ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พันเอกพิเศษ แพทย์หญิงถนอมศรี ศรีชัยกุล

 

สรุปจาก Oral History ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พันเอกพิเศษ แพทย์หญิงถนอมศรี ศรีชัยกุล

 

การทำงานในที่ต่างๆ

                            ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พันเอกพิเศษ แพทย์หญิงถนอมศรี ศรีชัยกุลทำงานที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นเวลา 12 ปี ช่วงนั้นพบว่าอาจารย์ลาออกจากคณะฯกันมาก (อาจารย์มีสาเหตุหนึ่ง) เพื่อนอาจารย์ที่สนิทลาออกไปกันหมด เริ่มตั้งแต่ อาจารย์ นายแพทย์ ม.ร.ว.พัชรีสาณ ชุมพล พันโท นายแพทย์ สมพนธ์ บุณยคุปต์ (หัวหน้าหน่วยสาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ พ.ศ.2510 -2518 ต่อมาเป็น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์เกรียงไกร อัครวงศ์ พ.ศ. 2521 - 2541) พันโท นายแพทย์ สมพนธ์ บุณยคุปต์ เป็นเพื่อนร่วมชั้นซึ่งสนิทกันมาก ลาออกไปทำงานที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ์ ช่วงนั้นโรงพยาบาลวิชัยยุทธ์กำลังขยายกิจการด้วยอาจารย์เลยไปทำงานที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ์ แต่อาจารย์ก็ยังเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและวิทยาลัยแพทย์พระมงกุฎเกล้า โดยช่วยวางหลักสูตรให้วิทยาลัยแพทย์พระมงกุฎเกล้าและดูแลคนไข้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง รวมทั้งช่วยตั้งหน่วยโลหิตวิทยาด้วย อาจารย์ทำงานที่วิทยาลัยแพทย์พระมงกุฎเกล้าเป็นเวลาประมาณ 10 ปี พร้อมทั้งบรรยายให้สถาบันการแพทย์หลายแห่ง คือ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ อาจารย์กลับมาทำงานที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ์อีกครั้ง ในช่วง 3 ปีที่อยู่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ์ พบว่าผู้บริหารโรงพยาบาลให้สิทธิ์แพทย์ดี อาจารย์ทำงานหนักและเป็นห่วงคนไข้มากเมื่อกลับบ้านจะโทรศัพท์ตรวจสอบอาการคนไข้กับพยาบาลทุก 2 ชั่วโมง อาจารย์ชอบช่วยไม่ให้คนไข้สิ้นเปลืองค่ารักษาแม้ว่าจะมีเศรษฐานะที่สามารถจ่ายค่ารักษาได้ก็ตาม ถ้าคนไข้ไม่สามารถอยู่รักษาต่อที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ์ได้ อาจารย์จะช่วยติดต่อลูกศิษย์ที่วิทยาลัยแพทย์พระมงกุฎเกล้า รวมถึงเพื่อนที่สนิทกันให้ช่วยเหลือรับย้ายไปรักษาต่อ

 

การวางตัวของแพทย์ และ การต่อสู้ในการหาพื้นที่และเครื่องมือทางการแพทย์

                           ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พันเอกพิเศษ แพทย์หญิงถนอมศรี ศรีชัยกุล มีความเห็นในเรื่อง ปัญหาสิทธิผู้ป่วยและการประพฤติการปฏิบัติของแพทย์ ซึ่งบางรายอาจจะไม่ถูกต้องนัก ทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ของแพทย์กับผู้ป่วยมากขึ้นตามลำดับและเกิดการฟ้องร้องนั้น คิดว่ามาจากสาเหตุ 2 ประการ ประการที่ 1 คือ การรักษาอิงระบบของโรงเรียนแพทย์ที่มีระบบเป็นตัวตั้ง คนไข้ต้องทำตามระบบ เกิดความล่าช้าคนไข้ทนไม่ไหวเพราะไม่ได้คำตอบดังนั้นความสัมพันธ์จึงหายไปเกิดการฟ้องร้องได้ง่าย ประการที่ 2 วัตถุนิยม โดยต้องยอมรับว่าแพทย์ก็เป็นปุตุชนคนหนึ่ง ซึ่งมีการแข่งขันกันทุกรูปแบบรวมถึงการกดดันจากครอบครัวและสังคม คิดว่าทางออกที่ดีก็น่าจะใช้แนวคิด เศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต

                           อาจารย์สนใจเรื่องการรักษาโรคไข้มาเลเรียก่อนที่จะเข้าทำงานที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี อาจารย์ได้ทุนและไปศึกษาเพิ่มพูนความรู้จาก University of Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 1 ปี และ 4 เดือนก่อนที่จะกลับประเทศไทยอาจารย์ได้ไปเพิ่มพูนความรู้ด้านโรคไข้มาเลเรีย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ณัฐ ภมรประวัติ ได้มอบหมายให้อาจารย์ปรับปรุงหลักสูตรด้านโลหิตวิทยา ในคณะฯ ดังนั้นอาจารย์จึงไปฟังบรรยายที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียและอีกหลายแห่ง รวมถึงการสัมภาษณ์และพบบุคคลผู้เชี่ยวชาญ

                           ในด้านการวิจัย อาจารย์ทำงานตามแนวคิดของคณะฯ ที่ต้องการความเป็นเลิศทางด้านวิชาการทางด้านวิชาการ มีการผลิตผลงานที่ดีมารับใช้สังคม และมีงานวิจัย ได้นั่งทำวิจัยที่พื้นที่เล็กๆ ในสำนักวิจัย (บริเวณสำนักวิจัย ชั้น 6 ชั้น 7 ชั้น 8 ของ อาคารหลัก เพราะมีปัญหาเรื่องพื้นที่ไม่พอเพียงที่จะจัดทำสำนักงาน) และได้จัดหาอุปกรณ์เพื่อการวิจัยรวมทั้งกล้องจุลทรรศน์แบบ 2 ตา และการนำเทคนิคใหม่ของการฉายสไลด์จากที่ได้ไปศึกษาในต่างประเทศมาดัดแปลงวิธีสอนเป็นการส่งเสริมให้เป็น Active Learning

                            ในด้านการเรียนการสอนและการบริการผู้ป่วย สมัยแรกของการเปิดบริการวอร์ดอายุรศาสตร์มีแค่ 8 เตียง และไม่มีออกซิเจน ทำให้ยังไม่คล่องตัวในการให้บริการผู้ป่วย อาจารย์ต้องทำหัตถการเอง ต่อมามีการปรับปรุงการบริการจนดีขึ้นตามลำดับ ที่สำคัญมีการช่วยเหลือให้งานบริการสำเร็จจากพยาบาลวิชาชีพชาวต่างประเทศและพยาบาลวิชาชีพทางอายุรศาสตร์ชาวไทยที่เก่งมาก คือ ศาสตราจารย์ ดร. สมจิตร หนุเจริญกุล และ รองศาสตราจารย์ประคอง อินทรสมบัติ

 

ขอเพิ่มเติมบทบาทที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษาแพทย์

                           ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พันเอกพิเศษ แพทย์หญิงถนอมศรี ศรีชัยกุล ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมบทบาทที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษาแพทย์ว่า อาจารย์มีความตั้งใจว่าจะเข้ามาเป็นครูแพทย์ พยายามสอนว่าการเป็นแพทย์นั้นทุกชีวิตมีค่าเท่ากันหมดอย่าปล่อยให้คนไข้เจ็บปวดทรมาน ทุกคนต้องมีอุปสรรคในชีวิตการงานเสมอเมื่อทำงานที่ใดต้องทำให้ดีที่สุด พยายามที่จะปลูกฝังให้นักเรียนแพทย์มีความมานะภาคเพียรเพื่อเป็นแพทย์ที่ดี อาจารย์ให้แง่คิดว่าในฐานะเป็นแพทย์/พยาบาลเราต้องให้ความใส่ใจและให้ความสะดวกสบายต่อคนไข้จนถึงวาระสุดท้ายของคนไข้ มีน้ำใจมีความเมตตากรุณา

                           อาจารย์มักให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาแพทย์ 4 รุ่นแรกอย่างเป็นกันเองในทุกเรื่อง รวมถึงเรื่องการเมือง ในช่วง วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 วันมหาวิปโยค ทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ส่งยาไปช่วยในเหตุการณ์นี้ในที่สุดหลังจากสงบสุขแล้วนักศึกษาได้รับชัยชนะ หลังจากนั้นนักศึกษาก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้น ๆ ระยะนั้นอาจารย์ในรามาธิบดีส่วนหนึ่งไม่ออกความคิดเห็นเพราะไม่ประสงค์ให้มีการเดินกระบวนร้องเรียนและทิ้งการเรียนการสอนไปซึ่งเป็นสิ่งซึ่งอาจารย์รับไม่ได้ ในช่วงนั้นอาจารย์ได้ยอมรับหน้าที่ประธานสภาอาจารย์ งานแรกคือพยายามที่จะสร้างให้สายสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์และลูกศิษย์กลับมา ต่อมาเกิดเหตุการณ์ครั้งสำคัญของประเทศไทยอีกครั้งในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 โดยมีการประท้วงและในที่สุดนักศึกษาจำนวนมากของทุกมหาวิทยาลัยรวมทั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ถูกตำรวจจับไป หลังจากเหตุการณ์นี้สิ้นสุดลง คณะฯ ได้ทำบุญเลี้ยงพระต้อนรับลูกศิษย์ที่ติดคุกให้กลับมาเรียนตามปกติ

 

การเป็นนักศึกษาแพทย์ก่อนจะมาเป็นแพทย์ประจำบ้าน

                           ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พันเอกพิเศษ แพทย์หญิงถนอมศรี ศรีชัยกุล เป็นนักอ่านหนังสือทุกประเภทตั้งแต่อายุ 13 ปี และสนใจเรื่องประวัติศาสตร์มากแต่ตัดสินใจเรียนแพทย์ตามที่คุณพ่อประสงค์ให้เรียน ในช่วงที่เป็นนักศึกษาแพทย์ของคณะแพทย์ศิริราชพยาบาลนั้นบรรยากาศภายในคณะฯ อบอวลด้วยเรื่องของสมเด็จพระราชบิดา ทุกปีนักเรียนแพทย์จะร่วมประกวดเรียงความเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระราชบิดา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงภัทรพร อิศรางกูร ณ อยุธยา มีความสามารถมากจึงได้รับรางวัลที่ 1

                           อาจารย์ได้ปฏิบัติหน้าที่แพทย์ที่ดี เป็นเพราะจากผลพวงการอ่านหนังสือที่มีเนื้อหาช่วยเหลือคนจน ให้เมตตาต่อคนยากจน และการสอนจากคุณพ่อให้พึ่งพาตัวเอง ไม่เบียดเบียน ไม่เป็นหนี้ และไม่เอาของคนอื่น นอกจากนี้อาจารย์ นายแพทย์ประเสริฐ กังสดาล ซึ่งนักเรียนแพทย์เรียกสั้น ๆ ว่า PK นั้นได้สอนเรื่องจรรยาบรรณแพทย์ทำให้อาจารย์ประทับใจมาก อาจารย์จึงมุ่งมั่นที่จะทำความดี เอื้อเฟื้อต่อเพื่อนมนุษย์และผู้ป่วยโดยทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือคนไข้ที่หวังพึ่งพาแพทย์ผู้รักษา

                           อาจารย์ตระหนักเสมอว่าแพทย์ต้องหาคำตอบด้วยว่าคนไข้เป็นโรคอะไร เมื่อดูแลคนไข้ต้องอธิบายให้ฟังว่าเป็นโรคอะไร มีแนวทางที่จะรักษาอย่างไร จะต้องใช้จ่ายเท่าไร เป็นระยะเวลานานเท่าไร และเอื้อเฟื้อถามคนไข้ถึงเรื่องการเงิน รวมถึงจะต้องเขียนสรุปทุกอย่างที่แพทย์ได้ทำไป รวบรวมหลักฐานต่าง ๆ เพื่อเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่แพทย์คนต่อไปที่มาดูแลรักษาผู้ป่วยต่อ

 

การใช้ชีวิตตอนเป็นแพทย์ประจำบ้าน

                            ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พันเอกพิเศษ แพทย์หญิงถนอมศรี ศรีชัยกุล ตัดสินใจเลือกสาขาวิชาอายุรศาสตร์ เพราะประทับใจอาจารย์สาขานี้ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดี รวมทั้งชอบวิชาโลจิกซึ่งต้องใช้ความคิดมีเหตุมีผล จึงตั้งใจมากที่จะต้องเป็นแพทย์สาขาอายุรศาสตร์ให้ได้ทั้ง ๆ ที่เพื่อน ๆ เตือนว่า สาขาอายุรศาสตร์เรียนหนักและไม่ต้องการผู้หญิงแต่โชคดีที่ได้รับเลือกพร้อมเพื่อนผู้หญิงอีก 1 คน การเรียนในสมัยนั้นต้องเรียนเอง (ในช่วงที่เป็นนักศึกษาแพทย์ต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเองเช่นกัน คือ รับคนไข้ ซักประวัติ ตรวจร่างกาย และวางแผนว่าควรรักษาอย่างไร และมี House เป็นพี่เลี้ยง

                            การเรียนแพทย์ประจำบ้านสมัยนั้นไม่มี Rotate เพราะไม่เป็นหลักสูตรและเมื่อจบแล้วให้เลือกจะเป็นแพทย์ด้านไหน แบ่งช่วงเวลาเป็น 2 ปี ปีแรกเรียก House ( คือ Intern) ปีที่สอง Senior House (คือ Resident) ต้องรับผิดชอบคนไข้จำนวนมากตลอด 24 ชั่วโมง

                            หลังจากที่เรียนจบแพทย์ประจำบ้านแล้วยังไม่ตัดสินใจที่จะไปไหนในขณะที่เพื่อนทุกคนมีจุดมุ่งหมายที่จะไป ในที่สุดอาจารย์จึงตัดสินใจไปทำงานในแผนกอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลภูมิพล ตามคำชวนของพันโท นายแพทย์สมพนธ์ บุญยคุปต์ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิท

 

ชีวิตการทำงาน

                            หลังจากจบการศึกษาศาสตราจารย์เกียรติคุณ พันเอกพิเศษ แพทย์หญิงถนอมศรี ศรีชัยกุลเลือกรับราชการโดยไปทำงานที่แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลภูมิพลซึ่งเป็นโรงพยาบาลใหม่ ต่อมาได้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศที่ University of Pennsylvania เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งที่มหาวิทยาลัยนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ Basic Science และ Clinical Science ช่วงที่ไปฝึก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น อาจารย์เช่าบ้านอยู่กับศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง คุณสาคร ธนมิตต์ และอดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลเด็ก อาจารย์ไปทำวิจัยเป็นเวลา 1 ปี รู้สึกไม่ค่อยประทับใจในการฝึกเพราะเป็นโรงพยาบาลเอกชน ต่อมาภายหลังได้พบกับ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ทูแมน ซึ่งเป็น Hematologist ที่มีความสามารถมากทำให้อาจารย์ประทับใจและเริ่มชอบด้านโลหิตวิทยา

 

จุดเริ่มต้นจากหมอจีไอไปเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา

                            ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พันเอกพิเศษ แพทย์หญิงถนอมศรี ศรีชัยกุล เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านโลหิตวิทยาระดับประเทศและนานาชาติ มีจุดหักเหจากเดิมอาจารย์เป็นแพทย์ประจำบ้านด้านระบบทางเดินอาหาร โดยเริ่มจากศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์วีกิจ วีรานุวัตติ์ ได้ให้ข้อเสียในการเลือกสาขาที่จะฝึก ณ ต่างประเทศ ในด้านระบบทางเดินอาหารตามที่อาจารย์ประสงค์จะไปฝึกและชี้แนะข้อดีของการฝึกในด้านโลหิตวิทยา ดังนั้นอาจารย์จึงตัดสินใจที่จะฝึกอบรมด้านโลหิตวิทยา โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์วีกิจ วีรานุวัตติ์ ได้เขียนจดหมายฝากอาจารย์กับศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ทูแมน มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นเพื่อน ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ทูแมน มีกฎ ระเบียบ เป็นผู้มีความสามารถด้านโลหิตวิทยา ทำให้ประทับใจและมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนมาเป็นแพทย์ด้านโลหิตวิทยา