สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับงานพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน

         
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
กับงานพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน

ภาพกิจกรรมของหน่วยงาน

 

สัมฤทธิ์ผลของการพัฒนาในด้านต่างๆที่เกิดจากพระราชดำริอันมีพื้นฐานจากพระเมตตากรุณาธิคุณ และการทุ่มเททรงงานอย่างหนักและต่อเนื่องเป็นเวลาร่วม ๔๐ ปี ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เป็นที่ประจักษ์ ชื่นชมและยอมรับทั้งระดับชาติและนานาชาติ ทำให้ทรงได้รับการถวายรางวัลอันสูงส่งและทรงเกียรติระดับนานาชาติมากมาย ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ อาทิเช่น “รางวัลแมกไซไซ” สาขาบริการสาธารณะจากประเทศฟิลิปปินส์ และรางวัลหรือตำแหน่งเกียรติยศอื่นในเวลาต่อมา “รางวัลเหรียญซีเรส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ด้านอาหารและโภชนาการดีเด่นจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)ในปี ๒๕๓๕ รางวัล“อินทิรา คานธี”จากประเทศอินเดีย ในปี๒๕๔๗ สาขาสันติภาพ การลดอาวุธ และการพัฒนา โครงการอาหารโลก (World Food Programme) ได้ถวายตำแหน่ง “ทูตพิเศษของโครงการอาหารโลกด้านโครงการอาหารโรงเรียน” ในปี ๒๕๔๗ ในปีต่อมาองค์การยูเนสโกได้ถวายตำแหน่ง “ทูตสันถวไมตรี แห่งองค์การศึกษา วิทยศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก)” จากการที่พระองค์ทรงงานด้วยพระวิริยะอุตสาหะจนทำให้เด็กและเยาวชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในปี ๒๕๕๒ สมาพันธ์โภชนาการนานาชาติได้ขอพระราชานุญาตถวาย “รางวัลพิเศษที่สูงสุดทางโภชนาการ”และประกาศเกียรติคุณของพระองค์ท่านในการช่วยเหลือและส่งเสริมโภชนาการของผู้ด้อยโอกาศอันเป็นพื้นฐานของการพัฒนามนุษย์ และในปี๒๕๖๑ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟได้ถวายรางวัล“ผู้ทรงประสบความสำเร็จในการทำงานตลอดชีพ Life-Time Achievement Award” เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กไทยโดยเฉพาะเด็กที่ด้อยโอกาส

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีแรงจูงใจและแรงบันดาลใจจากการโดยเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร ได้ทราบถึงปัญหาความยากจนและความทุกข์ยากลำบากของประชาชนด้วยพระองค์เอง ได้ทรงพบเด็กที่ขาดอาหาร ควบคู่กับการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆโดยเฉพาะโรคทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ อาทิเช่น โรคอุจจาระร่วง พยาธิลำไส้ ไข้หวัด

ด้วยพระเมตตาและกรุณาธิคุณในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กด้อยโอกาสในท้องถิ่นที่ห่างไกลและทุรกันดารให้ดีขึ้น พระองค์ได้เริ่มโครงการ “เกษตรเพื่ออาหารกลางวัน” ในปีพุทธศักราช ๒๕๒๓ เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการขจัดปัญหาทุพโภชนาการในเด็กเล็ก โดยเริ่มที่ ๓ โรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนที่จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ในเวลาต่อมาโครงการนี้ได้ขยายไปสู่โรงเรียนที่ห่างไกลและทุรกันดารทั่วประเทศ และได้ถูกปรับเป็น “โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร” ซึ่งรวมโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันให้เป็นหนึ่งกิจกรรมหลักด้วย

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงทุ่มเทและทรงงานหนักด้วยพระวิริยะอุตสาหะ ทั้งพระวรกายและสติปัญญาเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาโครงการให้ครบถ้วนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทรงสนับสนุน เกื้อหนุนและติดตามเยี่ยมเยียนโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ “โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร” ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงมาโดยตลอด มีการวางแผนเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีระบบ ขณะนี้มีแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๕๖๐ – ๒๕๖๙

ในปี ๒๕๖๓ นี้ เป็นปีพิเศษที่โครงการพัฒนาเด็กและเยาชนในถิ่นทุรกันดารจะมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องครบ ๔๐ ปีและสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงเยี่ยมโรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนเป็นครั้งที่ ๑,๐๐๐ ในเวลาอันใกล้นี้ สัมฤทธิ์ผลทั้งผลผลิต ผลลัพธ์และผลกระทบทั้งต่อตัวเด็ก เยาวชน วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมชุมชนรอบโรงเรียนปรากฏชัดเจน

แนวคิดในการพัฒนาโครงการตามพระราชดำริอย่างเป็นระบบมีองค์ประกอบย่อยและวิธีการดำเนินงานอย่างสมบูรณ์ดังนี้

         ภาพกิจกรรมของหน่วยงาน

 

การดำเนินงานได้ดำเนินการที่โรงเรียน เพราะทำให้เข้าถึงกลุ่มเด็กและนักเรียนที่เป็นเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสามารถติดตามได้แม้จะอยู่ในที่ห่างไกลและทุรกันดาร มีการพัฒนาแบบองค์รวมโดยเริ่มงานที่จำเป็นและสำคัญก่อน เพิ่มงานหรือกิจกรรมอื่นเพื่อให้การพัฒนานี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เน้นที่งานอาหารและโภชนาการเป็นอับดับแรกเพื่อแก้ไขปัญหาการสารอาหาร (ทุพโภชนาการ) ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของชีวิต โดยที่โภชนาการเป็นจุดเชื่อมระหว่างอาหารและสุขภาพเกี่ยวกับการได้รับพลังงาน โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ และสารอื่นๆ ให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการเพื่อสุขภาวะที่ดีในวัยต่างๆ ของมนุษย์

นักเรียนเป็นศูนย์ของการพัฒนาและเน้นการเรียนรู้โดยการฝึก ปฏิบัติ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตในมิติต่าง ๆ ทั้งการเกษตร โภชนาการ สุขภาพ การศึกษา เป็นต้น ตลอดจนการเรียนรู้ด้านอาชีพ ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ทรงพระราชทานทุนเพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น หลังจากจบชั้นประถมศึกษาไปจนถึงระดับอาชีวะ ปริญญาตรี และระดับหลังปริญญาเป็นการสร้างโอกาส และความเสมอภาคทางการศึกษาและพัฒนา

การขยายผลสู่ชุมชนในการบริการสุขภาพแก่แม่และเด็กในหมู่บ้านและชุมชนใกล้เคียง แม่ที่ตั้งครรภ์ได้รับการดูแลโดยครูตำรวจตระเวนชายแดนที่ได้มีการฝึกและมีความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในชุมชนเพื่อให้มีการคลอดที่ปลอดภัย และทารกแรกเกิดเป็นปกติ ปัญหาทารกแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ๒.๕ กิโลกรัมลดลงจนมีน้อยมาก และภาวะสมองขาดออกซิเจนจนสมองพิการแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย

การขยายผลสู่ชุมชนเพื่อการพัฒนา โรงเรียนจำนวนมากที่มีความพร้อมในการเรียนรู้ให้กับประชาชนในชุมชน ได้จัดให้มี “ศูนย์บริการความรู้”หรือ “ฐานการเรียนรู้” ในด้านต่าง ๆ ที่โรงเรียนมีการดำเนินการอยู่ เช่น การสหกรณ์ การเกษตร การปลูกพืชผักผลไม้ การทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ การขยายพันธุ์พืช หญ้าแฝก การเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา การแปรรูปผลผลิต การทำผลิตภัณฑ์สมุนไพร นอกจากนี้ ยังมีการเรียนรู้เพื่อผลิตเครื่องจักสาน การทอผ้าท้องถิ่น ผ้าบาติก เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจาก “ฐานการเรียนรู้” ได้มีการพัฒนาให้ดีขึ้นจนมีคุณภาพสามารถจัดจำหน่ายในร้าน “ภูฟ้า” ได้ ในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้มีการก่อตั้งชมรมศิษย์เก่าของโรงเรียนตำรวจตระเวณชายแดน ซึ่งรวมถึงนักเรียนที่ได้รับทุนพระราชทานด้วย เพื่อรวมตัวช่วยกันในการพัฒนาโรงเรียนและชุมชน มีศิษย์เก่าที่สำเร็จการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นได้คืนถิ่นกลับมาสอนที่โรงเรียน เป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และประกอบอาชีพการเกษตรและช่วยอบรมชาวบ้านอีกด้วย

การบูรณาการการเรียนรู้และพัฒนา นักเรียนและครูได้เรียนรู้จากผู้มีความรู้และประสบการณ์จากปราชญ์ชาวบ้าน หน่วยงานของราชการ สถาบันการศึกษา ศิษย์เก่าตลอดจนภาคเอกชน ทำให้นักเรียนและโรงเรียนสามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยทำให้โรงเรียนเป็นฐานการเรียนรู้ให้กับนักเรียนและประชาชนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง จุดเด่นของการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร คือการพัฒนาการแพทย์องค์รวม เชื่อมโยงประเด็นการพัฒนาต่าง ๆ ให้มีความเชื่อมโยงจนเกิดความสมบูรณ์และนำไปสู่เป้าหมายที่ได้วางไว้ เริ่มต้นจากการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เพื่อการเรียนรู้และมีผลผลิตอาหารสู่ห้องครัว ซึ่งรวมถึงพืชผัก ผลไม้ ไก่ไข่ ปลา ถั่วเมล็ดแห้ง และการเกษตรอื่น ๆ เพื่อเป็นฐานการเรียน และจะได้เป็นทักษะในการประกอบอาชีพต่อไป เช่น การเลี้ยงหมู กบ ศูนย์พันธุ์พืชผัก เป็นต้น

การบริการอาหารในโรงเรียนทุกวัน และมีการพัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีเมนูอาหารที่มีการปรับทุกสัปดาห์และทุกเดือนตามฤดูกาลของอาหารและผลผลิตที่ได้จากโรงเรียน เพื่อให้อาหารมีคุณค่าทางโภชนาการ ให้นักเรียนได้พลังงานและสารอาหารอื่นๆเกินร้อยละ ๓๕ ของความต้องการในแต่ละวัน อาหารที่นักเรียนได้รับมีการดูแลเรื่องความสะอาด ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ ควบคู่ไปกับน้ำดื่มที่สะอาด มีการตรวจคุณภาพและความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้นักเรียนทุกคนได้ดื่มนมเสริม ๒๐๐ มิลลิกรัมต่อวัน

การประเมินภาวะโภชนาการ เพื่อให้ทราบภาวะโภชนาการ ตลอดจนทราบถึงนักเรียนที่มีปัญหาการเจริญเติบโตด้านน้ำหนัก และส่วนสูง ภาวะคอพอก ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไข เด็กที่มีน้ำหนักและความสูงต่ำกว่าเกณฑ์จะได้บริโภคไข่และนมเพิ่มขึ้นตลอดจนรักษาโรคหรือการเจ็บป่วยพื้นฐานที่ทำให้เกิดทุพโภชนาการ โรงเรียนที่มีปัญหาคอพอกจากการขาดสารไอโอดีน ได้มีการกำจัดปัญหานี้ให้หมดไปโดยการใช้เกลือเสริมไอโอดีนในการปรุงอาหาร และเติมไอโอดีนในน้ำดื่ม ในโรงเรียนที่มีปัญหาเด็กน้ำหนักเกินทางโรงเรียนได้จัดให้เด็กมีการออกกำลังกายเพิ่มขึ้น และลดอาหารที่มีความหวานและความมัน

