อันตรายจากสารต้องห้ามในเครื่องสำอาง

                                           

                                            อันตรายจากสารต้องห้ามในเครื่องสำอาง

 

                                                           

 

                ความขาวใสไร้ริ้วรอยของใบหน้านั้นจัดเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือชาย ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุไหน  อีกทั้งเนื่องด้วยเมืองไทยของเราเป็นเมืองที่มีอากาศร้อนและแสงแดดที่แผดเผาไม่ปราณีผิวพรรณทำให้คนไทยส่วนใหญ่นอกจากจะมีสีผิวที่คล้ำแล้วยังประสบปัญหาผิวต่างๆ เช่น ฝ้า กระ และจุดด่างดำ อันเป็นเหตุให้ต้องรีบแก้ไขและทำการรักษาโดยเฉพาะในกลุ่มของผู้หญิงอย่างเราๆ จุดด่างพร้อยบนใบหน้าถือเป็นสิ่งที่ต้องกำจัดออกไปโดยเร็ว

 

                ปัจจุบันมีผู้ผลิตเครื่องสำอางที่ทำให้ผิวขาวออกวางจำหน่ายในท้องตลาดมากมาย ซึ่งเรารู้จักกันในนาม ครีมหน้าขาว (Whitening Products) ครีมหน้าขาวนี้จัดเป็นผลิตภัณฑ์ยอดฮิตในบรรดาสุภาพสตรี เพราะเห็นผลเร็ว ผิวขาวเนียนใสจริง แต่ภายในระยะเวลาอันสั้น ความขาวใสนี้ จะถูกแทนที่ด้วยอาการข้างเคียง คือ รอยไหม้ดำที่ค่อยๆแผ่วงกว้าง รอยแดง ผื่นแพ้ หน้าบาง ติดเชื้อง่าย ซึ่งใช้เวลาในการรักษานานและในบางรายอาจเป็นถาวร เมื่อผู้บริโภคถูกเอาเปรียบและได้รับผลกระทบจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพ อย.จึงเข้ามามีบทบาทในการสืบสวนหาสาเหตุ และได้ประกาศ รายชื่อสารต้องห้ามใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง อันได้แก่ สารปรอท สารไฮโดรควิโนน  สเตียรอยด์ และกรดเรติโนอิก เป็นต้น

                สารต้องห้ามใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง 

 

                              1.       ปรอท(mercury)

 

                                                              

             

              จากการสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์ครีมหน้าขาว-หน้าใส เพื่อตรวจสอบคุณภาพจากหลายหน่วยงานพบว่า จำนวนถึงร้อยละ 20 ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ที่มีสารปรอทในปริมาณสูงปนอยู่ในระดับหลายพันถึงหลายหมื่นส่วนในล้านส่วน ปรอทถูกกำหนดเป็นสารห้ามใช้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสม ใน การผลิตเครื่องสำอาง ลำดับที่ 221 ตามที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่ม125 ตอน พิเศษ 80 ง ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2551 โดยกำหนดชื่อสารห้ามใช้ คือ “ปรอท และสารประกอบของปรอท”

·        กลไกการออกฤทธิ์ให้ผิวหน้าขาว

           สารปรอทที่ใช้อยู่ในรูปของไดวาเลนซ์แคทไอออน [mercuric (II) ion, Hg2+] จะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ทำให้มีการสร้างเม็ดสีเมลานิน (Melanin) ลดลง จึงช่วยให้สีผิวขาวขึ้น นอกจากนี้ปรอทยัง มี ฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ชนิด staphylococcus จึงป้องกันสิวได้ด้วย

·        ผลข้างเคียงจากการใช้

สารประกอบของปรอททำให้เกิดการแพ้ ผื่นแดง ผิวหน้าดำ เกิดฝ้าถาวร ผิวบางลง และเมื่อใช้ติดต่อกัน เป็นเวลานานจะทำให้เกิดพิษสะสมของสารปรอทในผิวหนัง และดูดซึมเข้าสู่กระแส โลหิต ทำให้ตับและไตอักเสบ เกิดโรคโลหิตจาง ทางเดินปัสสาวะอักเสบ อีกทั้งในสตรีมีครรภ์ปรอทจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย และไปสู่ทารก ทำให้เด็กมีสมองพิการและปัญญาอ่อน

                                    

           รูปที่ 1. แสดงอาการข้างเคียงจากการใช้ครีมที่มีส่วนผสมของปรอท ผิวมีลักษณะเป็นรอยด่างขาวและฝ้าถาวร

 

·        วิธีปฎิบัติเมื่อเกิดผลข้างเคียง

                                 หลังใช้หากมีอาการคันหรืออักเสบให้หยุดการใช้และไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อประเมินแนวทางการรักษา

 

                           2.       ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone)

                                                                                                                                             

                                                                           

 

