เรียนวิชาหมอ กับร่าง “อาจารย์ใหญ่”

Volume: 
ฉบับที่ 52 เดือนเมษายน 2567
Column: 
Health Station
Writer Name: 
เรื่อง : ดนัย อังควัฒนวิทย์ ภาพ : วรรณวิมล มุณีแนม, เอกพจ นรวรานนท์

คงเคยได้ยินคำว่า “อาจารย์ใหญ่” กันมาบ้างใช่ไหมครับ

“อาจารย์ใหญ่” ที่ไม่ใช่อาจารย์ที่ยืนสอนเราในชั้นเรียน ไม่ใช่อาจารย์ที่สื่อสารกับเราด้วยคำพูด ไม่ใช่อาจารย์ในห้องเรียนทั่วไป แต่เป็นอาจารย์ใหญ่ที่อุทิศร่างกายตัวเองเพื่อเป็นหนังสือเรียนเล่มใหญ่ในชั่วโมงเรียนกายวิภาคศาสตร์

ที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เป็นอีกแหล่งการเรียนรู้ที่มีการเรียนการสอนผ่านร่างอาจารย์ใหญ่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสถาบันที่มีการเติบโตทางการศึกษาแห่งหนึ่งของประเทศ คอลัมน์ Health Station ฉบับนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับ การเรียนการสอนผ่านร่างอาจารย์ใหญ่ รวมทั้งการบริจาคร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่ มาฝากกัน..ผ่านบทสัมภาษณ์ อาจารย์ ดร.เบญริตา จิตอารี โรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ไปติดตามกันเลยครับ...

  • ความสำคัญของการเรียนกับร่างอาจารย์ใหญ่ในโรงเรียนแพทย์

การเรียนกายวิภาคศาสตร์หรือการเรียนกับอาจารย์ใหญ่เป็นวิชาพื้นฐานของนักศึกษาแพทย์ รวมทั้งสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์สุขภาพด้วย ซึ่งก่อนจะเป็นแพทย์ต้องรู้จักโครงสร้างของมนุษย์ว่าในร่างกายของเรามีโครงสร้างอวัยวะหรือว่าชิ้นส่วนอวัยวะต่าง ๆ อะไรบ้าง ต้องเข้าใจหน้าที่ของโครงสร้างอวัยวะ ของร่างกาย ซึ่งการเรียนก็จะมีหลายรูปแบบ สมัยก่อนก็จะเรียนแบบเปิด textbook อ่าน ซึ่งไม่ได้เหมือนกับการเรียนในร่างอาจารย์ใหญ่จริง เพราะทำให้ไม่เห็นถึงลักษณะโครงสร้างเนื้อเยื่อจริง ฉะนั้น วิธีการที่จะทำให้เรียนรู้ดีที่สุดคือ เรียนผ่านร่างอาจารย์ใหญ่

เราเรียกชั่วโมงเรียนนี้ว่า การเรียนกายวิภาคศาสตร์ ที่จะได้ทำการผ่าร่างอาจารย์ใหญ่ ได้จับ ได้สัมผัส Texture ได้เข้าใจมิติของร่างกาย นอกจากนี้ ปัจจุบันที่นี่ก็มีการเรียนการสอนในอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ การใช้เทคโนโลยี Virtual Reality (VR) หรือแว่นเสมือนจริง ที่เห็นร่างอาจารย์ใหญ่ผ่านแว่น เป็นเทคโนโลยีโลกเสมือนจริงที่เข้ามาช่วยเสริมการเรียนรู้ แต่อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีก็ยังไม่สามารถทดแทนการเรียนผ่านร่างอาจารย์ใหญ่ได้ และมนุษย์ทุกคนมีโครงสร้างร่างกายที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นแล้ว ร่างอาจารย์ใหญ่จะทำนักศึกษาได้เรียนรู้ลักษณะที่แตกต่างกันออกไปได้ด้วย

  • นักศึกษาแพทย์เรียนกับอาจารย์ใหญ่ในระดับชั้นใดบ้าง ?

    ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีจะเรียนในชั้นปีที่ 2 ในรายวิชากายวิภาคศาสตร์คลินิก หรือ Clinical Anatomy ซึ่งจะผ่ากันประมาณ 8-9 สัปดาห์ เรียน lecture สลับกับเรียนผ่าร่างอาจารย์ใหญ่ 

    “ที่สนใจมาเป็นครูผู้สอนวิชากายวิภาคศาสตร์ ที่เรียนกับอาจารย์ใหญ่ เพราะว่าชอบทางด้านนี้ มีความสุขที่ได้ผ่าร่างอาจารย์ใหญ่ ได้เรียนรู้กับอาจารย์ใหญ่ ซึ่งรู้ว่ามีน้อยคนมากที่จะมาทำตรงนี้ ที่สำคัญการได้เห็นโครงสร้างร่างกายมนุษย์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละร่างฯ ทำให้รู้สึกว่าแท้ที่จริงกายวิภาคศาสตร์มีอะไรให้เรียนรู้อีกมากมาย และส่วนตัวสนุกกับการเตรียมการสอนให้นักศึกษาแพทย์ มีคนถามว่าไม่กลัวเหรอ ก็ไม่กลัวนะคะ และก็ยังไม่เคยเจอเรื่องราวแบบแปลก ๆ ค่ะ”
  • ร่างอาจารย์ใหญ่ส่วนมากมีอายุเท่าใด ?

ส่วนใหญ่แล้วเราจะได้เคสร่างฯ ผู้สูงอายุมาเป็นร่างอาจารย์ใหญ่ และก็จะเป็นการเสียชีวิตด้วยโรคทางธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ ส่วนใหญ่ร่างฯ จะมีอายุมากกว่า 60 ปี น่าจะเป็นวัยที่มีการบริจาคร่างกายไว้ก่อนนานมากแล้ว จะไม่ค่อยได้รับร่างที่อยู่ในวัยรุ่น แต่ก็พอมีอยู่บ้าง 

  • ขั้นตอนการไปรับร่างมาเป็นอาจารย์ใหญ่เป็นอย่างไร ?

ผู้บริจาคร่างฯ ไว้จะแจ้งความประสงค์ไว้ก่อนเสียชีวิตเป็นเวลาหลายปี วันหนึ่งที่เขาเสียชีวิตเราจะไม่ทราบเลย ดังนั้น ทุกครั้งที่มีการบริจาคร่างกายกับเรา จะพยายามเน้นย้ำกับผู้บริจาคว่าจะต้องแจ้งญาติ คนใกล้ตัวหรือลูกหลานเอาไว้ว่าได้บริจาคร่างกายเอาไว้กับที่ใด อย่างที่รามาธิบดีก็จะมีการออกบัตรผู้บริจาคร่างกาย เพื่อแสดงให้ทราบว่าบริจาคร่างกายไว้กับที่นี่ เมื่อเสียชีวิตแล้ว ญาติก็จะโทรมาแจ้งว่าผู้บริจาคได้แสดงความประสงค์เอาไว้

หลังจากแจ้งเสียชีวิตกับเราแล้ว เบื้องต้นเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบก่อน อย่างที่รามาธิบดีจะมีขั้นตอนคือ ตรวจทางโทรศัพท์ โดย Add LINE ถ่ายรูปผู้เสียชีวิตส่งมา (รูปจะถูกเก็บไว้ในระบบ Security) เพื่อเช็กคุณภาพความสมบูรณ์ของร่างฯ ในเบื้องต้น จากนั้นทำการอธิบายขั้นตอนต่าง ๆ กับญาติ เช่น กรณีญาติต้องการจัดพิธีทางพระพุทธศาสนา ก็จะอนุญาตให้จัดพิธีทางศาสนาได้ 1 คืน (ไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังเสียชีวิต) และต้องนำร่างฯ ไว้ในโลงเย็นเพื่อรักษาสภาพร่างฯ เอาไว้ไม่ให้เนื้อเยื่อสูญเสียไป และห้ามฉีดน้ำยาให้กับร่างฯ จากนั้นจะกำหนดวัน เวลา ที่เจ้าหน้าที่จะไปรับร่างฯ โดยใช้รถที่มีระบบควบคุมอุณหภูมิออกไปรับร่างฯ

เมื่อเจ้าหน้าที่ออกไปรับร่าง ก็จะมีเกณฑ์การตรวจโรคก่อนว่ามีโรคติดต่ออะไรหรือไม่ ผ่านชุด kit ตรวจโรค เช่น HIV วัณโรค ไวรัสตับอักเสบ โควิด-19 เมื่อรับร่างฯ มาแล้วก็จะทำการฉีดน้ำยา แล้วเก็บรักษาสภาพร่างไว้

  • รูปแบบการจัดเตรียมร่างอาจารย์ใหญ่ ?

การจัดเตรียมร่างฯ มีด้วยกัน 2 แบบคือ แบบฟอร์มาลีน และแบบนุ่ม ซึ่งทางเรามีการใช้น้ำยาสูตรพิเศษที่ใช้ในการรักษาร่างฯ แบบนุ่ม โดยแบบนุ่มจะจัดเตรียมเพื่อพันธกิจทางการศึกษาของนักศึกษาแพทย์ระดับชั้นคลินิก แพทย์ประจำบ้าน หรือแพทย์ประจำบ้านต่อยอด และการบริการวิชาการ เช่น การฝึกผ่าตัดของแพทย์เฉพาะทาง โดยร่างฯ แบบนุ่มจะมีความนุ่ม มีเนื้อเยื่อ มีการเคลื่อนไหวของข้อต่อได้ ที่เสมือนกับคนที่ยังมีชีวิต ส่วนแบบฟอร์มาลีนจะใช้เตรียมการสำหรับการเรียนของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 ที่จะเรียนในระยะยาว ซึ่งร่างแบบฟอร์มาลีนจะอยู่ในอุณหภูมิห้องได้เป็นปี การรับร่างมาแล้วจะใช้ในรูปแบบใดจะขึ้นอยู่กับว่าในช่วงเวลานั้นมีความจำเป็นหรือมีความต้องการใช้งานอย่างไร 

  • การเรียนของนักศึกษาแพทย์ต่อร่างอาจารย์ใหญ่ กำหนดไว้อย่างไร ?

อาจารย์ใหญ่ 1 ร่างก็จะจัดให้นักศึกษาเรียนที่ 4-6 คน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนร่างอาจารย์ใหญ่ที่ได้รับมาในแต่ละปีด้วย แต่จำนวนที่เหมาะสมคือนักศึกษา 4 คน ต่อ 1 ร่างฯ ที่จะทำให้ได้เรียนรู้จากการผ่ามากที่สุด นักศึกษาแพทย์ทุกคนจะได้เรียนรู้ว่านี่ลักษณะเนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น นี่คือผิวหนัง เส้นประสาท ได้เรียนรู้ด้วยมือของตัวเอง ได้จดจำและเข้าใจ ได้อาศัยการช่วยกันเป็นทีมในชั่วโมงเรียน ซึ่งการผ่าจากของจริงจะช่วยเติมเต็มการเป็นแพทย์ของเขาได้มาก อาจารย์ใหญ่จึงเป็นเหมือนเป็นคนไข้คนแรกในชีวิตของนักศึกษาแพทย์
        ข้อสำคัญอีกประการคือ การให้ความเคารพต่ออาจารย์ใหญ่และญาติ โดยก่อนเริ่มเรียนจะมีการจัดพิธีทำบุญอาจารย์ใหญ่ก่อน มีการเชิญญาติของอาจารย์ใหญ่เข้ามาร่วมงาน โดยมีนักศึกษาเป็นคนจัดงาน เพื่อมุ่งหวังให้นักศึกษาได้ติดต่อสื่อสารกับญาติ ให้ได้รู้สึกว่าญาติอาจารย์ใหญ่ก็เปรียบเสมือนญาติคนหนึ่งของเขา เป็นผู้มีพระคุณกับเขา เมื่อเรียนกับร่างอาจารย์ใหญ่จนสำเร็จแล้ว ก็จะจัดพิธีพระราชทานเพลิงเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจะเชิญญาติมาร่วมเป็นเกียรติในพิธีที่จัดให้สมกับพระคุณที่ผู้บริจาคท่านได้มอบให้กับเรา

  • หากต้องการบริจาคร่างที่รามาธิบดี ทำได้อย่างไร ?

สามารถแจ้งความประสงค์ได้ โดยมาที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ อาคารกายวิภาคทางคลินิก แล้วทำการกรอกแบบฟอร์ม โดยเอกสารที่ต้องเตรียมมา ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน และที่อาคารแห่งนี้นอกจากจะเปิดรับบริจาคร่างกายแล้ว สิ่งหนึ่งที่พิเศษที่ทางเราตั้งใจทำขึ้นมา ก็คือ หอแห่งความตั้งใจ เป็นหอเกียรติยศที่เราให้ความสำคัญกับอาจารย์ใหญ่ผู้ที่บริจาคร่างกายให้กับเรา ที่เราอยากจะเชิดชูเกียรติในความตั้งใจของท่าน โดยเราจะมีการเก็บประวัติของท่านไว้ในห้องรูปวงกลม ซึ่งเป็นที่แรกในประเทศไทยที่มี แล้วอาจจะขอเก็บสิ่งแทนใจของอาจารย์ใหญ่ เช่น เล็บ เสื้อผ้า ไว้ในตู้กระจก เพื่อให้ญาติได้ร่วมรำลึกและญาติสามารถกลับมาที่นี่ได้ตลอดเวลา ให้เป็นไปตามคอนเซปต์เหมือนเป็นบ้านหลังสุดท้ายอีกหลังหนึ่งของอาจารย์ใหญ่ 

การบริจาคร่างกายเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่ นอกจากจะสุขทางใจแล้ว ยังได้ส่งต่อสิ่งสำคัญที่สุดให้คนข้างหลังได้ศึกษาต่ออีกด้วย

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF: 
  เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
เนื้อหาภายในฉบับที่ 52