รองศาสตราจารย์สุนทรี ภานุทัต

สรุปจาก Oral History ของ รองศาสตราจารย์สุนทรี ภานุทัต

 

แรงบันดาลใจในการเข้ามาทำงานที่รามาธิบดี

                            รองศาสตราจารย์สุนทรี ภานุทัต เล่าว่าหลังจากจบการศึกษาพยาบาลศาสตร์ จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ใน พ.ศ. 2508 ได้เรียนประกาศณียบัตรผดุงครรภ์ต่อ 6 เดือน จนจบการศึกษาใน พ.ศ. 2509 และยังอยู่เมืองไทยพร้อมกับเพื่อน ๆ ที่จบการศึกษารุ่นเดียวกันรวม 6 คนโดยไม่ไปเรียนต่อหรือไปต่างประเทศเหมือนเพื่อนคนอื่น ๆ พอดีช่วงนั้นได้ทราบข่าวการตั้งคณะแพทยศาสตร์ใหม่ที่ทันสมัย ใช้มาตรฐานต่างประเทศ และเหตุผลสำคัญที่สุดคือ มีความประทับใจกับผู้ที่จะเป็นทีมบริหารทั้งฝ่ายพยาบาลและฝ่ายแพทย์ของคณะแพทย์แห่งใหม่นี้ คือ อาจารย์คุณหญิงดวงใจ สิงหเสนี ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มีรูปร่างสมาร์ท เอาจริงเอาจัง ทำงานด้วยแล้วสนุกสนาน น่ารัก อัธยาศัยดี เป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งได้รับทาบทามให้เป็นหัวหน้าโรงเรียนพยาบาล และศาสตราจารย์ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี ซึ่งเป็นอาจารย์หนุ่มรูปหล่อที่คุยด้วยแล้วรู้สึกดี อัธยาศัยดี เป็นผู้ใหญ่ใจดี อารมณ์ดี ยิ้ม จะมีอารมณ์ขันแทรกเสมอ ทำงานด้วยแล้วสนุก จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณบดี ดังนั้นรองศาสตราจารย์สุนทรี ภานุทัต และเพื่อนรวม 6 คน จึงสมัครเข้าทำงานเป็นอาจารย์พยาบาลรุ่นแรกซึ่งเป็นรุ่นบุกเบิกของคณะฯ

 

ประสบการณ์การทำงานในฐานะผู้บริหาร

                           แนวคิดแนวทางในการทำงานในสมัยเป็นหัวหน้าภาควิชาพยาบาลศาสตร์เป็นเวลา 8 ปีนั้น รองศาสตราจารย์สุนทรี ภานุทัต มีภารกิจหลายอย่าง แต่ที่สำคัญ คือ ช่วงที่เป็นหัวหน้าภาคจะเน้นย้ำกับทุกระดับให้อยู่ในปรัชญาเดิมคือ การศึกษาและการบริการต้องไปด้วยกันไม่แยกจากกัน ซึ่งเป็นหัวใจของภาควิชาฯ จะมีการพัฒนาไปทั้งสองสาย คือ สาย ก และสาย ข ทั้งการส่งไปศึกษาและดูงานไปต่างประเทศ ขอทุน รองศาสตราจารย์สุนทรี ภานุทัต กราบขอบพระคุณศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชีวะ ที่ให้ทุนปีละ 2 ล้าน ช่วงแรก ๆ ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาค ฯ รองศาสตราจารย์สุนทรี ภานุทัต เคยคิดจะแยกเป็นคณะพยาบาลศาสตร์ แต่เมื่อทบทวนแล้วยกเลิกไปเพราะจะเสียทั้งส่วนการศึกษาและบริการ

 

ฝากข้อคิดในการดำเนินงานหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี

                           อาจารย์ ชื่นชมโครงการจัดตั้งหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี เพราะจะช่วยทำให้ชาวรามาธิบดีรุ่นหลัง ๆ ได้ทราบประวัติคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยประวัติศาสตร์จะเป็นบทเรียนเป็นครูให้ทั้งในปัจจุบันหรืออนาคตได้จะเป็นบทเรียนที่ดีและมีคุณค่า จริง ๆ แล้วคณะฯ น่าจะทำโครงการนี้นานแล้วและน่าจะให้ทุก ๆ หน่วยงานที่ทำเพื่อบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ไว้

 

Dr. Ruby L Wilson

                            Dr. Ruby L Wilson เป็นที่ปรึกษาด้านการพยาบาลที่มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ เชิญมาปฏิบัติงานที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีในสมัยแรกตั้งคณะฯ โดยมีมาตรฐานตามหลักสูตรต่างประเทศ Dr. Ruby L Wilson มีแนวคิดว่า การศึกษาและการบริการต้องไปด้วยกัน ท่านเน้นว่าวิชาชีพพยาบาลจะสอนแต่ในโรงเรียนไม่ได้และจะออกไปปฏิบัติอย่างเดียวไม่ได้ต้องร่วมมือกัน

