โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ป้องกันได้ด้วยตนเอง
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เกิดจากการติดเชื้อโรคของระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่จมูก คอ หลอดลมไปจนถึงปอด เชื้อที่เป็นสาเหตุส่วนใหญ่จากเชื้อไวรัส ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก และซาร์ส เป็นต้น การติดเชื้อจากแบคทีเรีย ได้แก่ ปอดบวม และวัณโรค เป็นต้น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่เกิดขึ้นได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ บางคนอาจเป็นปีละหลายครั้ง เช่น โรคหวัด สามารถหายได้เองโดยการดูแลสุขภาพตนเองอย่างถูกต้อง
การติดต่อโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ สามารถติดต่อได้หลายทาง คือ
- การไอ จาม หรือหายใจ รดกัน เชื้อโรคจะปนเปื้อนกับฝอยละอองของเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ฝอยละอองขนาดเล็กจะล่องลอยอยู่ในอากาศ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดสูดลมหายใจเข้าไปก็จะติดเชื้อได้
- การสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยโดยตรง จากการดูแลใกล้ชิดกับผู้ป่วย
- การสัมผัสกับสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ ช้อน จาน ชาม ของเล่น หนังสือ ฯลฯ หรือสิ่งสาธารณะที่แปดเปื้อนเชื้อโรค เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ราวโหนรถเมล์ เป็นต้น
การป้องกันโรค
การป้องกันโรคไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากผู้ป่วยไปสู่บุคคลอื่น สามารถปฏิบัติได้ง่ายๆโดยเริ่มจากตนเองก่อน เมื่อป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจควรปฏิบัติตนเพื่อลดการแพร่เชื้อ มีหลายวิธี ดังนี้
- ควรหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะมือเป็นตัวกลางสำคัญในการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยไปยังผู้อื่นโดยตรง
- ใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูปิดปากและจมูกเวลาไอ/จาม หลังใช้ควรทิ้งกระดาษลงถังขยะที่มีฝาปิด
- ควรแยกห้องนอน ไม่นอนปะปนร่วมกับคนอื่น
- ผู้ป่วยที่มีอาการไข้ และ ไอ ควรพักผ่อนอยู่กับบ้านจนกว่าอาการจะดีขึ้น หากมีความจำเป็นต้องไปในที่ชุมชน เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ โรงเรียน ที่ทำงาน รถประจำทาง และรถไฟฟ้า ฯลฯ
- ควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อป่วย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น
ดังนั้น เมื่อทุกท่านป่วยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม และวัณโรค ฯลฯ ท่านสามารถดูแลสุขภาพของตนเองเบื้องต้นได้ โดยการสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อเจ็บป่วย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปสู่ผู้อื่น และถ้าหากมีอาการป่วยรุนแรง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ที่สำคัญท่านต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ สำหรับญาติผู้ดูแลผู้ป่วยจำเป็นที่จะต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย และไม่ควรใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ ช้อน จาน ชาม ฯลฯ เป็นต้น
ที่มาของข้อมูล : สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข