ใครหลาย ๆ คนมักจะมีความเชื่อหรือความคิดเป็นของตัวเองกันอยู่แล้ว ทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี แต่ถ้าหากคิดไปเองจนขัดแย้งหรือเป็นไปไม่ได้กับความเป็นจริงอาจจะเข้าข่าย อาการของ โรคจิตหลงผิด ได้ ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่รักษาได้ แต่ต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง
โรคจิตหลงผิด (delusional disorder) คือ
โรคที่มีอาการผิดปกติทางความคิด โดยมีอาการ หลงผิด เป็นหลัก มักจะเชื่อมโยงความคิดในความเชื่อที่ผิดจากความเป็นจริงเป็นเวลามากกว่า 1 เดือน ผู้ป่วยโรคนี้ไม่พบว่ามีอาการประสาทหลอนเด่นชัดเหมือนที่พบในโรคจิตเภท (schizophrenia) พฤติกรรมที่แสดงออกมาจะไม่มีความแปลกประหลาดหรือผิดปกติที่เห็นชัดว่าแปลก ส่วนใหญ่ยังทำหน้าที่ของตนเองได้ตามปกติ ยกเว้นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับความ หลงผิดเช่น ผู้ป่วยที่มีอาการระแวงว่าตนถูกกลั่นแกล้ง อาจเก็บตัว หรือมีอารมณ์โกรธรุนแรง ที่สัมพันธ์กับอาการได้ มักเกิดในช่วงวัยกลางคนถึงสูงอายุ
อาการ ของโรคจิตหลงผิด
อาการของโรคแบ่งได้เป็น 5 ประเภท ดังนี้
1. Erotomanic type คือ หลงผิดคิดไปเองว่ามีคนหลงรักตน โดยเฉพาะบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น ดารา นักร้อง
2. Grandiose type คือ หลงคิดว่าตนเองยิ่งใหญ่ มีความสามารถเหนือคนอื่น หรือเป็นคนสนิทเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญ
3. Jealous type คือ คิดว่าตนเองกำลังถูกนอกใจ ไม่ซื่อสัตย์ โดยไม่มีหลักฐานหรือเหตุผล
4. Persecutory type คือ หวาดระแวงคิดว่ามีคนกลั่นแกล้ง หรือจะมาทำร้ายตนเอง
5. Somatic type คือ หลงผิดเกี่ยวกับร่างกาย คิดว่าตนเองรูปร่างผิดปกติ หรืออวัยวะทำงานบกพร่อง
สาเหตุของ โรคจิตหลงผิด
พันธุกรรม พบว่าผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็น โรคจิตหลงผิดหรือโรคจิตเภทมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากขึ้น
ปัจจัยด้านชีวภาพ สันนิษฐานว่าสมองที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้และความคิดทำงานผิดปกติ หรือสารชีวเคมีในสมอง (neurotransmitter) ที่ไม่สมดุลทำให้เกิด อาการ หลงผิดได้
ปัจจัยด้านจิตใจและสังคม เชื่อว่าการเลี้ยงดูในวัยเด็กที่ขาดความอบอุ่น โดยเฉพาะช่วงต้นที่พัฒนาความไว้วางใจ ส่งผลให้มีการใช้กลไกทางจิตที่ทำให้เกิดอาการตามมาได้ นอกจากนี้ยังพบในผู้ที่มีความเครียดสูง ได้รับความกดดันจากสภาวะทางสังคม
วิธีการรักษาโรคจิตหลงผิด
หากสงสัยว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวมีแนวโน้ม อาการ ที่จะเป็นโรคนี้ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษา
การรับประทานยาสม่ำเสมอ ติดตามนัดอย่างต่อเนื่อง เปิดใจพูดคุยเรื่องที่รบกวนจิตใจ จะทำให้ อาการ ของโรคหลงผิด ดีขึ้น
ความสัมพันธ์ที่ดีทั้งในครอบครัวและคนใกล้ชิดเป็นสิ่งที่สำคัญ ด้วยความเข้าใจและรับฟังสิ่งที่ผู้ป่วยคิดโดยไม่โต้แย้ง แต่ก็ไม่สนับสนุนความหลงผิดของผู้ป่วย ให้กำลังใจผู้ป่วยถ้ามีความเครียดหรืออารมณ์ที่เป็นสาเหตุหรือผลจากความหลงผิดนั้น
ข้อมูลจาก
รศ. พญ.ดาวชมพู นาคะวิโร
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
มาโนช หล่อตระกูล, ปราโมทย์ สุคนิชย์
บรรณาธิการ. ตำราจิตเวชศาสตร์ รามาธิบดี
ฉบับเรียบเรียงครั้งที่ 4. 2558.