การรักษาการเจ็บป่วย ได้มีการบันทึกการเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ เช่น อุจจาระร่วง ไข้หวัด พยาธิ โดยการตรวจอุจจาระเป็นระยะ ๆ และบันทึกการเกิดไข้มาลาเรียในพื้นที่ที่มีโรคนี้ นักเรียนที่เจ็บหรือป่วยจะได้รับการรักษาเบื้องต้นที่โรงเรียน และจะมีเจ้าหน้าที่จากสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพมาตรวจรักษา บางโรงเรียนมีสุขศาลา (หน่วยอนามัย) ในโรงเรียนเพื่อให้การรักษาเบื้องต้นแก่นักเรียนและชุมชน

การศึกษาได้ให้ความสำคัญทั้งวิชาการและจริยธรรม มีการทดสอบพฤติกรรมด้านจริยธรรม คุณธรรม ทุกปีการศึกษาและมีการทดสอบวิชาการในแต่ละกลุ่มสาระ (O-NET) ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ คุณภาพการศึกษาได้มีการพัฒนาให้ดีขึ้นตามลำดับและมีการสอนเสริมในวิชาที่นักเรียนสอบได้คะแนนต่ำ

การเรียนรู้เรื่องสหกรณ์ นักเรียนได้มีการเรียนและฝึกปฏิบัติ การทำบัญชีและคุณธรรมจริยธรรมตามหลักและอุดมการณ์สหกรณ์ ซึ่งจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน ผลิตผลด้านการเกษตรได้มีการนำเข้าสหกรณ์เพื่อการเรียนรู้เรื่องสหกรณ์โดยการฝึกปฏิบัติจริงอีกด้วย

การสร้างเสริมศักยภาพของนักเรียนทางการอาชีพที่กล่าวมาแล้ว นอกจากหัตถกรรมการแปรรูปอาหารเบื้องต้น เช่น ขนม กล้วยแปรรูป การตัดผม ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า ยังมีงานอาชีพตามท้องถิ่น เช่น การทำผ้าบาติก การทำไม้กวาด เครื่องจักสาน เป็นต้น

สำหรับการเรียนรู้เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ได้มีการเรียน และการอนุรักษ์การแสดงและการแต่งกายของท้องถิ่น ตลอดจนการร่วมในการส่งเสริมและร่วมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมของศาสนา นักเรียนได้เรียนรู้การรักษาแหล่งน้ำ การปลูกต้นไม้ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ตามพื้นที่ตนเองอยู่อาศัย

         ภาพกิจกรรมของหน่วยงาน

 

การรายงานผลปฏิบัติงานของแต่ละโรงเรียน นอกจาก จะมีรายละเอียดของประวัติโรงเรียน จำนวนครู และนักเรียน จะมีการรายงานการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักดังนี้

๑.เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างสมดุลในด้านพุทธศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษา และพลศึกษา ด้วยกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติ มีความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ภาคภูมิใจในความเป็นไทย และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติ

๒.เพื่อขยายการพัฒนาจากโรงเรียนสู่ชุมชน ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ ครอบครัวและชุมชนเกิดการพัฒนา ช่วยเหลือสนับสนุนการพัฒนาเด็กและเยาวชนในโรงเรียนไปพร้อมๆ กัน

๓.เพื่อผลักดันให้สถานศึกษาพัฒนาเป็นศูนย์บริการความรู้ สามารถถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการพัฒนาให้กับผู้ปกครอง ชุมชน และสถานศึกษาหรือองค์กรอื่นๆ ทั้งจากภายในประเทศและภายนอกประเทศ เพื่อนำไปประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละที่ สร้างความร่วมมือและเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างประเทศ

เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์หลักข้างต้น จึงกำหนดเป้าหมายหลัก ๘ ข้อพร้อมตัวชี้วัดดังนี้

