่เพียงพอ การปรับปรุงพื้นที่เริ่มจากห้องธุรการ ห้องประชุม หอผู้ป่วยทั้งชายหญิง และช่วยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีด้วยคือ ปรับปรุงห้องผ่าตัดชั้น 3 และชั้น 4 (ชั้น 3 เป็นของภาควิชาศัลยศาสตร์ ชั้น 4 เป็นของภาควิชาสูติศาสตร์นารีเวชวิทยา) ปรับปรุงห้อง CCU และห้อง ICU โดยได้รับเงินจากผู้บริจาครายใหญ่มากคือ คุณวิชัย มาลีนนท์และครอบครัวในจำนวนเงิน 300 ล้านบาท

                           เมื่อเป็นหัวหน้าภาคฯ อาจารย์ได้รับความรู้ต่าง ๆ ที่สามารถนำไปใช้ที่ต่าง ๆ ได้ ดังนั้นในการบริหารองค์กรอาจารย์มีเป้าหมาย 3 เป้าหมายคือ 1. สร้างผลงานที่ดีเป็นที่ยอมรับซึ่งภาค ฯ มีผลงานเป็นที่ยอมรับมากอยู่แล้ว 2. สร้างคนเพื่อทดแทนและสืบทอดภาระงานต่าง ๆ 3. สร้างระบบบริหารที่ดีรองรับปัญหาต่าง ๆ

 

แนะนำตัว และการเข้ามาทำงานที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

                           ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเสริฐ บุญเกิด จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ 14 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ได้เข้าปฏิบัติงานเป็นอาจารยด้านระบบประสาทวิทยาในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีจากการชักชวนของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังจากนั้นอาจารย์ได้ไปศึกษาต่อที่ City of Memphis Hospitals มหาวิทยาลัยเทนเนสซี 1 ปี ฝึกแพทย์ประจำบ้านด้านระบบประสาทวิทยา 3 ปีกับดร. เบอร์นาร์ด สมิทธิ์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ที่ E.J. Meyer Memorial Hospital ณ University of New York ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นทำวิจัยด้าน electrophysiology ของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อในหนูตะเภาและในคนต่ออีก 1 ปี ที่ St. Michael Hospital University of Toronto ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้กลับมาสอนที่หน่วยประสาทวิทยารามาธิบดีในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2514

 

คำแนะนำในการดำเนินงานหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี

                            อาจารย์มีข้อแนะนำในการดำเนินงานหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดีว่า ควรมีรูปภาพและข้อมูลเก่า ๆ ของสิ่งต่อไปนี้ คือ อาคารสถานที่ในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี บุคคลในอดีตรุ่นแรก ๆ และผลงานทางวิชาการของอาจารย์ทั้งที่ตีพิมพ์ในรูปแบบวารสารและตำรา รวมถึงผลงานที่เป็นสิ่งประดิษฐ์และเครื่องมือต่าง ๆ

                            อาจารย์ได้ขอให้ชาวรามาธิบดีรุ่นต่อมาตระหนักว่า คณะฯ เปรียบเสมือนวงออเคสตร้า มีคณบดีเป็นผู้ควบคุมวง ดังนั้นบุคลากรในคณะฯ ทุกคนต้องใช้โน้ตเดียวกัน โน้ตนี้เป็นโน้ตของคณะฯ ที่ชาวรามาธิบดีต้องเล่นให้ตรงจังหวะตามโน้ตถ้าทำได้ดีคณะ ฯจะเป็นคณะแพทย์ชั้นนำในเอเชียหรือระดับในโลกก็ได้ โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการองค์กรโดย 1. สร้างบัณฑิต 2. สร้างคน 3.สร้าง organization ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันคิดอย่างรอบคอบ

 

ข้อมูลนี้เป็นลิขสิทธิ์ของหน่วยหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี 

 

 
270 โรงพยาบาลรามาธิบดี ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
โทรศัพท์: 0-2201-0562, 0-2201-0564 โทรสาร: 0-2354-7268 อีเมล: ramamuseum@gmail.com