                           ไฮโดรควิโนนออกฤทธิ์โดยการยับยั้งกระบวนการทางเคมีของเซลล์สร้างเม็ดสี(melanocyte) โดยไปยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส(Tyrosinase)ที่ทำหน้าที่ในการสร้างเม็ดสี(melanin) เมื่อปริมาณเม็ดสีลดลง จึงส่งผลให้ผิวขาวขึ้นได้ จากกลไกนี้ทำให้ยาไฮโดรควิโนนถูกนำมาใช้เป็นยาทารักษาผิวที่เป็นฝ้า กระ และจุดด่างดำ                                                                                                                                                                                                                                                                  

                                             รูปที่ 2. แสดงการออกฤทธิ์ของไฮโดรควิโนนในการยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสที่ใช้ในการกระตุ้นการสร้างเม็ดสีผิวในเซล์ลผิวหนัง 

 

                 ไฮโดรควิโนนจัดเป็นยาทาภายนอกใช้เพื่อการรักษาและได้ถูกสั่งห้ามใส่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่วางจำหน่ายทั่วไป เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางมักผสมไฮโดรควิโนนในปริมาณสูง ก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำหนดให้ผสมสารไฮโดรควิโนนในการรักษาฝ้าได้ไม่เกิน 2%)

                       •        ผลข้างเคียงจากการใช้เครื่องสำอางที่มีสารไฮโดรควิโนนเกินขนาด

                           อาการแสบร้อน ตุ่มแดง และภาวะผิวคล้ำมากขึ้นในบริเวณที่ทา หากใช้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดเป็นฝ้าถาวร เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดตัวยาจะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถกระตุ้นให้ร่างกายมีอาการสั่นหรือเกิดภาวะลมชักหรือกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ยาได้

•     วิธีปฎิบัติเมื่อเกิดผลข้างเคียง

หลังใช้ยานี้ถ้ามีอาการคันหรืออักเสบให้หยุดการใช้ และกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อประเมินแนวทางการรักษาใหม่

 

                        3.       สเตียรอยด์ (Steroid)

                                                                                  

•     กลไกการออกฤทธิ์ให้ผิวหน้าขาว

        เสตียรอยด์มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารเคมีสื่อกลาง(mediators) เช่น โพรสตาแกรนดิน(prostaglandin) และลิวโคไตรอีน(leukotriene) ที่ใช้ในการการสร้างเม็ดสี (melanin) ทำให้ปริมาณเม็ดสีลดลงส่งผลให้ผิวขาวขึ้น

สเตียรอยด์เป็นสารที่ห้ามใส่ในเครื่องสำอาง มักใช้เป็นสูตรผสมกับยาตัวอื่น เช่น ไฮโดรควิโนน หรือ เรตินอยด์ในการรักษา ฝ้า กระ และจุดด่างดำ เสตียรอยด์ช่วยในการเสริมฤทธิ์ และช่วยลดอาการข้างเคียงของไฮโดรควิโนน และ เรตินอยด์ ได้ดี

•     ผลข้างเคียงจากการใช้

      การใช้ยาทาเสตียรอยด์ในความเข้มข้นสูง ใช้ผิดวิธี และ ใช้เป็นระยะเวลานานต่อเนื่องอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงทั้งภายนอกและภายในร่างกาย เช่น ผดผื่นขึ้นง่าย ผิวหน้าบาง ทำให้มลภาวะสารพิษจากภายนอกเข้าสู่ผิวหนังชั้นแท้ได้ง่ายขึ้น และเห็นเส้นเลือดแดงตามใบหน้าชัดขึ้น

                                                             

           รูปที่ 3. อาการข้างเคียงจากการใช้ยาทาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน คือ ผิวมีลักษณะเป็นตุ่มผดผื่น หน้าบางและไวต่อแสง

 

•     วิธีปฎิบัติเมื่อเกิดผลข้างเคียง

      หลังใช้หากมีอาการคันหรืออักเสบให้หยุดการใช้ และกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อประเมินแนวทางการรักษาใหม่

 

                      4.       กรดเรติโนอิก (Retinoic acid)

                                                                                  

•     กลไกการออกฤทธิ์ให้ผิวหน้าขาว

        เรตินอยด์(Retinoids) มีผลรบกวนกระบวนการสร้างเม็ดสี โดยมีกลไกการออกฤทธิ์คือกระตุ้นการแบ่งเซลล์และเร่งการผลัดเซลล์ของผิวในชั้นอิพิทีเรียล/เยื่อบุผิว (Epitherial) ลดการเคลื่อนย้ายเม็ดสีมาที่เซล์ลผิวหนังและยั้บยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสที่ใช้ในการสร้างเม็ดสีอีกด้วย นอกจากนี้ยังออกฤทธิ์กดการสร้างและป้องกันการสร้างสิวอุดตัน (Comedone) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดสิวทั่วไป

•     ผลข้างเคียงจากการใช้

      กรดเรทิโนอิกอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง ผิวหน้าลอก อักเสบ แพ้แสงแดดได้ง่าย อาจเกิดภาวะผิวด่างขาวหรือผิวคล้ำได้ชั่วคราวและอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์

