กิจกรรมที่เราทำในแต่ละวันอาจทำให้เป็นตะคริวได้โดยไม่รู้ตัว เมื่อเป็นแต่ละครั้งจะเจ็บปวดอย่างมาก ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากเป็น เพราะหากเกิดขึ้นระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้
Home
ตะคริว สัญญาณบอกโรค
ตะคริว สัญญาณบอกโรค

กิจกรรมที่เราทำในแต่ละวันอาจทำให้เป็นตะคริวได้โดยไม่รู้ตัว เมื่อเป็นแต่ละครั้งจะเจ็บปวดอย่างมาก ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากเป็น เพราะหากเกิดขึ้นระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ แต่ทำไมคนเราถึงเป็นตะคริว และจริงไหมที่ตะคริวอาจเป็นสัญญาณบอกโรคบางอย่างได้

ตะคริว คืออะไร

ตะคริว คือ อาการหดเกร็งอย่างเฉียบพลันของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเกร็งเป็นก้อน ก่อให้เกิดความเจ็บปวดบริเวณที่เกิดตะคริว

 

ตะคริวเกิดขึ้นที่ไหนได้บ้าง

เกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย ส่วนมากมักเกิดที่กล้ามเนื้อน่องหรือขา เพราะเป็นกล้ามเนื้อที่ใช้งานบ่อย บางรายอาจเป็นที่แขนหรือมือจากการใช้งานคอมพิวเตอร์ ตะคริวในคนทั่วไปมักจะหายได้เองเมื่อพัก และสัมพันธ์กับกิจกรรมที่ทำ  แต่หากเป็นตะคริวบ่อยและเริ่มรบกวนการนอน ร่วมกับมีอาการอื่น เช่น ชา แสบร้อน พักแล้วไม่หาย ขาซีด ถือว่าเป็นตะคริวที่ไม่ปกติ ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย

ตะคริวเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย ส่วนมากมักเกิดที่กล้ามเนื้อน่องหรือขา เพราะเป็นกล้ามเนื้อที่ใช้งานบ่อย

สาเหตุของตะคริว

  1. กล้ามเนื้อเกร็ง เกิดอาการเมื่อยล้า อาจเกิดจากการเดินเยอะ 
  2. การอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ เช่น นั่งนาน ยืนบนพื้นแข็งเป็นเวลานาน
  3. โรคประจำตัว เช่น โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคพาร์กินสัน โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต กรณีนี้แพทย์จะให้ยาป้องกันการเกิดตะคริว

 

3 ความเชื่อเกี่ยวกับตะคริว 

ตะคริวเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนจึงมีความเชื่อที่มักจะถูกแชร์ต่อ ๆ กันมา ความเชื่อเหล่านี้ เรื่องไหนจริงหรือหลอก

ความเชื่อที่ 1 เป็นตะคริวบ่อยมีความเสี่ยงหลอดเลือดแดงแข็ง 

ความเชื่อนี้จริงบางส่วน เพราะตะคริวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากความเมื่อยล้า หรือบ่งบอกว่ามีโรคซ่อนอยู่ก็ได้ เช่น หลอดเลือดแดงแข็งตัว ไทรอยด์ หลอดเลือดสมอง ปอด เอ็นประสาทอักเสบ อย่างไรก็ตาม อาการปวดจากตะคริวมีความแตกต่างจากอาการปวดจากโรคที่ซ่อนอยู่ หากเป็นตะคริว กล้ามเนื้อจะเกร็ง เมื่อพักแล้วจะดีขึ้น แต่หากปวดจากโรคอื่น เช่น หลอดเลือดแดงแข็งตัว คนไข้จะรู้สึกเย็นและชาร่วมด้วย เมื่อเดินไปเรื่อย ๆ จะปวดมากขึ้น แต่เมื่อพักแล้วอาการจะหายไป

 

ความเชื่อที่ 2 เป็นตะคริวตอนนอน เพราะดื่มน้ำไม่พอ 

ความเชื่อนี้จริงบางส่วน การสูญเสียน้ำเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเป็นตะคริว สังเกตได้ว่านักกีฬาส่วนมากมักเป็นตะคริวจากการออกกำลังกายอย่างหนัก หรือเมื่อร่างกายเสียน้ำมาก และไม่ได้มีการยืดเหยียดร่วมด้วย ในคนทั่วไปที่ออกกำลังกายหรือเดินมาก และดื่มน้ำไม่เพียงพอก็อาจทำให้เป็นตะคริวได้ ฉะนั้น ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ และยืดเหยียดกล้ามเนื้ออย่างสม่ำเสมอในวันที่ออกกำลังกายหรือเดินเยอะ อาจยืนบนแท่นยืดเหยียดเพื่อช่วยคลายกล้ามเนื้อด้วยก็ได้

