ข้อมูลหลักสูตร

หลักสูตรการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญ
ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

 

ราชวิทยาลัยที่กำกับดูแล

สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย

 

พันธกิจของแผนงานฝึกอบรม

     อาชีวเวชศาสตร์ เป็นเวชศาสตร์ป้องกันแขนงที่มุ่งเน้นดูแลประชากรวัยทำงานในประเด็นสิ่งคุกคามสุขภาพอนามัยในงาน ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้แพทย์ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง เพื่อทำหน้าที่วางแผน ให้บริการ ประเมินการดูแลรักษาและป้องกันโรคจากการประกอบอาชีพ โดยใช้หลักการของเวชศาสตร์ป้องกัน และหลักการของเวชศาสตร์ชุมชน ซึ่งพิจารณาว่าสถานประกอบการเป็นชุมชนประเภทหนึ่งด้วย จึงได้มีการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2541 เป็นต้นมา

     นอกจากความรู้และทักษะด้านอาชีวเวชศาสตร์ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ควรมีความสามารถด้านอื่น ๆที่สำคัญเช่น ความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ความสามารถด้านการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ การสื่อสารความเสี่ยง การทำงานเป็นทีม การบริหารจัดการ ความรู้ความเข้าใจในระบบสุขภาพกระบวนการคุณภาพเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีความรับผิดชอบ มีจริยธรรม ทัศนคติ และเจตคติที่ดีต่อประชากรที่ดูแล ผู้ร่วมงานและองค์กรเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริการอาชีวอนามัย

     ผลการศึกษาการสำรวจจำนวนบุคลากรด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในประเทศไทย1 ปี พ.ศ. 2558 มีแพทย์เฉพาะทาง สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ 142 คน แบ่งเป็นวุฒิบัตร 52 คน หนังสืออนุมัติ 90 คน ในปีการศึกษา 2561 มีสถาบันฝึกอบรมที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภาจำนวน 6 แห่ง จำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรมปีละ ชั้นละ 19คน อย่างไรก็ตามยังมีความขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางด้านนี้ในจังหวัดต่าง ๆ (โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ของกระทรวงสาธารณสุข) จำนวน 19 จังหวัด2 ประกอบกับรัฐบาลได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ซึ่งในส่วนของแผนด้านสาธารณสุข3 มียุทธศาสตร์บริการที่เป็นเลิศ (Service Excellence) เป็น 1 ใน 4 ยุทธศาสตร์หลัก และมีแผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) 13 สาขาหลักเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งบริการด้านอาชีวเวชศาสตร์ถูกกำหนดให้เป็นสาขาหลักใน Service Plan ด้วย  ส่วนบริการด้านอาชีว อนามัยและสิ่งแวดล้อมได้มีการกำหนดอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ4 พ.ศ. 2560 - 2564  มียุทธศาสตร์ ข้อ 3.3 พัฒนาระบบการเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนด้านอาชีวอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม ตัวชี้วัด คือ ร้อยละของการผ่านเกณฑ์ของหน่วยบริการสาธารณสุข สำหรับการจัดบริการอาชีวอนามัยและเวชกรรมสิ่งแวดล้อมในเขตพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2559 รัฐบาลได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor; EEC) และกระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมแผนปฏิบัติการด้านสาธารณสุข เพื่อรองรับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก5 ประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก คือ การพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะด้านในสถานบริการสาธารณสุข การพัฒนาศักยภาพการให้บริการด้านอาชีวเวชศาสตร์ และการพัฒนาระบบบริหารบริการด้านสาธารณสุข ดังนั้นจากแผนยุทธศาสตร์ชาติ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และ EEC ส่งผลให้ความต้องการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์และเวชศาสตร์สิ่งแวดล้อมสูงขึ้น มากกว่าจำนวนที่ผ่านการอบรมในแต่ละปี

     คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะต้องจัดให้มีการฝึก อบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ เพื่อตอบสนองวิสัยทัศน์และพันธกิจของคณะ รวมทั้งการมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปีด้านสาธารณสุข  แผนยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งยังขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ โดยในส่วนของการเตรียมความพร้อมของหลักสูตรการฝึกอบรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องและความพร้อมของวิทยากร คณะฯได้มีการจัดตั้งและพัฒนาหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาอาชีวอนามัยและพิษวิทยา (หลักสูตรนานาชาติ) ขึ้น ซึ่งเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2562  คณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯ สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ได้ให้การรับรองหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิตนี้ ว่าสามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านได้ ประกอบกับคณะฯมีการจัดตั้งวิทยาเขตแห่งใหม่ คือ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ตั้งอยู่ที่ ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

     สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงเปิดสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์  เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2560  โดยสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์มียุทธศาสตร์หลัก 4 ยุทธศาสตร์ คือ ความเป็นเลิศด้านการศึกษา ความเป็นเลิศด้านอาชีวอนามัย-อาชีวเวชศาสตร์-สิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบสุขภาพแบบครบวงจร และการพัฒนาระบบแพทย์ทางเลือก และเนื่องจากสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมากจึงทำให้มีความพร้อมที่จะเปิดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงอาชีวเวชศาสตร์ ได้ในปีการศึกษา 2564 โดยมีสถาบันสมทบ 4 แห่งได้แก่ สถาบันราชประชาสมาสัย กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม  โรงพยาบาลสมุทรปราการ และโรงพยาบาลสมุทรสาคร

 

ระยะเวลาและระดับของการฝึกอบรม

     การฝึกอบรมมีระยะเวลาทั้งสิ้น 3 ปี โดยอนุญาตให้ลาพักผ่อนได้ปีละ 10 วันทำการ หรือไม่เกิน 30 วันทำการ ตลอดการศึกษาอบรม จึงจะมีสิทธิได้รับการประเมินเพื่อวุฒิบัตร ในกรณีลาเกินกว่ากำหนด จะต้องมีการขยายเวลาฝึกอบรมให้มีระยะเวลาการฝึกอบรมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 150 สัปดาห์ จึงจะมีสิทธิได้รับการประเมินเพื่อวุฒิบัตรฯ นอกจากนี้ผู้ผ่านการอบรมจะต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรปริญญาโทในสาขาอาชีวเวชศาสตร์หรือเทียบเท่าตามที่คณะอนุกรรมการฝึกอบรมและสอบฯกำหนดก่อนจึงจะมีสิทธิได้รับการประเมินเพื่อวุฒิบัตร

โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้มีการจัดเตรียมให้แพทย์ประจำบ้านได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับระดับชั้นปีที่ฝึกอบรม กล่าวคือ

          แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1
     แพทย์ประจำบ้านต้องผ่านการอบรมความรู้เบื้องต้นด้านอาชีวเวชศาสตร์ 2 เดือน ตามหลักสูตรของสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย มีความรู้เรื่องหลักการด้านอาชีวเวชศาสตร์ของประเทศ มีการเรียนรู้ตามหลักการของเวชศาสตร์ป้องกัน การตรวจประเมินความพร้อมในการทำงาน การส่งเสริมป้องกันโรค การจัดการเฝ้าระวังโรค การประเมินความเสี่ยงในสถานประกอบกิจการ การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ การวินิจฉัยโรคจากการทำงาน การประเมินการสูญเสียสมรรถภาพทางกายและจิต การตรวจสุขภาพก่อนกลับเข้าทำงาน การฝึกปฏิบัติในคลินิกโรคจากการทำงาน รวมถึงการใช้เครื่องมือการตรวจทางอาชีวเวชศาสตร์และแปลผลได้อย่างถูกต้อง มีความรู้ในการจัดการเหตุฉุกเฉินในสถานประกอบกิจการ และการจัดการเหตุสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ทั้งนี้แพทย์ประจำบ้านแต่ละท่านจะต้องมีอาจารย์แพทย์ของสถาบันเป็นที่ปรึกษาตลอดระยะเวลาสามปีที่เรียน
     จัดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาโท เช่น หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาอาชีว
อนามัยและพิษวิทยา (หลักสูตรนานาชาติ)  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และการทำวิทยานิพนธ์ โดยแพทย์ประจำบ้านต้องทำงานวิทยานิพนธ์ และตีพิมพ์ในวารสารที่คณะอนุกรรมการและสอบฯ กำหนดอย่างน้อยหนึ่งเรื่อง โดยอาจารย์แพทย์ของสถาบันของแพทย์ประจำบ้านจะต้องมีส่วนร่วมด้วย

     ในกรณีผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่จบการศึกษาจากหลักสูตรปริญญาโทที่สมาคมเวชศาสตร์ป้องกันรับรองแล้ว สามารถเข้าเรียนได้โดยไม่ต้องเรียนหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาอาชีวอนามัยและพิษวิทยาซ้ำ ทั้งนี้ระยะเวลาหลังจบหลักสูตรปริญญาโทต้องไม่เกิน 5 ปี หรือขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการบริหารหลักสูตรฯ

        แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 2
     จัดให้มีการหมุนเวียนดูแลผู้ป่วยโรคจากการทำงานในสาขาต่าง ๆในโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้แก่ แผนกอายุรกรรม แผนกอายุรกรรมโรคระบบทางเดินหายใจ แผนกอายุรกรรมโรคหัวใจ แผนกโรคผิวหนัง แผนกพิษวิทยา แผนกศัลยกรรมกระดูก แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู แผนกจักษุ แผนกหู คอ จมูก แผนกสูตินรีเวช และแผนกจิตเวช รวมทั้งการฝึกปฏิบัติในคลินิกโรคจากการทำงาน การเดินสำรวจโรงงาน การเรียนรู้จากศูนย์พิษวิทยา และการเรียนรู้การทำงานแผนกอาชีวเวชศาสตร์จากโรงพยาบาลสมทบ จะต้องทำงานวิจัยด้านอาชีวเวชศาสตร์หนึ่งเรื่อง โดยตีพิมพ์ในวารสารที่คณะอนุกรรมการและสอบฯ กำหนด

 

        แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 3
     เป็นหัวหน้าทีมในการปฏิบัติงานด้านอาชีวเวชศาสตร์ สามารถปฏิบัติงานต่าง ๆได้ ด้วยตนเอง ภายใต้การควบคุมของอาจารย์แพทย์ในแต่ละสถาบัน และสามารถให้ความรู้แก่แพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่ 1 และ  ปีที่ 2 พยาบาลอาชีวอนามัย คนงานและเจ้าของสถานประกอบการ เป็นหัวหน้าทีมในการวินิจฉัย ดูแล จัดการผู้ป่วย โดยให้แพทย์ประจำบ้านอาวุโสเหล่านี้มีโอกาสฝึกฝนให้เกิดทักษะทางด้านการกำกับดูแล การติดตาม การทำงานบริการอาชีวอนามัย การเฝ้าระวังทางการแพทย์ การใช้เครื่องมือต่าง ๆด้านอาชีวเวชศาสตร์ การบริหารจัดการงานอาชีวอนามัยในโรงพยาบาล รวมทั้งการจัดการเหตุสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โดยมีรายละเอียดของระดับ การฝึกอบรมและการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ในภาคผนวกที่ 3

          ในส่วนของประสบการณ์การเรียนรู้จะมีการบันทึกในหนังสือ log book ซึ่งต้องนำมาส่งพร้อมเอกสารในการยื่นสอบ ซึ่งจะต้องบันทึกกิจกรรมได้แก่

          1. จำนวนและโรคจากการทำงานที่ทำการวินิจฉัย

          2. จำนวนครั้งการเข้าร่วมประชุมวิชาการประจำปีที่จัดหรือร่วมจัดโดยสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย รายปี

          3. จำนวนครั้งและประเภทของการออกสืบสวนหรือสืบค้นโรค

          4. จำนวนครั้งและประเภทของการทำ Fit for work

          5. จำนวนครั้งและประเภทของการทำ Return-to-work

          6. จำนวนครั้งและประเภทของกิจกรรมวิชาการที่เข้าร่วมเช่น Case conference, journal club

          7. จำนวนครั้งของการร่วมจัดสัมมนา หรือการสอนแสดง

          8. จำนวนครั้งของการฝึกปฏิบัติการสำรวจสถานประกอบกิจการ