•     วิธีปฎิบัติเมื่อเกิดผลข้างเคียง

หลังใช้ยานี้ถ้ามีอาการคันหรืออักเสบให้หยุดการใช้ และกลับไปพบแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อประเมินแนวทางการรักษาใหม่

                                                       

                       รูปที่ 4. ผลข้างเคียงจากการใช้ครีมที่มีเรตินอยด์ในปริมาณสูง ผิวหน้าแดงลอก และไวต่อแสง

 

         วิธีการเลือกใช้เครื่องสำอางค์

           1.       หลักการสังเกตุผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายเหล่านี้คือ ฉลากจะไม่ระบุผู้ผลิต ครั้งที่ผลิต และวันเดือนปีที่ผลิต  ดังนั้นเวลาซื้อเครื่องสำอางควรหลีกเลี่ยงยี่ห้อที่ไม่มีฉลากภาษาไทยไม่แสดงผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต  เป็นดีที่สุด  ทั้งนี้หากต้องการรายชื่อเครื่องสำอาง ที่อย. ประกาศแจ้งเตือนโดยละเอียด สามารถติดต่อสอบถามได้ที่กลุ่มควบคุมเครื่องสำอาง สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย อย. โทรศัพท์ 0 2590 7277 - 8 โทรสาร 0 2591 8468 ในเวลาราชการ และเว็บไซต์หน้าหลัก อย. www.fda.moph.go.th คลิกที่เครื่องสำอาง

           2.       หากสงสัยว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ใช้อยู่หรือที่ต้องการซื้อ มีสารอันตรายต้องห้ามผสมอยู่หรือไม่ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบสารเหล่านี้ด้วยตนเองได้โดยใช้ชุดทดสอบด้านเครื่องสำอาง(Test Kit-Cosmetic) จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการประกอบการตัดสินใจ

 

        บทสรุป

                ในส่วนของสารไฮโดรควิโนน สเตียรอยด์ และเรตินอยด์ นั้นจัดเป็นยาที่มีประโยชน์ในการรักษา สามารถใช้ได้ภายใต้การดูแลและควบคุมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือซื้อได้ตามร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำร้าน สามารถให้คำแนะนำการใช้ยาอย่างถูกวิธีได้ สารทั้งสามนี้ห้ามนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางตามที่กระทรวงสาธารณะสุขประกาศดังนั้นหากพบเครื่องสำอางที่มีสารเหล่านี้รวมถึงปรอทเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายก็รู้ได้เลยว่าเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน ผิดกฎหมาย ไม่ควรซื้อมาใช้เด็ดขาด

ขอให้ผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสถานที่จำหน่ายที่มีหลักแหล่งน่าเชื่อถือ และก่อนตัดสินใจซื้อควรสังเกตุฉลากผลิตภัณฑ์ โดยฉลากต้องมีข้อความภาษาไทย ระบุข้อความอันจำเป็นครบถ้วน ได้แก่ ชื่อและชนิดของเครื่องสาอาง เลขที่ใบรับแจ้ง(เป็นเลข  10 หลัก) สารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีการใช้ ชื่อที่ตั้งผู้ผลิต/ผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิต และคำเตือน อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือได้รับอันตรายจากการใช้เครื่องสำอาง ขอให้ร้องเรียนที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 หรืออีเมล : 1556@fda.moph.go.th หรือ ส่งจดหมายไปที่ ตู้ ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบรี 11004 เพื่อ อย. จะได้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

 

 

เอกสารอ้างอิง

Indian J Dermatol. TOPICAL TREATMENT OF MELASMA. 2009 Oct-Dec; 54(4): 303–309. Available from: http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2807702/

นางสาวอัจฉราพรรณ ตันติปัญจพร และ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี. สารปรอทปริมาณสูงในครีมหน้าขาวและการทดสอบเบื้องต้น. 2014 June.  Available from: http://www.sc.mahidol.ac.th/usr/?p=320

อภัย ราษฎรวิจิตร. ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone). 2015 Febuary. Available from: http://haamor.com/th/%E0%B9%84%E0%B8%AE%E0%B9%82%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8...

กองพัฒนาศักยาภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. อย. เตือน อย่าซื้อ อย่าใช้ เครื่องสำอางอันตราย 34 รายการ เสี่ยง! หน้าพัง . 2010 July.  Available from: http://www.fda.moph.go.th/www_fda/data_center/ifm_mod/nw/%E0%B8%82%E0%B9...

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. รายชื่อชุดทดสอบกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และสถานที่ติดต่อสั่งซื้อ / ตัวแทนจำหน่ายของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. 2013 Sep [เข้าถึงเมื่อ 2016 มีนาคม 20]; เข้าถึงได้จาก : http://dmsc2.dmsc.moph.go.th/testkit/index.php?option=com_content&view=a...