ประวัติความเป็นมา

  

ประวัติ
    

ปี พ.ศ. 2512 ก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีก่อตั้ง โดยจัดการปฏิบัติงานดูแลรักษาผู้ป่วยเป็นลักษณะเฉพาะ ได้แก่ อายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา และกุมารเวชศาสตร์ ต่อมาผู้ป่วยมีปริมาณมาก แพทย์ในแต่ละสาขาเฉพาะไม่สามารถจัดเวรลงมาดูแลผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการได้ทัน

ปี พ.ศ.2513 คณะจึงได้จัดตั้ง “หน่วยตรวจเวชปฏิบัติทั่วไป” สังกัดสำนักงานคณบดี เพื่อให้มีแพทย์ในสังกัด ทำหน้าที่เป็นแพทย์ปฐมภูมิ (Primary medical care) รับผิดชอบงานการให้บริการทางการแพทย์ด่านหน้าโดยเฉพาะ

ปี พ.ศ.2514 คณะรับผิดชอบ “การฝึกอบรมแพทย์หลังปริญญาเฉพาะทางสาขาเวชปฏิบัติทั่วไป (General Practitioner Residency Training) ตามความต้องการของแพทยสภา ซึ่งเป็นที่นิยมของแพทย์เฉพาะในระยะแรก ต่อมาเสื่อมความนิยมลง แพทยสภาจึงได้แนะนำให้มีการเปลี่ยนชื่อสาขาวิชาจากเวชปฏิบัติทั่วไปเป็น Family physician และให้มีหน่วยงานปฏิบัติรองรับที่ชัดเจน รวมถึงปรับปรุงหลักสูตรเพื่อสามารถนำไปใช้อบรมต่อยอดได้

ปี พ.ศ.2530 หน่วยตรวจเวชปฏิบัติทั่วไป เริ่มมีส่วนร่วมในการสอนรายวิชาผสมผสาน ชื่อรายวิชา “บทนำทางคลินิก” สำหรับนักศึกษาแพทย์ปีที่ 3 และคณะเห็นว่ามีทรัพยากรเหมาะสมเพียงพอสำหรับนักศึกษาแพทย์ จึงเปิดสอนรายวิชา “เวชปฏิบัติทั่วไป RAID401 สำหรับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 โดยนักศึกษาทั้ง 120 คนจะแบ่งกลุ่มหมุนเวียนมาเรียนครั้งละ 2 สัปดาห์ จำนวน 8 กอง/ปีการศึกษา

ปี พ.ศ.2536 คณะจึงมีดำริให้ปรับหน่วยเวชปฏิบัติทั่วไป จัดตั้งขึ้นเป็น “ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว” เพื่อให้รองรับการขยายงานด้านการบริการและการศึกษา ตามคำแนะนำของแพทยสภา เรื่องการเปลี่ยนชื่อสาขา การจัดองค์กรรองรับที่ชัดเจน และการปรับปรุงหลักสูตร เมื่อจัดตั้งเป็นภาควิชา จะทำให้มีบทบาทสำคัญแนวใหม่ในทางแพทยศาสตร์ สอนเวชปฏิบัติทั่วไปและเวชศาสตร์ครอบครัวในระดับนักศึกษาแพทย์เป็นพื้นฐาน แล้วสนับสนุนการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางและการศึกษาต่อเนื่องรูปแบบอื่น ซึ่งเป็นฐานวิชาการจนทำให้มีแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปหรือเวชปฏิบัติครอบครัวที่มีคุณภาพ

ปี พ.ศ.2544 คณะสนับสนุนให้ภาคฯเปิดการฝึกอบรม “หลักสูตรแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว” ขึ้นใหม่ ทดแทนหลักสูตรเฉพาะทางเวชปฏิบัติทั่วไปที่ไม่ได้รับความนิยม โดยเปิดรับแพทย์ฝึกอบรมเฉพาะทางเวชศาสตร์ครอบครัวของคณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี รุ่นที่ 1 จำนวน 1 คน นับเป็นการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวรุ่นที่ 3 ของราชวิทยาลัย

ตั้งแต่นั้นมาภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีก็มีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนการสอนทั้งระดับปริญญาและหลังปริญญา และมีระบบบริการที่เป็นต้นแบบสำคัญของประเทศ โดยมีบทบาทในการจัดการเรียนการสอนให้นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4-6 ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมาอย่างสม่ำเสมอ และมีการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 23 ปี มีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาวุฒิบัตรฯแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ครอบครัวแล้วจำนวน 20 รุ่น รวมทั้งหมด 159 คน

 

ด้านการศึกษา
     มีการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตรเวชศาสตร์ครอบครัว  สำหรับนักศึกษาแพทย์ปีที่ 4  ตั้งแต่เริ่มเปิดภาควิชาฯ จนถึงปัจจุบันมีการจัดการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 และปีที่ 6  ทั้งนี้ในหลักสูตรของชั้นปีที่ 5  มีการจัดให้ความรู้ทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ด้วย  และในปี พ.ศ. 2544 ได้เริ่มเปิดการอบรมหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว

ด้านการบริการ
     มีการตรวจโรคสำหรับผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลเป็นครั้งแรก เกี่ยวกับ โรคทั่วไป โรคเรื้อรังที่ไม่ซับซ้อนและสามารถรักษาได้เบ็ดเสร็จที่แผนกตรวจโรคผู้ป่วยนอก  รวมทั้งการเยี่ยมบ้านที่อยู่ในความดูแลของคลินิกสุขภาพชุมชน  นอกจากนี้ยังมีการบริการบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตพญาไท

งานวิจัย
     ภาควิชาฯ มีงานวิจัยพื้นฐานเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วย  การบริการสุขภาพและการวิจัยเชิงปฏิบัติการ  นอกจากนี้ยังมีบทบาททางวิชาการซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และบุคคลทั่วไป

งานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย
     ให้การสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมและธำรงไว้ซึ่งประเพณีอันดี  ที่ทางคณะฯ และภาควิชาฯ จัดขึ้นทุกปี  เช่น  งานไหว้ครู  งานเกษียณอายุราชการ  งานประเพณีในเทศกาลต่างๆ เช่น  วันสงกรานต์  วันลอยกระทง ฯลฯ