ผลกระทบระยะยาวของการติด COVID-19 (Long-term effects of COVID-19 หรือ Long COVID-19)

Volume: 
ฉบับที่ 42 เดือนตุลาคม 2564
Column: 
Health Station
Writer Name: 
อ. พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้ป่วยหลายคนสงสัยว่า

ทำไมหายจาก COVID-19 แล้วยังเหนื่อย ๆ เพลีย ๆ อยู่เลย 

หรือว่าเราจะเป็น Long COVID-19?

    ภาวะ Long COVID-19 หรือที่เรียกว่า ลองโควิด-19 คือ โรคโควิด-19 ที่เป็นยาวนานกว่าปกติ บางครั้งมีการเรียกว่า Post-COVID-19 conditions คือ การที่ยังมีอาการผิดปกติยาวนานกว่า 4  สัปดาห์ ขณะที่คนส่วนใหญ่ที่ติด COVID-19 มักจะหายไปในไม่กี่สัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อ ยังมีชื่ออื่น ๆ ที่เรียกใช้กันในขณะนี้ ได้แก่ Long-haul COVID-19, post-acute COVID-19, post-COVID-19 syndrome หรือ chronic COVID-19
    ซึ่งมีการรายงานมากมายที่มีการทำงานวิจัยทำการรวบรวมหลักฐานออกมาเพิ่มเติม พบว่าประมาณร้อยละ 80 ของผู้ติด COVID-19 มีอาการใดอาการหนึ่ง โดยพบมากที่สุดคือ อ่อนเพลีย ปวดหัว ขาดสมาธิ ผมร่วง และหอบเหนื่อย

ภาวะ Long COVID-19 นี้มีแบบใดบ้าง มีความแตกต่างกันอย่างไร
อาการใหม่ หรืออาการไม่หายไป (New or ongoing symptoms)
    บางคนมีอาการต่อได้เป็นเดือน หลังจากติดเชื้อครั้งแรก กลุ่มนี้มักเกิดในคนที่เป็นแบบรุนแรงตั้งแต่ต้น อาการแย่ลงเมื่อตอนออกกำลังกายหรือต้องใช้สมาธิจดจ่อมาก ๆ อาการใหม่ ได้แก่ ไข้ หายใจเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม ไอ แน่นหน้าอก ปวดท้อง ปวดหัว วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม ปวดหู หรือมีเสียงในหู ใจสั่น ปวดกล้ามเนื้อและข้อ ชา ท้องเสีย ปวดท้อง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่ได้กลิ่นหรือรับรสได้ไม่ดี รับประทานอาหารไม่ลง ขาดสมาธิ หรือคิดอะไรไม่ออก ตื้อ ๆ นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน มีผื่นตามตัว ประจำเดือนมาผิดปกติ
ความผิดปกติในหลายระบบอวัยวะ (multiorgan effects)    
    บางคนมีอาการผิดปกติในหลายส่วนของร่างกาย เกิดจากภูมิคุ้มกันต่อตนเองมาทำลายอวัยวะที่ปกติทำให้เกิดการอักเสบหรือมีการทำลายเนื้อเยื่ออวัยวะส่วนนั้น มักพบที่หัวใจ ปอด ไต สมอง และผิวหนัง เป็นสิ่งที่พบได้น้อย ในเด็กอาจพบว่าเป็น Multisystem Inflammatory Syndrome (MIS) ระหว่างที่เป็นหรือหลังจากหายทันที ซึ่งพบว่าส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอักเสบหลายส่วน ในผู้ที่เกิด MIS อาจมีผล multiorgan effects ในระยะยาวได้
ผลระยะยาวจากติด COVID-19 และการนอนโรงพยาบาล
    ผลจาการนอนโรงพยาบาล โดยเฉพาะห้องเวชบำบัดวิกฤต หรือห้องไอซียูนั้น อาจทำให้แขนขาไม่ค่อยมีแรง หรือยังคงเหนื่อยอยู่หลังจากที่ไม่มีเชื้อ COVID-19 แล้ว บางคนมีผลต่อเรื่องการคิดและคำพูด หรือกลายเป็นภาวะที่มีอาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบเหตุการณ์รุนแรง (Post-Traumatic Stress Disorder; PTSD) เช่น การได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจ หรือการปั๊มหัวใจเพื่อช่วยชีวิต ทำให้เกิดความเครียดฉับพลันและอาจสะสมมาอย่างต่อเนื่อง
    นอกจากภาวะเหล่านี้จะเกิดจากการเจ็บป่วยเองแล้ว COVID-19 ยังทำให้เกิดผลกระทบเกี่ยวกับภาวะทางเศรษฐกิจ การต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว คนใกล้ชิดติดเชื้อหรือเสียชีวิต การเข้าถึงสถานพยาบาลได้ยากเมื่อมีอาการผิดปกติ ส่งผลให้มีความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้น 

เราจะป้องกันภาวะ Long COVID-19 ได้อย่างไร
    การฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 โดยขณะนี้มีคำแนะนำให้ฉีดกับทุกคนที่ไม่มีข้อห้ามในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาอนุมัติให้ฉีดตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป สวมหน้ากากที่คลุมปากและจมูก อยู่ห่างจากผู้อื่นประมาณ 1.5-2 เมตร หลีกเลี่ยงบริเวณแออัดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก ล้างมือบ่อย ๆ 

References:
https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/long-term-effects.html Accessed on 31st Aug 2021
https://www.nhs.uk/conditions/coronavirus-covid-19/long-term-effects-of-... Long COIVD, long-haul COVID, post-acute COVID-19 or chronic COVID. 
Lopez-Leon S, et al. More than 50 long-term effects of COVID-19: a systematic review and meta-analysis Sci Rep. 2021. 

  เนื้อหาแนะนำ
เนื้อหาภายในฉบับที่ 42