เป้าหมายหลักที่ ๑.เสริมสร้างสุขภาพเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดาไปจนถึงนักเรียนชั้นอนุบาลและเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับการดูแลตั้งแต่ในครรภ์มารดา มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่สมวัย ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในโรงเรียนมีสุขภาวะที่ดี มีพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม โดยการประเมินภาวะโภชนาการจากน้ำหนักและส่วนสูง สมรรถภาพทางกาย พฤติกรรมการบริโภคอาหารและสุขนิสัยที่พึงประสงค์ของนักเรียน ภาวะคอพอก การเจ็บป่วยด้วยไข้มาลาเรีย

เป้าหมายหลักที่ ๒.เพิ่มโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้มีโอกาสศึกษาต่อมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถของครูและโรงเรียนให้จัดการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะสม สำหรับเด็กและเยาวชนที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย สติปัญญาและอารมณ์ มีตัวชี้วัดคือจำนวนเด็กพิการที่ได้รับการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะสม นักเรียนในพระราชานุเคราะห์ที่กำลังศึกษาอยู่และสำเร็จการศึกษาแล้ว

เป้าหมายหลักที่ ๓.เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนทางวิชาการและทางจริยธรรม เพื่อให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น ทั้งวิชา ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และ ภาษาอังกฤษ รวมทั้งทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ควบคู่กับการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม มีตัวชี้วัดคือคะแนนเฉลี่ยในแต่ละกลุ่มสาระ(O-NET)ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ พฤติกรรมด้านจริยธรมและคุณธรรม ทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ

เป้าหมายหลักที่ ๔.เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนทางการอาชีพ เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้อาชีพการเกษตรอย่างครบวงจร ตั้งแต่การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การนำผลผลิตไปใช้ประโยชน์ และการจัดทำบัญชี งานอาชีพที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย ตลอดจนมีลักษณะนิสัย คุณธรรม และจริยธรรมตามหลักและอุดมการณ์สหกรณ์ ตัวชี้วัดคือ ผลผลิตทางการเกษตร คะแนนเฉลี่ยวิชาการเกษตร สหกรณ์และวิชาที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

เป้าหมายหลักที่ ๕.ปลูกจิตสำนึกและพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เด็กและเยาวชน ได้เรียนรู้ ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง เห็นความงดงาม เกิดเป็นความปีติที่จะศึกษา เป็นความรัก ความผูกพัน หวงแหนในทรัพยากรของตน ร่วมในกระบวนการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มีตัวชี้วัดคือ คะแนนเฉลี่ยวิชาการอนุรักษ์ทรัพยากรณ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เป้าหมายหลักที่ ๖.เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนในการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่นและของชาติไทย เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้และเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมของท้องถิ่นและวัฒนธรรมไทย โดยทำให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันอย่างแท้จริง มีตัวชี้วัดคือ วิชาธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น

เป้าหมายหลักที่ ๗.ขยายการพัฒนาจากโรงเรียนสู่ชุมชน เพื่อขยายการพัฒนาจากโรงเรียนสู่ชุมชน ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และพึ่งตนเองได้ ครอบครัว และชุมชนเกิดการพัฒนา ช่วยเหลือสนับสนุนการพัฒนาเด็กและเยาวชนและโรงเรียนไปพร้อมๆกัน มีตัวชี้วัดคือกิจกรรมที่ขยายเข้าสู่ชุมชนในด้านการเกษตร สุขอนามัยและสุขภิบาลสิ่งแวดล้อม ด้านสหกรณ์และการบัญชีโดยระบุจำนวนครัวเรือนที่ร่วมกิจกรรม

