ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีไทย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ก่อตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยศาตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา ผู้มีความรู้ความสามารถในด้านดนตรีไทย การขับร้อง และชื่นชอบการฟังเพลงต่างๆ เมื่อมีบุคลากรในสังกัดคณะแพทยศาตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลเพิ่มมากขึ้น อาจารย์นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล จึงเชิญชวนบุคลากรทุกระดับของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในยุคนั้นรวมตัวกันทำกิจกรรมนอกเวลาทำงาน เป็นการส่งเสริมความสนิทสนม ความคุ้นเคย พัฒนาไปสู่ความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกันทำงานอย่างมีความสุข ด้วยการรวมตัวกันเล่นดนตรีไทย โดยในระยะแรก มีผู้บริหารของคณะฯ บริจาคเครื่องดนตรีบางส่วนและบุคลากรจัดหามาเองด้วย จากการรวมตัวกันเล่นดนตรีไทยเป็นงานอดิเรก ก็ได้พัฒนาจนสามารถเป็นวงดนตรีไทยที่สร้างชื่อเสียงให้แก่คณะฯ มาจนถึงทุกวันนี้ (พูนพิศ อมาตยกุล. สัมภาษณ์ วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๔)
ที่ตั้งของชมรมนาฎศิลป์และดนตรีไทย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ชมรมนาฎศิลป์และดนตรีไทย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งอยู่ ณ อาคารหลักในส่วนของหอประชุมอารี วัลยะเสวี ซึ่งมี ๒ ชั้น เดิมชั้นล่าง เป็นห้องประชุมขนาดย่อม ใช้เป็นห้องอเนกประสงค์ ชื่อ ห้องประชุมจงจินต์ รุจิวงศ์ ตามชื่อผู้บริจาค (ปัจจุบันเป็นห้องตรวจผู้ป่วยฯ) ด้านหน้าของหอประชุมอารีฯเป็นห้องโถงกระจก ใช้เป็นที่จัดนิทรรศการและจัดเลี้ยงในสมัยแรก บริเวณนี้มองเห็นทิวทัศน์สวยงามมาก แต่ปัจจุบันมองไปด้านใดก็ ไม่เห็นธรรมชาติที่เขียวชอุ่มเห็นแต่ตึกสูงๆ ไปหมดรอบด้าน ภายในหอประชุมเป็นห้องปรับอากาศทั้งห้อง มีเวทีขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้าใช้สำหรับการเรียนการสอน การประชุม การแสดงต่างๆ ด้านหลังเวทีเป็นบริเวณที่แต่งตัวของผู้แสดงมีชั้นลอย ซึ่งใช้เป็นที่ตั้งของ ชมรมนาฎศิลป์และดนตรีไทย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมีบันใดขึ้นได้จากด้านหลังบริเวณสวน หลังศาลเจ้าพ่อเขตรอุดมศักดิ์และอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ (พูนพิศ อมาตยกุล ๒๕๓๐ : ๔๓)
การบริหารจัดการของอาจารย์นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่คณะฯ และขวัญกำลังใจสำหรับสมาชิกชมรมฯ เป็นอย่างต่อเนื่องด้วยดียิ่ง จึงได้มีการรวมกลุ่มกันฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอทั้งดนตรีและนาฎศิลป์สัปดาห์ละ ๒ วัน ในเวลานอกราชการ คือ วันอังคารและวันพฤหัสบดี ช่วงเวลา ๑๖.๓๐ น. - ๑๙.๓๐ น. แต่ถ้าหากช่วงใดมี “รับงาน” ไว้ ต้องทำการนัดซ้อมเพิ่ม เพื่อให้ส่งผลให้เกิดผลงานที่ดีที่สุด ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ อาจารย์นายแพทย์พูนพิศ ได้ย้ายไปรับราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชนบท (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย” ) มหาวิทยาลัยมหิดล ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม แต่กิจการของชมรมฯ ยังคงดำเนินต่อไปจนทบวงมหาวิทยาลัยซึ่งปัจจุบันนี้คือ คณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบพันธกิจของสถาบัน ๔ ด้านด้วยกัน ซึ่งหนึ่งในพันธกิจนั้น คือ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ทำให้กิจกรรมชมรมนาฎศิลป์และดนตรีไทยได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบในพันธกิจด้านนี้ของคณะฯ โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากคณะฯ และถือเป็นส่วนหนึ่งของภาระงานของบุคลากรมาเป็นลำดับสืบมา ดังนี้




