ประวัติความเป็นมาของชมรมนาฏศิลป์และดนตรีไทย

ประวัติความเป็นมาของชมรมนาฏศิลป์และดนตรีไทย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  มหาวิทยาลัยมหิดล
 
ชมรมนาฏศิลป์และดนตรีไทย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ก่อตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗  โดยศาตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์พูนพิศ  อมาตยกุล  อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา ผู้มีความรู้ความสามารถในด้านดนตรีไทย  การขับร้องและชื่นชอบการฟังเพลงต่างๆ    เมื่อมีบุคลากรในสังกัดคณะแพทยศาตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลเพิ่มมากขึ้น อาจารย์นายแพทย์พูนพิศ จึงเชิญชวนบุคลากรทุกระดับของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในยุคนั้นรวมตัวกันทำกิจกรรมนอกเวลาทำงาน เป็นการส่งเสริมความสนิทสนม ความคุ้นเคย พัฒนาไปสู่ความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกันทำงานอย่างมีความสุข ด้วยการรวมตัวกันเล่นดนตรีไทย โดยในระยะแรก มีผู้บริหารของคณะฯ บริจาคเครื่องดนตรีบางส่วนและบุคลากรจัดหามาเองด้วย จากการรวมตัวกันเล่นดนตรีไทยเป็นงานอดิเรก ก็ได้พัฒนาจนสามารถเป็นวงดนตรีไทยที่สร้างชื่อเสียงให้แก่คณะฯ มาจนถึงทุกวันนี้(พูนพิศ อมาตยกุล. สัมภาษณ์ ,๑๘ มีนาคม ๒๕๕๔)
 
จากการรวมตัวกันของผู้ที่เล่นได้อยู่แล้วก็มีผู้สนใจที่จะมาร่วมกิจกรรม ฝึกหัดเพิ่มขึ้น กิจการของชมรมฯ จึงเติบโตขึ้น ภายใต้การบริหารจัดการของศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ทางด้านต่างๆดังนี้
๑. การจัดหาครูมาสอนทั้งด้านดนตรีไทยและนาฎศิลป์ โดยขอทุนสนับสนุนจากมูลนิธิรามาธิบดี เป็นค่าพาหนะ ให้แก่ครู  
๒. การจัดกิจกรรมเพื่อนำเสนอผลงานของชมรมฯ โดยจัดรายการ รามาบันเทิง เดือนละ ๑ ครั้ง ในรูปแบบวาไรตี้ที่เชิญบุคคลผู้มีชื่อเสียง ดารา - นักร้องอาชีพ มาร่วมกิจกรรมด้วย ซึ่งผู้เข้าชมก็จะบริจาคทรัพย์สนับสนุนการจัดกิจกรรมด้วย
๓. การนำวงดนตรีและนาฎศิลป์ไทย เผยแพร่ผลงานการแสดงประจำชาติ เพื่อต้อนรับผู้มีเกียรติชาวต่างชาติในงานประชุมวิชาการระดับสถาบันและระดับนานาชาติ 
๔. การนำวงดนตรีและนาฎศิลป์ไทย ร่วมกิจกรรมกับสถาบันต่างๆ ในประเทศ อาทิ เช่น การเผยแพร่ผลงานทางสถานีโทรทัศน์ ในโอกาสพิเศษต่างๆ รวมทั้งการเผยแพร่ผลงาน ณ สังคีตศาลา กรมศิลปากร และการแสดง ณ ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น 
๕. การบันทึกเสียง วงดนตรีไทย เพื่อเผยแพร่ผลงานจากสถานีวิทยุศึกษา การบันทึกเสียงกับศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) ที่ผ่านฟ้า เพื่อเผยแพร่ทางสถานีวิทยุระบบ AM ทุกจังหวัดของ ประเทศไทย และการเผยแพร่เพลงไทย ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
 
จากการบริหารการจัดการของอาจารย์นายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล ดังกล่าว สร้างชื่อเสียงและขวัญกำลังใจให้แก่  สมาชิกชมรมฯ เป็นอย่างยิ่ง จึงมีการรวมกลุ่มกันฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอทั้งดนตรีและนาฎศิลป์สัปดาห์ละ ๒ วัน นอกเวลาราชการ คือ วันอังคารและวันพฤหัสบดี เวลา ๑๖.๓๐ น. - ๑๙.๓๐ น. หากในช่วงใดที่ “รับงาน” ไว้ ก็จะนัดกันซ้อมเพิ่ม เพื่อให้ผลงานออกมาได้ดีที่สุด
 
 
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ อาจารย์นายแพทย์พูนพิศ ได้ย้ายไปรับราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชนบท (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย” ) มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งอยู่ที่ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม แต่กิจการของชมรมฯ ยังคงดำเนินต่อไปจนทบวงมหาวิทยาลัยซึ่งปัจจุบันนี้คือคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดให้สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบพันธกิจของสถาบัน ๕ ด้านด้วยกัน ซึ่งหนึ่งในพันธกิจนั้น คือ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม กิจการรมชมรมนาฎศิลป์และดนตรีไทย จึงมีส่วนร่วมรับผิดชอบในพันธกิจด้านนี้ของคณะฯ โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากคณะฯและถือเป็นส่วนหนึ่งของภาระงานของบุคลากรมาเป็นลำดับ  ดังนี้
 
๑. พ.ศ. ๒๕๓๘ - พ.ศ. ๒๕๔๐  ศาสตราจารย์นายแพทย์บุญชอบ พงษ์พานิช   (คณบดี)   รองศาสตราจารย์ฐิติวัลคุ์    ธรรมไพโรจน์ (ประธานชมรมฯ)
๒. พ.ศ. ๒๕๔๐ - พ.ศ. ๒๕๔๕  ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต    วาทีสาธกกิจ (คณบดี) รองศาสตราจารย์ฐิติวัลคุ์ ธรรมไพโรจน์ (ประธานชมรมฯ)
๓. พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๕ - พ.ศ. ๒๕๔๖ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต    วาทีสาธกกิจ (คณบดี สมัยที่ ๒ ) รองศาสตราจารย์สุนทรี    ภานุทัต  (ประธานชมรมฯ)
๔. กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๖ - พ.ศ. ๒๕๔๘  ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ    รัชตะนาวิน  (คณบดี) รองศาสตราจารย์ดรุณี    ชุณหะวัต  (รองคณบดี ฝ่ายกิจกรรมพิเศษ) ผู้ช่วยศาสตราจารย์อมรา    ปานทับทิม    (ประธานชมรมฯ)
๕. ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ - ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๔ ) ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ    รัชตะนาวิน  (คณบดี สมัยที่ ๒) รองศาสตราจารย์ดร.พรรณวดี   พุธวัฒนะ (รองคณบดีฝ่ายสร้างเสริมสุขภาพและวัฒนธรรม) รองศาสตราจารย์ดรุณี     ชุณหะวัต   (ประธานชมรมฯ ถึง พ.ศ. ๒๕๕๓) นางสาวจรวยพร    สุเนตรวรกุล (ประธานชมรมฯ เริ่มตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓)
 
 
 
ที่ตั้งของชมรมนาฎศิลป์และดนตรีไทย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ชมรมนาฎศิลป์และดนตรีไทยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ตั้งอยู่ ณ อาคาร ๗ คือ หอประชุมอารี วัลยะเสวี  ซึ่งมี ๒ ชั้น เดิมชั้นล่าง เป็นห้องประชุมขนาดย่อม ใช้เป็นห้องอเนกประสงค์ ชื่อ ห้องประชุมจงจินต์ รุจิวงศ์  ตามชื่อผู้บริจาค (ปัจจุบันเป็นห้องตรวจผู้ป่วยฯ)   ด้านหน้าของหอประชุมอารีฯเป็นห้องโถงกระจก ใช้เป็นที่จัดนิทรรศการและจัดเลี้ยงในสมัยแรก บริเวณนี้มองเห็นทิวทัศน์สวยงามมาก แต่ปัจจุบันมองไปด้านใดก็ ไม่เห็นธรรมชาติที่เขียวชอุ่มเห็นแต่ตึกสูงๆไปหมดรอบด้าน   ภายในหอประชุมเป็นห้องปรับอากาศทั้งห้อง มีเวทีขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้าใช้สำหรับการเรียนการสอน การประชุม การแสดงต่างๆด้านหลังเวทีเป็นบริเวณที่แต่งตัวของผู้แสดงมีชั้นลอย   ซึ่งใช้เป็นที่ตั้งของ ชมรมนาฎศิลป์และดนตรีไทย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมีบันใดขึ้นได้จากด้านหลังบริเวณสวนหลังศาลเจ้าพ่อเขตรอุดมศักดิ์และยังอยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ (พูนพิศ อมาตยกุล ๒๕๓๐ : ๔๓)