เป้าหมายหลักที่ ๘.พัฒนาสถานศึกษาเป็นศูนย์บริการความรู้ เพื่อให้สถานศึกษาเป็นศูนย์บริการความรู้ให้แก่ผู้ปกครองและชุมชน สามารถในการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีการพัฒนาแก่สถานศึกษาอื่นๆ เพื่อนำไปประยุกต์ให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละที่ สร้างความร่วมมือและเครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างกัน มีตัวชี้วัดคือศูนย์บริการวิชาการหรือฐานการเรียนรู้ในด้านการเกษตร สุขภาพอนามัย สหกรณ์และบัญชีโดยมีจำนวนของประชาชนหรือคณะที่มาเรียนรู้

ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียนแต่ละครั้งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะได้รับการถวายรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานซึ่งจะครอบคลุมถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักจากผู้อำนวยการ เกือบทุกครั้งพระองค์ท่านจะมีข้อซักถามหรือข้อคิดเห็นเพื่อให้งานสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จากนั้นจะเสด็จพระราชดำเนินเพื่อทอดพระเนตรกิจกรรมต่างๆในโรงเรียน เช่น การเรียนการสอน การใช้คอมพิวเตอร์ ห้องสมุด กิจกรรมสหกรณ์ การแสดงเชิงวัฒนธรรม การฝึกอาชีพ โรงอาหารและกิจกรรมประกอบเลี้ยงอาหารกลางวัน โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน กิจกรรมการปลูกพืชผักผลไม้ ปศุสัตว์ ประมงและงานพัฒนาที่ดิน บางโรงเรียนจะมีศูนย์พันธุ์พืชผักและผลไม้ นักเรียนและครูที่รับผิดชอบกิจกรรมต่างๆ ได้มีโอกาสถวายรายงานซึ่งสร้างความมั่นใจและภูมิใจแก่นักเรียนในตนเองเป็นอย่างยิ่ง

ทรงพระราชทานโอกาสให้นักเรียนในพระราชานุเคราะห์ที่กำลังศึกษาในระดับต่างๆ ตลอดจนผู้สำเร็จการศึกษาระดับอาชีวะศึกษา ปริญญาตรี และหลังปริญญาตรี ได้เข้าเฝ้าเพื่อรายงานความก้าวหน้าของการศึกษา

นอกจากนี้ ชมรมศิษย์เก่าของโรงเรียน รวมถึงผู้ได้รับพระราชทานทุนเพื่อการศึกษาได้มีโอกาสได้เข้าเฝ้าเพื่อรายงานถึงกิจกรรรมที่ทำร่วมกันในการพัฒนาโรงเรียนและชุมชน ในการประกอบอาชีพทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

กิจกรรมที่สำคัญอีกอย่างที่ทรงทอดพระเนตรคือ ศูนย์บริการความรู้ หรือฐานการเรียนรู้สำหรับผู้ปกครองและชุมชน ศิษย์เก่าหลายคน ได้กลับมาเป็นกำลังสำคัญทางวิชาการผ่านฐานการเรียนรู้เหล่านี้

สัมฤทธิผลของโครงการตามพระราชดำริ

๑.ในปี ๒๕๖๒ มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาซึ่งรวมสามเณรที่อยู่ในโครงการรวม ๑๓๓,๕๘๘ คน ใน สังกัดของตำรวจตระเวนชายแดน (๒๑๘ โรงเรียน.) สำนักงานการศึกษาพื้นฐาน (๒๒๑ โรงเรียน) การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (๒๘๒ ศูนย์) สำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (๑๗โรงเรียนเอกชนอิสลาม) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (๖๙ โรงเรียนปริยัติธรรม) สำนักงานการศึกษากรุงเทพมหานคร (๒๕ โรงเรียน) และองค์กรปกครองท้องถิ่น (๙ โรงเรียน. และ ๒๐ ศูนย์เด็กเล็ก)

๒.โรงเรียนหรือศูนย์การศึกษาเหล่านี้ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายหลักตามที่กล่าวมาแล้ว ทำให้ภาวะโภชนาการ สุขภาวะ และสุขอนามัย สิ่งแวดล้อมและสุขภาพการศึกษาดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามลำดับ ปัญหาโภชนาการที่เกิดจากการขาดพลังงานและสารอาหารต่างๆ แทบจะถูกขจัดให้หมดไป บางโรงเรียนเริ่มมีปัญหาน้ำหนักเกิน ซึ่งก็ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น

