ความรู้ทั่วไปในการฉายรังสีร่วมพิกัด (Stereotactic radiation therapy)
การฉายรังสีร่วมพิกัด (stereotactic radiotherapy) หรือ รังสีศัลยกรรม (stereotactic radiosurgery) เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2492 โดยนายแพทย์ Lars Leksell ศัลยแพทย์สมองชาวสวีเดน โดยในยุคแรกของการฉายรังสีร่วมพิกัดนี้ ต้องใช้เครื่องมือที่เรียกว่า stereotactic frame เป็นองค์ประกอบสำคัญในการฉายรังสี ซึ่งก่อนจะทำการรักษา แพทย์จะต้องทำการยึด stereotactic frame ให้ติดกับกะโหลกศีรษะของผู้ป่วย เพื่อทำให้ศีรษะของผู้ป่วยไม่ขยับ และสามารถระบุตำแหน่งของรอยโรคในสมองโดยอ้างอิงจากตำแหน่งของ stereotactic frame การฉายรังสีร่วมพิกัดแบบที่ใช้ stereotactic frame นี้มีข้อดีคือมีความถูกต้องแม่นยำในการฉายรังสีที่สูงมาก และมีจำนวนครั้งในการฉายรังสีน้อย (ประมาณ 1-5 ครั้ง) แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องการใส่ frame ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวดจากการใส่ frame และ สามารถใช้ได้แต่รอยโรคในสมองเท่านั้น จึงทำให้มีการพัฒนาระบบการฉายรังสีร่วมพิกัดชนิดที่ไม่ต้องใช้ stereotactic frame (Frameless stereotactic radiotherapy) ที่ใช้ในปัจจุบันอย่างแพร่หลาย โดยระบบการฉายแสงชนิดนี้สามารถรักษาลักษณะเฉพาะของการฉายรังสีร่วมพิกัด คือ การฉายรังสีปริมาณสูงไปยังเป้าหมายด้วยความถูกต้องแม่นยำที่สูงมาก โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องใส่ frame ทำให้สามารถใช้รักษาโรคที่อยู่นอกสมองได้อีกด้วย (Stereotactic Body Radiation Therapy: SBRT)
Credit picture: SpringerLink
History of Stereotactic Neurosurgery in the Nordic Countries | SpringerLink
ตัวอย่างเครื่องฉายรังสีที่ใช้ในการฉายรังสีร่วมพิกัด ที่ศูนย์รังสีศัลยกรรม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
เครื่องฉายรังสี CyberKnife® | เครื่องฉายรังสี Edge® |
ข้อบ่งชี้ในการฉายรังสีร่วมพิกัด
รอยโรคในสมอง
- เนื้องอกสมองชนิดธรรมดา ที่ได้รับการผ่าตัดไม่หมด หรือไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ หรือ มีการกลับเป็นซ้ำ เช่น Meningioma, Vestibular schwannoma, Pituitary adenoma เป็นต้น
- มะเร็งที่มีการกระจายมาที่สมอง (Brain metastasis)
- มะเร็งของเนื้อสมองที่มีการกลับเป็นซ้ำ (recurrent glioma)
- เส้นเลือดในสมองผิดปกติ (Arteriovenous malformation)
- อาการปวดบริเวณใบหน้าจากประสาทสมองคู่ที่ 5 (Trigeminal neuralgia)
รอยโรคนอกสมอง
- มะเร็งปอดขั้นต้น ที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ (Inoperable early stage lung cancer)
- มะเร็งตับ (Hepatocellular carcinoma)
- มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer)
- มะเร็งที่มีการกระจายไปยังอวัยวะต่างๆ ตามร่างกาย ที่จำนวนไม่มากเกินไป (Oligometastasis)
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ตามด้านบน มีความจำเป็นต้องพบรังสีรักษาแพทย์ก่อน เพื่อพิจารณารายละเอียดในแต่ละบุคคลว่าเหมาะสมในการฉายรังสีร่วมพิกัดหรือไม่