รังสีรักษาคืออะไร

รังสีรักษา 

เป็นวิธีการรักษาเนื้องอกทั้งชนิดมะเร็ง และไม่ใช่มะเร็ง โดยใช้รังสีพลังงานสูง ที่มีคุณสมบัติในการเกิดการแตกตัวเป็นไอออน ซึ่งสามารถทำลายสารพันธุกรรมในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม ผลที่เกิดขึ้นจากการได้รับรังสีนั้นเกิดได้ทั้งกับเซลล์ปกติและเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งในเซลล์ปกติจะมีคุณสมบัติสามารถซ่อมแซมส่วนที่เสียหายจากรังสีได้ โดยเซลล์ดังกล่าวจะสามารถมีชีวิตอยู่รอดและเจริญเติบโตต่อไปได้ แต่สำหรับเซลล์ผิดปกติที่ขาดคุณสมบัติในการซ่อมแซมตัวเองแล้วนั้น รังสีจะยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ รวมถึงทำลายกลุ่มเส้นเลือดที่นำสารอาหารมาหล่อเลี้ยงเซลล์เหล่านั้นด้วย ทำให้เซลล์ที่ผิดปกติอาจตายได้ในที่สุด รังสีที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือ รังสีเอกซ์พลังงานสูง ซึ่งสามารถแบ่งประเภทของการใช้ลำรังสีออกเป็น 2 ประเภทคือ

  1. การฉายรังสีระยะใกล้ (Brachytherapy) หรือ การใส่แร่ เป็นการฉายรังสีซึ่งแหล่งกำเนิดรังสีอยู่ใกล้กับบริเวณที่ต้องการรักษา เพื่อที่สามารถให้ปริมาณรังสีมากที่ก้อนที่ต้องการฉาย และปริมาณรังสีลดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อระยะทางห่างจากก้อนมากขึ้น ทำให้ลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการที่อวัยวะข้างเคียงได้รับรังสีได้ โดยการใส่อุปกรณ์ที่สามารถใส่เม็ดกัมมันตรังสีเข้าไปอยู่ภายในตัวผู้ป่วย วางแผนการรักษาโดยการคำนวณตำแหน่งและเวลาในการฉายรังสี ร่วมกับการใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือ อัลตร้าซาวด์ ในการช่วยการระบุตำแหน่งของเครื่องมือ ซึ่งมักนิยมใช้ในบริเวณที่สามารถใส่แหล่งกำเนิดรังสีเข้าไปได้ เช่น บริเวณปากมดลูก ต่อมลูกหมาก เต้านม ศีรษะและลำคอ เมื่อทำการรักษาเสร็จแล้วในแต่ละครั้ง จะมีการนำเม็ดกัมมันตรังสีออกจากตัวผู้ป่วย โดยจะไม่มีรังสีตกค้างในตัวผู้ป่วย

  1. การฉายรังสีระยะไกล (External beam radiation therapy : EBRT)  หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อ การฉายรังสี หรือ การฉายแสง เป็นการฉายรังสีซึ่งแหล่งกำเนิดรังสีอยู่ภายนอกร่างกายผู้ป่วย แล้วจึงทำการกำหนดขอบเขตที่ต้องการฉายที่ตัวผู้ป่วย โดยมีหลักการคือ บริเวณก้อนที่ต้องการฉายรังสีได้รับปริมาณรังสีสูงที่สุด ในขณะที่ผลข้างเคียงของอวัยวะปกติจากการได้รับรังสีเกิดขึ้นน้อยที่สุด อย่างสมเหตุสมผล ซึ่งวิธีนี้ถือเป็นวิธีการฉายรังสีที่พบได้มากที่สุดในงานทางรังสีรักษา 