                           โครงสร้างของโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีในช่วงเริ่มก่อตั้งนั้น Dr. Ruby L Wilson เป็น Coordinator ต้องดูแลทั้งการศึกษาและงานบริการ การศึกษาจะต้องมีอาจารย์พยาบาล Teaching Associated หรือ TA รับผิดชอบด้านการศึกษาเป็นภารกิจหลัก มีภารกิจรองคือ การบริการในโอพีดีและหอผู้ป่วย ส่วนทางด้านบริการจะเป็น Clinical Associated หรือ CLA (หัวหน้าตึกทั่ว ๆ ไป) รับผิดชอบทางด้านบริการคนไข้ในหอผู้ป่วย แต่ ภารกิจรอง คือ บริการด้านการศึกษา ทั้ง 2 ตำแหน่งนี้ Dr. Ruby L Wilson เรียกว่า Do Function ทำงานร่วมกันด้วยดีเป็นคู่ ๆ นักศึกษารับรู้ว่าบนหอผู้ป่วยมีอาจารย์สองประเภท คือ TA และ CLA ซึ่งจะช่วยกันดูแลนักศึกษา

 

การเตรียมหลักสูตรพยาบาลช่วงแรก

                           เมื่อคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเริ่มเปิดรับนักศึกษาพยาบาล รองศาสตราจารย์สุนทรี ภานุทัต ต้องปฏิบัติหน้าที่ทั้งวางแผนการสอนและสำรวจพื้นที่ก่อสร้างคณะฯ ซึ่งตั้งอยู่ข้างพระราชวังจิตรลดา เมื่อเริ่มก่อสร้างเป็นอาคารแล้วทั้งอาจารย์แพทย์และอาจารย์พยาบาลต้องใส่หมวกนิรภัยเพื่อเดินสำรวจพื้นที่ในอาคารอย่างจริงจังและจะต้องปรึกษากัน แม้ว่าจะมีการออกแบบไว้แล้วแต่สามารถปรับได้ตามเหตุผลที่เหมาะสม เช่น การออกแบบบริเวณที่ตั้งเคาน์เตอร์บริการในหอผู้ป่วย ห้องเก็บ Stock เครื่องมือและห้องเก็บวัสดุงานบ้าน เป็นต้น โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี รับฟังอย่างให้เกียรติ มีอารมณ์ขัน ทำงานแล้วสนุก

 

บรรยากาศการช่วงแรก

                           บรรยากาศช่วงแรกของการเปิดบริการของโรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นบรรยากาศที่มีงานมากทุกคนทำงานอย่างเอาจริง ในการวางแผนการสอนต้องทำสไลด์ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ เพราะ Dr. Ruby Wilson ต้องอ่านเป็นภาษาอังกฤษ ท่านมีความรู้มากในเรื่องการบริการการศึกษาจึงผลักดันให้โรงพยาบาลรามาธิบดีได้มาตรฐานด้านนี้ ช่วงนั้นใครจะไปทำงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกาจะต้องฝึกงานที่โรงพยาบาลรามาธิบดีก่อนเพราะจะได้ประสบการณ์ที่เป็นเทคนิคพื้นฐานความรู้ต่าง ๆ คณะฯ รับนักศึกษาพยาบาลไม่มาก แต่ในรุ่นแรก ๆ ที่เรียนที่ศิริราชนั้นมีมาก เพราะเป็น 2 กลุ่ม มีทีมศิริราชและทีมรามาธิบดีและมีอาจารย์สองทีมเช่นเดียวกัน โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีรับนักศึกษาไม่ถึง 100 คน เป็นหลักสูตรอนุปริญญาด้วย คือผู้ที่เรียนแล้วเกรดไม่ถึงตามที่กำหนดจะได้อนุปริญญาไปก่อน สมัยก่อนนักศึกษารุ่นแรกต้องใช้ภาษาอังกฤษมากและเก่งภาษาอังกฤษ (เพราะ Dr. Ruby L. Wilson และอาจารย์ชาวต่างประเทศจากคณะวิทยาศาสตร์พูดภาษาอังกฤษ) และมีความรู้แน่นเรื่องพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ซึ่งอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์มาสอนเช่นกัน

 

ที่มาของหน่วย Ambulatory Care Nursing Service

                            รองศาสตราจารย์สุนทรี ภานุทัต เล่าว่าช่วงนั้นมี คนไข้มาโรงพยาบาลรามาธิบดีจำนวนมากเพราะทันสมัยเทียบเคียงกับต่างประเทศ ตามที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี ได้วางแผนมาตรฐานโดยกำหนดไว้ที่จำนวนเตียง 600 เตียงในช่วงแรก แพทย์ต้องตรวจคนไข้อย่างละเอียด มีห้องแลบครบถ้วน ต้องทำการรักษาอย่างดีมีมาตรฐานจริง ๆ คนไข้จึงนิยมมารักษาเพราะแพทย์ พยาบาล ทำงานอย่างจริงจัง และก็ใส่ใจคนไข้ได้มาตรฐาน มีการบอกกันต่อ ๆ ถึงกับยอมรอฟังเตียงได้นาน 5 - 10 รอบ จากการจำกัดจำนวนเตียงจึงมีการร้องเรียนว่าปฏิเสธคนไข้ ไม่มีเตียงและมีการเก็บค่าเวชระเบียน 5 บาท (เริ่มมีที่รามาธิบดีเป็นแห่งแรก ซึ่งเวชระเบียนนี้ไม่ใช่การ์ดแผ่นเดียว มีประวัติครบถ้วน สวยหรู มีบัตรผู้ป่วยทำจากกระดาษอย่างดี คนไข้มารอตั้งแต่ตี 3 เพื่อจะมาแย่งกันทำบัตรผู้ป่วยเพราะจะปิดทำบัตรเมื่อครบจำนวน บางคนมาจากต่างจังหวัดตี 3 ใช้รองเท้าของคิววางเป็นแถว) ช่วงหลังได้เพิ่มจำนวนเตียงเป็นพันเตียง

                            เมื่อ พ.ศ. 2515 ช่วงที่รองศาสตราจารย์สุนทรี ภานุทัต ปฏิบัติหน้าที่ ณ การพยาบาลกลุ่มกุมารเวชศาสตร์นั้น พบว่า มีคนไข้และคนไข้รอเตียงจำนวนมาก อาจารย์สังเกตุว่าคนไข้มา Admit ด้วยโรคเดิมซ้ำ ๆ หลายรอบ อาจารย์จึงเน้นการสื่อสารด้านสาธารณสุขในหอผู้ป่วยกุมารเวชศาสตร์และหน่วยตรวจผู้ป่วยนอกกุมารเวชศาสตร์ คือ การสอนคนไข้ใน Ward การดูแลคนไข้ก่อนกลับบ้าน สอนคุณแม่ให้ดูแลลูก สอนคนเลี้ยง ปู ย่าตา ยาย ให้ดูแลเด็ก โดยเริ่มที่แผนกกุมารฯ ผลการดำเนินงานเป็นระยะเวลา 1 ปี ปรากฏว่าคนไข้ Admit ลดลง ผู้ป่วยและครอบครัวมีความรู้เรื่องโรคและทักษะการดูแลที่ถูกต้อง อาจารย์เดือนเพ็ญ ชาติกานนท์เสนอให้ขยายงานเช่นนี้ไปทั้งโรงพยาบาล ในปี พ.ศ. 2517 รองศาสตราจารย์สุนทรี ภานุทัต ได้จัดตั้งหน่วยงาน Ambulatory Care Services เพื่อติดตามเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน โดยมีทีมพยาบาลเป็นแกนนำและผลักดันการดำเนินงานให้ขยายขอบเขตไปยังทุกหอผู้ป่วยในโรงพยาบาล มีทีมสุขภาพอื่น ๆ ให้การรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเป็นผู้รับผิดชอบการดูแลร่วมกัน และมีบริการนี้ทุก ๆ งานการพยาบาล มีการสอนคนไข้ปกติ สอนคนไข้ยากจนถึงบ้าน บางครั้งต้องเดินทางในสลัมรวมทั้งดงเฮโรอีน แต่ไม่เคยมีปัญหา ไม่เคยถูกทำร้าย ใช้ทุกเครือข่าย ทุกคนมีความทุ่มเท ทำงานจริงจัง

                            ในปี พ.ศ. 2520 ได้เปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็น “งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ” หรือ “Ambulatory Care Nursing Service” ลักษณะการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยที่บ้านเป็นรูปแบบของ Hospital - Based Home Health Care ซึ่งงานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพประกอบด้วย 2 หน่วย คือ หน่วยประสานงานระหว่างโรงพยาบาลและบ้าน และหน่วยแนะแนวและปรึกษาปัญหาสุขภาพ ซึ่งมี รองศาสตราจารย์สุนทรี ภานุทัต เป็นหัวหน้างานฯ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชนิตา มณีวรรณ เป็นหัวหน้าหน่วยประสานงานระหว่างโรงพยาบาลและบ้าน และ รองศาสตราจารย์ประไพ บุรินทรามาศ เป็นหัวหน้าหน่วยแนะแนวและปรึกษาปัญหาสุขภาพ ทำงานโดย Health Consulting Committee จัดหาเครื่องฉายวีดีโอ เครื่องฉายสไลด์ จอ โปสเตอร์ สิ่งพิมพ์ สลิปแลปแจกคนไข้ วางแผนกัน แก้ปัญหากัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

                            มีการประสานงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงาน หน่วยจัดหางาน โรงเรียน และบริษัทห้างร้าน มีส่วนร่วมเข้าถึงชุมชนตามที่คณะฯ ได้เริ่มต้นให้นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล ต้องออกไปชุมชนด้วยกัน วางแผนร่วมกัน เน้นย้ำการพยาบาลองค์รวม โดยพยาบาลทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ใช่ดูแลเฉพาะฉีดยาทำแผล หรือทำ Treatment เท่านั้น