๓.นักเรียนในพระราชานุเคราะห์ที่ได้รับทุนพระราชทานให้ศึกษาต่อในชั้นมัธยม อาชีวศึกษา ระดับปริญญาตรีและโทมีรวมกันตั้งแต่ปี ๒๕๓๑ – ๒๕๖๒ เป็นจำนวน ๖,๖๒๐ คน ในจำนวนนี้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ๑,๔๗๘ คนและระดับปริญญาโท ๑๐ คน มีนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้ศึกษาต่อด้วยทุนส่วนตัว หรือทุนอื่นถึงระดับปริญญาโท ๕ รายและปริญญาเอก ๓ ราย ล่าสุดคือ นายจักรพงษ์ ทองสวี จากโรงเรียนบ้านเขาล้าน จังหวัดชุมพร ได้รับทุนพระราชทานต่อเนื่องจนจบปริญญาตรีสาขาวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นได้รับทุนเป็นผู้ช่วยวิจัยจากอาจารย์ให้ศึกษาจนสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกวนศาสตร์ในปี ๒๕๖๒

๔.ขณะนี้ในแต่ละปีจะมีนักเรียน และนักศึกษารับทุนพระราชทานประมาณ ๑,๗๐๐ – ๑,๘๐๐ คน ซึ่งรวมถึงนักศึกษาที่ส่งไปเรียนต่อที่อินเดียปีละ ๒ – ๓ คน เงินทุนพระราชทานให้แก่นักเรียนและนักศึกษาเป็นทุนส่วนพระองค์ เป็นจำนวนเงินประมาณ ๔๖.๒ ล้านบาท ในปีการศึกษา ๒๕๖๒

๕.ผู้ที่ได้รับทุนพระราชทาน และศิษย์เก่าโรงเรียน โดยเฉพาะ ในสังกัดตำรวจตระเวนชายแดนได้ก่อตั้งชมรมศิษย์เก่าเพื่อรวมพลังในการพัฒนาโรงเรียนและชุมชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นและมีความยั่งยืน ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม หลายรายได้กลับมาทำงานในชุมชนและท้องถิ่น

โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนได้ขยายผลเพื่อเป็นตัวอย่างและต้นแบบการพัฒนาชีวิตเด็กนักเรียนและชุมชนไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียรวม ๑๐ ประเทศได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม มองโกเลีย ภูฏาน บังคลาเทศ อินโดนีเชีย ฟิลิปปินส์ และติมอร์ตะวันออก นานาประเทศต่างชื่นชมและยอมรับในพระปรีชาสามารถและพระเมตตากรุณา วิธีการทรงงานด้วยความพากเพียรและพัฒนางานอย่างต่อเนื่องจนเกิดสัมฤทธิ์ผลเป็นที่ประจักษ์ว่าโครงการพระราชดำรินี้ก่อให้เกิดความเสมอภาคและสร้างโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การศึกษาและการพัฒนาของเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

เนื่องในวโรกาสที่พระองค์มีพระชนมายุ ๖๕ พรรษาในวันที่ ๒ เมษายนศกนี้ ข้าพุทธเจ้าขอพระราชทานพระราชานุญาต ถวายพระพร ขอพระองค์ทรงมีพระสุขภาวะที่แข็งแรง มีพระราชประสงค์จำนงค์หมายสิ่งใด ขอจงสัมฤทธิ์ผลทุกประการ เป็นมิ่งขวัญของประชาชนชาวไทยและนานาชาติสืบไป

 

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม
ข้าพระพุทธเจ้า ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์
สมาชิกวุฒิสภา
 อดีตผู้อำนวยการฝ่ายอาหารและโภชนาการ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ 
อดีตนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล