ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วิสุทธิพันธ์

สรุปจาก Oral History ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วิสุทธิพันธ์

 

เข้ามาทำงานที่รามาธิบดีได้อย่างไร

                            ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วิสุทธิพันธ์ จบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อ พ.ศ.2507 ได้ไปฝึกกุมารเวชศาสตร์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และใน พ.ศ. 2510 ได้ฝึกด้านระบบประสาทในกุมารเวชศาสตร์ ที่ New York ต่ออีก 3 ปี รวมเป็น 6 ปี ในขณะนั้นศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงภัทรพร อิศรางกูร ณ อยุธยา และอีกหลาย ๆ ท่าน เดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาจึงชวนให้มาทำงานที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีซึ่งเป็นคณะแพทย์ใหม่และตนเองมีประสบการณ์ที่ได้ฝึกมาจึงตัดสินใจมาและเป็นการตัดสินใจที่ถูกเพราะศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี และศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง หม่อมราชวงศ์จันทร์นิวัฒน์ เกษมสันค์ ให้โอกาสได้ทำงานอย่างเต็มที่

 

หลักการบริหารงานที่นำไปสู่ความสำเร็จ

                           งานที่ปฏิบัติเป็นประจำของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วิสุทธิพันธ์ คือการดูแลรักษาผู้ป่วยและนำไปสู่ความสำเร็จได้เพราะเกิดจากความมุ่งมั่น ยิ่งเห็นความสำเร็จยิ่งเกิดแรงบันดาลใจ อาจารย์มีความสนใจการดูแลรักษาผู้ป่วยเด็ก ในด้านระบบประสาทในกุมารเวชศาสตร์ และด้านวัณโรคปอดในกุมารเวชศาสตร์

                           ในด้านระบบประสาทในกุมารเวชศาสตร์ นั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่อาจารย์สนใจมากโดยพยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้คนไข้ได้รับการดูแลทัดเทียมเท่ากับต่างประเทศ โดยพัฒนาทั้งการช่วยเหลือด้วยการเพิ่มการตรวจวินิจฉัยและให้การดูแลรักษาให้ถูกต้องมากที่สุด แต่อุบัติการณ์ของโรคมีหลากหลาย จึงต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อประโยชน์ทั้งการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ถูกต้องและที่สำคัญคือ การสอน อาจารย์จะซักประวัติผู้ป่วยเอง ดูแลรายละเอียด ติดตามคนไข้ในวอร์ดอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างถูกต้อง อาจารย์ประสงค์ให้มีการกระจายการดูแลรักษาไปต่างจังหวัด โดยการสื่อสารต่อจากผู้ป่วยที่รักษาหายและกลับไปต่างจังหวัด จากการแนะนำจากผู้ป่วยเองและจากแพทย์ที่ส่งคนไข้มา แต่ก็ยังต้องไปช่วยสอนทั่วประเทศและเพิ่มการฝึกอบรมให้กุมารแพทย์มีประสบการณ์ความรู้พื้นฐานทางระบบประสาทให้มากขึ้น

                           ส่วนในด้านวัณโรคปอดในกุมารเวชศาสตร์ นั้น อาจารย์เล่าว่าจุดเริ่มต้นที่ผลักดันให้ทำวิจัยมาต่อเนื่องมานานคือ การดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กซึ่งเป็นลูกของเพื่อน โดยพบว่ามีอาการหนักและมีพยาธิสภาพของโรคที่ค้นคว้ายาก ในที่สุดอาจารย์ดูแลรักษาให้ผู้ป่วยนั้นมีอาการดีเป็นปกติ มีชีวิตเติบโตจนเรียนจบมหาวิทยาลัยได้

                           อาจารย์เป็นผู้ที่บุกเบิกการใช้ยาและวัคซีนในการรักษาเยื่อในสมองอักเสบและวัณโรคปอดเริ่มต้นของเมืองไทยครั้งแรก ในสมัยนั้นนับว่าเป็นเรื่องใหม่ แต่อาจารย์ทำให้สามารถผลักดันการดูแลรักษาได้ อีกทั้งมีการแลกเปลี่ยนทั่วระดับเอเชียและระดับโลกทำให้สามารถเรียนรู้ความก้าวหน้าทางวิชาการได้มากขึ้น

 

การบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ในคณะฯ

                           อาจารย์ปฏิบัติงานทั้งทางคลินิกและทางบริหาร ในทางคลินิกนั้นอาจารย์ได้รับมอบหมายให้ดูแลรักษาคนไข้ในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีและในกรุงเทพ ฯ รวมทั้งรับให้คำปรึกษาทั่วประเทศ สำหรับส่วนการบริหารนั้น อาจารย์ใช้เวลาประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ในงานบริหารในระดับหน่วยไปถึงระดับโลก โดยเริ่มต้นในระดับหน่วยของภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ต่อมาเป็นหัวหน้าภาคฯ และในที่สุดได้รับตำแหน่งเป็นผู้ช่วยคณบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

                           อาจารย์เล่าว่าการปฏิบัติงานนั้นจะเน้นทางคลินิกมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงต้องลดบทบาทเรื่องการบริหารให้เหลือน้อยลง แต่ก็ยังให้ความช่วยเหลืองานภายนอกคณะ ฯ คือ ในประเทศไทยนั้น อาจารย์เข้าร่วมในการบริหารราชวิทยาลัยสมาคมกุมารเวชศาสตร์และนายกของสมาคมประสาทวิทยา ในการบริหารระดับนานาชาตินั้น อาจารย์เป็นผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่งเป็นนายกของสมาคมThe Asian and Oceanian Child Neurology Association ที่ประเทศใต้หวัน รวมทั้งเป็นกรรมการชุดแรกของThe international of Child Neurology Association ซึ่งเริ่มก่อตั้งที่ประเทศเบลเยี่ยม

 

ความภาคภูมิใจในการทำงาน

                            อาจารย์ภูมิใจและผูกพันมากในการได้ดูแลรักษาคนไข้ซึ่งมีจำนวนมากหลายโรค แม้แต่โรคยาก ๆ รักษาที่อื่นไม่ได้ก็ดูแลรักษาให้หายได้ทำให้รู้สึกมีกำลังใจและมีแรงบันดาลใจ อาจารย์มีความประสงค์ให้แพทย์รุ่นใหม่ ๆ ได้คำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย อย่างน้อยก็ควรมีมนุษยธรรมและจริยธรรม

 

คำแนะนำในการดำเนินงานหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี

                           ในส่วนตัวของอาจารย์คิดว่าการดำเนินงานหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดีมีประโยชน์ เป็นหลักฐานสำคัญสำหรับคนรุ่นหลังที่จะได้รู้ เช่น ความยากลำบากของอาจารย์ที่เริ่มต้นสร้างคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ทำไมคณะ ฯ จึงได้มีชื่อเสียงได้ขนาดนี้ในปัจจุบัน เป็นต้น ประวัติศาสตร์จะเป็นเครื่องเตือนใจว่าบุคคลในอดีตของคณะฯ แต่ละท่านล้วนได้ทำประโยชน์ที่สำคัญ ๆ จำนวนมากมายให้แก่คณะฯ และประเทศชาติ

                           ในการเตรียมการจัดทำหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดีนั้น การใช้ high-technology จะช่วยได้ดีและจะช่วยทำให้เป็นแหล่งข้อมูลประวัติศาสตร์ของคณะ ฯ และประวัติศาสตร์ของโรคต่าง ๆ ที่เป็นผลงานการค้นคว้าทดลองและเผยแพร่ของบุคลากรของคณะ ฯ ที่สะดวกรวดเร็วต่อการค้นคว้า อาจารย์ขอให้กรรมการทั้งหลายที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยกันดูแลพัฒนาหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดีให้ทันสมัยต่อไป

 

ข้อแนะนำสำหรับรามาธิบดีในปัจจุบัน

                           อาจารย์มีข้อแนะนำที่ดี ๆ สำหรับชาวรามาธิบดีในปัจจุบัน 3 ประการ คือ ประการแรกขอให้ทุกคนมุ่งมั่นทำตามความสามารถของตัวเองให้ดีที่สุดมีจิตสำนึกที่ดีกับคนไข้ ประการที่สอง อาจารย์ของคณะ ฯ ควรมีความพยายามในด้านการศึกษา วิจัย เผยแพร่ความรู้ทางวิชาการอย่างต่อเนื่องและถูกต้องให้สมกับที่เป็นอาจารย์ในโรงเรียนแพทย์จะได้นำผลจากการศึกษาของเราเป็นพื้นฐานในการสอน ประการที่สาม คือในการทำงานร่วมกันควรมีความเสียสละมองภาพรวมทั้งหมดเพื่อให้เกิดความสำเร็จ คณะ ฯ จะมีชื่อเสียงได้ ต้องเริ่มตั้งแต่จุดเล็กที่ดี ๆ และขยายไป ทำให้ภาพรวมของคณะฯ เป็นสิ่งที่รู้จักทั่วไป อาจารย์หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุก ๆ คน ที่มาอยู่ในคณะ ฯ คงจะมีจิตสำนึกที่ดีต่อคณะฯ รวมถึงมหาวิทยาลัยมหิดลด้วย