 

ความเชื่อที่ 3 เป็นตะคริวให้กินของเค็ม เพราะร่างกายขาดเกลือแร่

ความเชื่อนี้ไม่จริง หลายคนเชื่อว่ากินเค็มแล้วจะไม่เป็นตะคริว เพราะสับสนว่าเกลือแร่กับของเค็มเป็นเรื่องเดียวกัน หากร่างกายขาดเกลือแร่จนเกิดตะคริว แนะนำให้ทานแมกนีเซียมเสริม หรือทานอาหารที่มีแคลเซียมเพื่อป้องกันการเกิดตะคริว ซึ่งอาหารที่มีเกลือแร่หรือแมกนีเซียมพบได้ในเต้าหู้ น้ำเต้าหู้ และกล้วย 

แก้การเป็นตะคริว ด้วยวิธีง่ายๆ

แก้การเป็นตะคริว ด้วยวิธีง่าย ๆ

  1. ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ หากเป็นที่น่องให้กระดกขาขึ้นค้างเอาไว้สักพัก กล้ามเนื้อที่เกร็งจะค่อย ๆ คลายตัวลง 
  2. นวดเบา ๆ แต่ไม่ควรกด เพราะจะยิ่งเจ็บ 
  3. ประคบเย็นตรงที่มีอาการปวด จะช่วยให้หายเร็วขึ้น โดยทั่วไปเมื่อพักแล้วตะคริวจะหายได้เองใน 5 นาที หรือภายหลังการยืดเหยียด 2-3 นาที
แม้ตะคริวจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนเมื่อมีการใช้งานกล้ามเนื้ออย่างหนัก หรืออยู่ในท่าเดิมนาน ๆ แต่หากเรารู้วิธีรับมือและวิธีการป้องกันที่ถูกต้องก็จะลดโอกาสการเกิดตะคริว และการเจ็บกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงเมื่อเกิดตะคริวได้

 

ข้อมูลโดย

ผศ. ดร. นพ.ไพฑูรย์ เบ็ญจพรเลิศ 

ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความ เรื่อง อาการตกขาว สารคัดหลั่ง ภายในร่างกายของผู้หญิงที่ถูกขับออกจากช่องคลอด เกิดขึ้นได้ในผู้หญิงที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแตกต่างกันไปตามรอบเดือน
อาการตกขาว สารคัดหลั่งภายในร่างกายของผู้หญิงที่ถูกขับออกจากช่องคลอด เกิดขึ้นได้ในผู้หญิงที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแตกต่างกันไปตามรอบเดือน
Article
13-06-2024

1

บทความ เรื่อง ปวดท้อง แน่นท้อง เหนื่อย อ่อนเพลีย อุจจาระเป็นเลือด น้ำหนักลดลง อาจเป็นสัญญาณเตือนของ อาการมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็ง ที่พบบ่อย
ปวดท้อง แน่นท้อง เหนื่อย อ่อนเพลีย อุจจาระเป็นเลือด น้ำหนักลดลง อาจเป็นสัญญาณเตือนของ อาการมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งที่พบบ่อย
Article
12-06-2024

0

บทความ เรื่อง อาการคล้ายกับไข้หวัด มีน้ำมูก และเสมหะอยู่ตลอดเวลา อาการเหล่านี้อาจเสี่ยงเป็น ไซนัสอักเสบ โรคที่สามารถพบได้บ่อยในช่วงที่มีอากาศชื้น
อาการคล้ายกับไข้หวัด มีน้ำมูก และเสมหะอยู่ตลอดเวลา อาการเหล่านี้อาจเสี่ยงเป็น ไซนัสอักเสบ โรคที่สามารถพบได้บ่อยในช่วงที่มีอากาศชื้น
Article
11-06-2024

4

บทความ เรื่อง ปัญหาที่พบบ่อยมากขึ้นสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้เสียงอยู่ตลอดเวลาคือ อาการ เสียงแหบ เสียงหาย ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดปัญหาในชีวิตประจำวัน
ปัญหาที่พบบ่อยมากขึ้นสำหรับผู้ที่จำเป็นต้องใช้เสียงอยู่ตลอดเวลาคือ อาการ เสียงแหบ เสียงหาย ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดปัญหาในชีวิตประจำวัน
Article
10-06-2024

4