ซึ่งสามารถแบ่งการฉายรังสีระยะไกลตามเทคนิคการฉายรังสีได้ดังนี้

  • การฉายรังสีแบบ 2 มิติ (Conventional Radiotherapy) เป็นการฉายรังสีแบบดั้งเดิม ที่ไม่ซับซ้อน ใช้เวลาไม่นาน เป็นเทคนิคการรักษาใช้ข้อมูลภาพถ่ายทางการแพทย์ของผู้ป่วยเพียง 1 ระนาบ แนวกว้างและยาวเท่านั้น ใช้เครื่องเอกซเรย์ฟลูออโรสโคปี (Fluoroscopy) ในการกำหนดขอบเขตการฉายรังสี มีจำนวนทิศทางเข้าของลำรังสีจำกัด รูปร่างของลำรังสีเป็นรูปร่างอย่างง่าย เช่น สี่เหลี่ยม ซึ่งเทคนิคนี้มีข้อจำกัดคืออาจยังไม่สามารถลดผลข้างเคียงที่เกิดกับอวัยวะข้างเคียงได้เท่าที่ควร ซึ่งในปัจจุบันเทคนิคนี้ถูกแทนที่ด้วยเทคนิคการฉายรังสีที่สามารถปรับลำรังสีที่มีให้เหมือนกับรูปร่างของก้อนที่ต้องการฉายได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเทคนิคนี้ยังคงมีบทบาทในการฉายบรรเทาอาการ ที่ต้องการความรวดเร็ว ทำทุกขั้นตอนได้ภายในวันเดียวกัน 
  • การฉายรังสีแบบ 3 มิติ (Three dimension conformal Radiotherapy : 3D-CRT) เป็นการฉายรังสี ที่นำภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถให้ข้อมูลภายในร่างกายผู้ป่วยแบบ 3 มิติ คือแนวกว้าง ยาว และลึก เพื่อใช้ในการวางแผนการรักษาและคำนวณปริมาณรังสี สามารถวาดก้อนที่ต้องการฉายและอวัยวะข้างเคียงได้ มีการนำชุดอุปกรณ์กำบังรังสีแบบซี่ (Multileaf collimators, MLC) มาใช้เพื่อปรับรูปร่างลำรังสีที่ออกมาให้มีลักษณะใกล้เคียงกับก้อนที่ต้องการฉาย และช่วยลดปริมาณรังสีที่อวัยวะข้างเคียงได้รับ อย่างไรก็ตามในบางกรณีที่ต้องการให้ก้อนที่ต้องการฉายได้รับปริมาณรังสีตามที่กำหนด แต่ต้องการลดปริมาณรังสีที่อวัยวะข้างเคียงได้รับ เทคนิคการฉายรังสีแบบ 3 มิตินั้นไม่สามารถใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายได้ เช่น ในกรณีที่ก้อนที่ต้องการจะฉายโอบล้อมไขสันหลัง 
  • การฉายรังสีแบบปรับความเข้ม (Intensity Modulated Radiation Therapy : IMRT) เป็นเทคนิคการฉายรังสีที่ซับซ้อนมากขึ้นจากการฉายรังสีแบบ 3 มิติ มีชุดอุปกรณ์กำบังรังสีแบบซี่ (Multileaf collimators, MLC) ที่นอกจากจะช่วยปรับลำรังสีที่ออกมามีลักษณะเหมือนกับก้อนที่ต้องการฉายแล้ว ยังสามารถปรับความเข้มในแต่ละพื้นที่ให้แตกต่างกัน ปริมาณรังสีที่ออกมามีความเหมือนและสอดคล้องกับก้อนที่ต้องการฉาย อีกทั้งยังมีทิศทางการเข้าของลำรังสีที่มากขึ้นด้วย ประมาณ 5-11 ทิศทาง จากการกำหนดมุมของหัวเครื่องฉายรังสีที่ตำแหน่งต่างๆกัน เพื่อให้ก้อนที่ต้องการฉายได้รับปริมาณรังสีตามที่กำหนด และยังลดปริมาณรังสีที่อวัยวะข้างเคียงได้รับ ลดการเกิดอาการข้างเคียงลงได้ เหมาะกับกรณีของตำแหน่งก้อนที่ต้องการฉายอยู่ใกล้กับอวัยวะที่สำคัญ และต้องการลดปริมาณรังสีที่อวัยวะข้างเคียงนั้นได้รับ สำหรับข้อจำกัดของเทคนิคนี้คือเวลาในการฉายนานขึ้นมีโอกาสที่ผู้ป่วยจะขยับระหว่างการฉายรังสีมากขึ้น และเวลาในการวางแผนการรักษาที่นานขึ้นเมื่อเทียบกับเทคนิคการฉายรังสีแบบ 3 มิติ
  • การฉายรังสีแบบปรับความเข้มหมุนรอบตัวผู้ป่วย (Volumetric Intensity Modulated Arc Therapy :VMAT) เป็นการฉายรังสีแบบปรับเปลี่ยนความเข้มในแต่ละพื้นที่ของก้อนที่ต้องการฉายให้แตกต่างกัน และให้รังสีต่อเนื่องขณะที่หัวเครื่องฉายรังสีหมุนรอบตัวผู้ป่วย โดยประกอบด้วยการเคลื่อนที่ของชุดอุปกรณ์กำบังรังสีแบบซี่ (Multileaf collimators, MLC), การปรับเปลี่ยนอัตราปริมาณรังสีต่อนาที (Dose rate) และ การหมุนของหัวเครื่องฉายรังสีหมุนอย่างต่อเนื่องระหว่างการฉายแสง ทำให้สามารถลดเวลาในการฉายรังสีให้สั้นลงได้ ลดโอกาสที่ผู้ป่วยจะขยับระหว่างการฉายรังสีลงได้ ในขณะที่ยังคงมีความสามารถในการปรับลำรังสีให้เหมือนกับก้อนเนื้องอก และลดผลข้างเคียงที่เกิดจากการที่อวัยวะข้างเคียงได้รับรังสีลงได้
  • การฉายรังสีร่วมพิกัด (Stereotactic Radiation Therapy) เป็นหนึ่งในเทคนิคการฉายรังสีโดยให้ปริมาณรังสีที่สูงไปยังรอยโรค โดยใช้ลำรังสีที่มีขนาดลำรังสีเหมาะสมกับรอยโรค ปริมาณรังสีสูงต่อครั้งการฉาย และลดจำนวนครั้งการฉายรังสีลง ดังนั้นจึงต้องอาศัยความถูกต้องแม่นยำเป็นอย่างมาก ซึ่งรังสีร่วมพิกัด สามารถแบ่งตามตำแหน่งของรอยโรคได้ดังนี้

รอยโรคในสมอง (Intracranial lesion)

แบ่งเทคนิคการฉายออกเป็น 2  แบบ ดังนี้

  1. Stereotactic radiosurgery (SRS) การให้ปริมาณรังสีสูงมากเพียง 1 ครั้ง 
  2. Stereotactic Radiation Therapy (SRT) เป็นการให้ปริมาณรังสีสูง จำนวนครั้งการฉาย 2- 5 ครั้ง 

รอยโรคบริเวณอื่นๆ ภายนอกสมอง (Extracranial lesion)

เช่น ปอด ตับ ต่อมลูกหมาก เป็นต้น เรียกเทคนิคการฉายชนิดนี้ว่า Stereotactic body radiation therapy (SBRT) โดยส่วนใหญ่มักมีจำนวนครั้งการฉายอยู่ระหว่าง 3-5 ครั้ง