ประตูสองบาน โดยท่าน ว.วชิรเมธี

ประตูสองบาน
เรื่องดีๆ โดยธรรมะของท่าน ว.วชิรเมธี
 
 
      คำว่า ' พอดี '   คือ ถ้า ' พอ ' แล้วจะ ' ดี ' รู้จัก ' พอ 'จะมีชีวิตอย่างมีความสุข
 
      เรื่อง...ประตูสองบาน
 
      ประตูมีหลายแบบ
      ความทุกข์และปัญหาก็มีหลายแบบเช่นกัน
 
      บางครั้งเราใช้ชีวิตแบบดึง
      ทั้งที่ประตูบอกว่าผลัก
 
      และใช้ชีวิตแบบผลัก
      ทั้งที่ประตูบอกให้เลื่อน
 
      ประตูเปิดไม่ออก ปัญหาผลักไม่ออก
      ไม่ใช่เป็นเพราะปัญหาแก้ไม่ได้ หรือประตูเปิดไม่ได้
 
      หากแต่เป็นที่ตัวเราไม่เคยใช้ 'ความคิด'
      เพื่อค้นหาวิธีการเปิดประตูอย่างถูกต้องเลย
 
      ใครที่ไม่ได้ไปนั่งฟังการบรรยายธรรมะโดยท่าน ว.วชิรเมธี   มีพี่ๆ
ที่รู้จักไปนั่งฟังมา   ท่านได้ให้พร 4 ข้อ ดังนี้
 
      1. อย่าเป็นนักจับผิด
      คนที่คอยจับผิดคนอื่น แสดงว่า หลงตัวเองว่าเป็นคนดีกว่าคนอื่น
ไม่เห็นข้อบกพร่องของตนเอง ' กิเลสฟูท่วมหัว ยังไม่รู้จักตัวอีก '
      คนที่ชอบจับผิด จิตใจจะหม่นหมอง ไม่มีโอกาส ' จิตประภัสสร ' ฉะนั้น จงมองคน
มองโลกในแง่ดี ' แม้ในสิ่งที่เป็นทุกข์ ถ้ามองเป็น ก็เป็นสุข '
 
 
      2. อย่ามัวแต่คิดริษยา
      ' แข่งกันดี ไม่ดีสักคน ผลัดกันดี ได้ดีทุกคน '
      คนเราต้องมีพรหมวิหาร 4 คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
      คนที่เราริษยาเป็นการส่วนตัว มีชื่อว่า ' เจ้ากรรมนายเวร ' ถ้าเขาสุขเราจะทุกข์   
ฉะนั้น เราต้องถอดถอนความริษยาออกจากใจเรา 
เพราะไฟริษยา เป็น ' ไฟสุมขอน ' ( ไฟเย็น) เราริษยา 1คน เราก็มีทุกข์ 1 ก้อน
      เราสามารถถอดถอนความริษยาออกจากใจเราโดยใช้วิธี ' แผ่เมตตา ' หรือ ซื้อโคมมา
แล้วเขียนชื่อคนที่เราริษยา   แล้วปล่อยให้ลอยไป
 
 
      3. อย่าเสียเวลากับความหลัง
      90% ของคนที่ทุกข์ เกิดจากการย้ำคิดย้ำทำ ' ปล่อยไม่ลง ปลงไม่เป็น '
      มนุษย์ที่สลัดความหลังไม่ออก
เหมือนมนุษย์ที่เดินขึ้นเขาพร้อมแบกเครื่องเคราต่างๆ ไว้ที่หลังขึ้นไปด้วย
      ความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว จงปล่อยมันซะ 
' อย่าปล่อยให้คมมีดแห่งอดีตมากรีดปัจจุบัน '
      ' อยู่กับปัจจุบันให้เป็น '   ให้กายอยู่กับจิต   จิตอยู่กับกาย 
คือมี ' สติ ' กำกับตลอดเวลา
 
 
      4. อย่าพังเพราะไม่รู้จักพอ
      ' ตัณหา ' ที่มีปัญหา คือ ความโลภ ความอยากที่เกินพอดี
เหมือนทะเลไม่เคยอิ่มด้วยน้ำ   ไฟไม่เคยอิ่มด้วยเชื้อ ธรรมชาติของตัณหา 
คือ ' ยิ่งเติมยิ่งไม่เต็ม ' ทุกอย่างต้องดูคุณค่าที่แท้ ไม่ใช่ คุณค่าเทียม   
เช่น คุณค่าที่แท้ของนาฬิกา คืออะไร คือ ไว้ดูเวลาไม่ใช่มีไว้ใส่เพื่อความโก้หรู
      คุณค่าที่แท้ของโทรศัพท์มือถือ คืออะไร คือไว้สื่อสาร แต่องค์ประกอบอื่นๆ
ที่เสริมมาไม่ใช่คุณค่าที่แท้ของโทรศัพท์
      เราต้องถามตัวเองว่า ' เกิดมาทำไม ' '
คุณค่าที่แท้จริงของการเกิดมาเป็นมนุษย์อยู่ตรงไหน 
' ตามหา ' แก่น 'ของชีวิตให้เจอ
      ' คำว่า ' พอดี '   คือ ถ้า ' พอ ' แล้วจะ ' ดี ' รู้จัก ' พอ '
จะมีชีวิตอย่างมีความสุข '