ที่นี่สมุทรสาคร

Volume: 
ฉบับที่ 42 เดือนตุลาคม 2564
Column: 
Behind the Scene
Writer Name: 
อภิญญา ปู่โฉด หน่วยตรวจผู้ป่วยนอกแพทย์ทางเลือก งานการพยาบาลบริการเฉพาะ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลรามาธิบดี

“ตราบใดที่น้องยังทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี สถานที่ที่มีระบบสนับสนุนการทำงานทุก ๆ อย่าง น้องจะไม่มีทางรู้เลยว่าอุปสรรคของการทำงานมันคืออะไร” 
พี่พยาบาลที่ฉันเคารพท่านหนึ่งกล่าวขึ้นหลังจากที่ฉันบ่นปัญหาจากการทำงานที่พบเจอในแต่ละวันให้พี่เขาฟัง และพี่เขายังเสริมอีกว่า 
“ยังมีโรงพยาบาลอื่น ๆ อีกมากมายที่เขาไม่มีระบบสนับสนุนที่เพียบพร้อมเท่าเรา ถ้าวันไหนน้องมีโอกาสได้ไปสัมผัสน้องจะเข้าใจสิ่งที่พี่พูดเอง” 

    ช่วงประมาณต้นปี 2563 เกิดการระบาดของโรคที่ชื่อว่า COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบมากมายต่อหลาย ๆ ภาคส่วน รวมถึงบ้านหลังใหญ่ของฉัน โรงพยาบาลรามาธิบดี หลายส่วนงานต้องหยุดปฏิบัติงานชั่วคราว หลายส่วนงานต้องก้าวขึ้นมาเป็นด่านหน้าในการรองรับสถานการณ์ในครั้งนี้ ตัวฉันเองก็ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของด่านหน้าในการรองรับสถานการณ์ในครั้งนี้เช่นกัน โดยได้ปฏิบัติงานที่คลินิกตรวจโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน ถึงแม้จะเป็นการปฏิบัติงานแบบเป็นครั้งคราวตามการหมุนเวียนอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ แต่ฉันได้มองเห็นและเรียนรู้ถึงความสำคัญในการวางระบบงาน และการติดต่อประสานงานกับส่วนงานอื่น ๆ รวมถึงได้เห็นความเสียสละของเจ้าหน้าที่แต่ละคน ที่ถึงแม้จะรู้ว่าทุกวันที่ปฏิบัติงานคือความเสี่ยง แต่ทุกคนก็ยินดี เต็มใจ และพร้อมจะปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลัง 
    วันเวลาล่วงเลยผ่านไปจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน การรายงานยอดผู้ติดเชื้อมีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ จากหลักร้อยเหลือหลักสิบ และวันที่ประชาชนคนไทยรอคอย “ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อศูนย์ราย” ภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานต่าง ๆ ห้างร้าน กำลังกลับมาดำเนินกิจการอีกครั้ง ดั่งต้นไม้ที่แล้งนํ้าที่แห้งเหี่ยว ได้พบกับหยาดฝนที่มอบความชุ่มชื้นให้อีกครั้ง 
    แต่เหมือนภาพที่ทุกคนกำลังเห็น จะเป็นเพียงภาพฟ้าสงบ ก่อนพายุใหญ่จะถาโถม ในกลางเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน มีการประกาศถึงการระบาดระลอกใหม่ ตามติดมาด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ทะยานสูงอย่างรวดเร็ว หลายภาคส่วนเกิดการชะงัก โดยเฉพาะภาคส่วนของการประมงและอาหารทะเล “จังหวัดสมุทรสาคร” ที่ที่เป็นบ้านอีกหลังของฉัน 
    เนื่องจากฉันพักอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงควบคุมสูงสุด จึงได้รับการขอความร่วมมือให้กักตัว สังเกตอาการอยู่ในที่พักอาศัยเป็นระยะเวลา 14 วัน ท่ามกลางข่าวลือมากมาย คำพูดที่มักได้ยินจากคนรอบข้างเสมอ ๆ ว่า เหมือนจะครั่นเนื้อครั่นตัว เหมือนจะเจ็บคอ เอ๊ะ !! ติดหรือยัง ติด COVID-19 แล้วหรือเปล่า” ทำให้ฉันเริ่มมองหาช่องทางเล็ก ๆ ในการส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องกับคนรอบข้าง อย่างน้อยก็เพื่อเพิ่มพื้นที่ของข่าวที่เชื่อถือได้มากขึ้น และด้วยความโชคดีที่ฉันมีแม่เป็นประธานอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน ฉันจึงอาศัยช่องทางนี้ในการส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อไวรัส COVID-19 จากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ เพียงไม่นานก็เกิดการกระจายและส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องมากขึ้น 
    ช่วงเดือนมกราคม 2564 สถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงคุกรุ่น ครบ 14 วันที่ฉันต้องกักตัว ฉันต้องกลับไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลรามาธิบดีอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ฉันจำเป็นต้องพักอาศัยในที่พักที่ทางโรงพยาบาลจัดหาให้ชั่วคราว ฉันคิดอยากประวิงเวลา อยากให้มีใครสักคนยื่นข้อเสนอให้ฉันมาปฏิบัติงานที่จังหวัดสมุทรสาครแทน ต่อให้ฉันต้องไปดูแลผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 ฉันก็ยินดี ขอเพียงฉันได้อยู่ที่บ้าน ได้อยู่เคียงข้างและได้สู้ไปพร้อม ๆ กับชาวสมุทรสาครเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว 
    และเพียงไม่นานคำอธิษฐานก็เป็นจริง ทางส่วนงานได้รับประกาศจากโรงพยาบาลในการขอรับอาสาสมัครเพื่อปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ฉันขานรับอาสาทันที และยังได้แจ้งความจำนงว่า “ดิฉันยินดีที่จะปฏิบัติงานแม้ว่าจะต้องดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 และยินดีและเต็มใจอย่างยิ่งหากดิฉันจะสามารถอยู่ปฏิบัติงานที่นั่นจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหรือทางจังหวัดสมุทรสาครจะมีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่เพียงพอ” ฉันอาจดูเป็นคนเห็นตัวที่เลือกจะปฏิบัติงานใกล้ ๆ คนที่ฉันรัก ใกล้ ๆ คนในครอบครัว แต่ดิฉันก็มีความเชื่อว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระอันหนักอึ้งของเจ้าหน้าที่จังหวัดสมุทรสาครให้ทุเลาเบาบางลงได้ ฉันพร้อมและจะปฏิบัติงานอย่างเต็มที่และเต็มความสามารถที่ฉันมี ซึ่งนั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของที่ทำงานใหม่ (ชั่วคราว) ของฉัน ที่นี่สมุทรสาคร 
    วันแรกที่ก้าวเท้าเข้ามา สถานที่ปฏิบัติงานแห่งใหม่ มีหลาย ๆ อย่างที่ต่างจากที่ทำงานเดิมที่คุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นระบบการทำงาน สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่แตกต่างไป แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับฉัน สิ่งที่ใจฉันมุ่งหวังสำหรับที่นี่มีเพียง 2 สิ่งคือ หนึ่ง ฉันจะทำให้ที่นี่เป็นที่ทำงานที่น่าอยู่และมีความสุขอีกแห่งหนึ่งสำหรับฉัน และสอง ฉันจะใช้โอกาสนี้เรียนรู้ชีวิต เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ได้มากที่สุด ฉันใช้เวลาปรับตัวอยู่ประมาณ 2 วันกับระบบงานและเอกสารที่ฉันไม่คุ้นชิน การทำงานที่หอผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ COVID-19 แห่งนี้ เจ้าหน้าที่ทุกคนต้องใส่ชุดป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ หรือที่หลาย ๆ คนมักเรียกว่าชุดอวกาศหรือชุดหมี ซึ่งจากประสบการณ์ที่ไม่มากพอ ความตื่นตระหนก และความไม่คุ้นชินกับอุปกรณ์ ฉันเกิดอุบัติเหตุระหว่างการปฏิบัติงานในขณะที่กำลังสวมชุดป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ฉันจึงเริ่มทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปัญหาจากการทำงานอื่น ๆ ที่ฉันเคยมองข้ามไป ฉับพลันคำพูดหนึ่งที่ฉันเกือบจะลืมไปแล้วก็ดังขึ้นมาในความคิดอีกครั้ง “ตราบใดที่น้องยังทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลที่ชื่อรามาธิบดี ที่มีระบบที่สนับสนุนการทำงานทุก ๆ อย่าง น้องจะไม่มีทางรู้เลยว่าอุปสรรคของการทำงานคืออะไร” ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็ทำให้ฉันเข้าใจได้ชัดเจน และตอนนี้ก็ต้องกลับมาถามตนเองว่าในเมื่อหาปัญหาพบแล้ว จะเลือกที่จะปล่อยผ่านเพราะไม่ใช่ส่วนงานของตนเอง หรือเลือกที่จะนำมาแก้ไขเพื่อให้ได้ระบบงานที่ดีขึ้น ซึ่งแน่นอนฉันเลือกอย่างหลัง 
    สิ่งแรกหลังจากที่ฉันกลับไปปฏิบัติงานก็คือการมองหาปัญหาและจัดลำดับความสำคัญ โดยฉันเริ่มแก้ปัญหาที่มักเกิดขึ้นและเป็นความเสี่ยงกับเจ้าหน้าที่นั่นก็คือการใส่ชุดป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ เพราะเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติงานมีทั้งเจ้าหน้าที่เก่าที่ปฏิบัติงานประจำและเจ้าหน้าที่หมุนเวียนจากส่วนงานอื่น ๆ ภายนอก ซึ่งสิ่งที่มักพบคือเจ้าหน้าที่หมุนเวียนไม่คุ้นชินกับสถานที่หอผู้ป่วย ข้อจำกัดของสถานที่และอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้เมื่อถึงเวลาจริงเจ้าหน้าที่ภายใต้ชุดป้องกันการแพร่กระจายเชื้อที่กำลังปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ผู้ป่วยพักอาศัย มีโอกาสเกิดความเสี่ยงจากการปฏิบัติงานได้ 
    ฉันจึงปรึกษากับหัวหน้าหอผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ว่าฉันมีความสนใจที่จะทำคลิปสั้น ๆ ในการสอนการสวมใส่ชุดป้องกันการแพร่กระจายเชื้อและการปฏิบัติงานระหว่างอยู่ในพื้นที่พักของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ที่เข้าปฏิบัติงานได้ศึกษาและทำความเข้าใจ ร่วมกับการจับคู่หูกับเจ้าหน้าที่ประจำในการช่วยดูแล แนะนำและอำนวยความสะดวก ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนเห็นด้วย ซึ่งฉันก็ค่อนข้างลุ้นกับแนวคิดนี้มากและกลัวว่าการกระทำนี้ก้าวก่ายงานของเจ้าหน้าที่เดิมหรือไม่ จะสร้างความลำบากให้พวกเขาหรือเปล่า แต่ฉันจะบอกตัวเองเสมอว่าเราทำเพราะอยากให้ทุกคนปลอดภัย ฉันก็มีคนที่รักรออยู่ที่บ้าน คนอื่น ๆ ก็มีอยู่เช่นเดียวกัน ฉันจะไม่ปล่อยให้ใครต้องเสี่ยงกับเหตุการณ์ครั้งนี้ ทุกคนจะได้กลับไปอยู่กับครอบครัวที่เขารัก ทุกคนจะต้องปลอดภัย 
    ฉันหมั่นสอบถามเจ้าหน้าที่เสมอว่าการปฏิบัติงานแบบนี้เป็นการเพิ่มภาระงานหรือไม่ อยากให้ปรับหรือแก้ตรงจุดใดบ้าง แต่สิ่งที่ได้รับกลับมากลับเป็นคำขอบคุณ ซึ่งทำให้ฉันประหลาดใจ มีพี่ท่านหนึ่งกล่าวว่า “โดยปกติพี่เคยเห็นเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ทำงานตามหน้าที่ของตน ไม่ได้สนใจรายละเอียดเล็ก ๆ แบบนี้มากนัก เพราะด้วยภาระงานที่มีอยู่ก็มากทั้งงานเอกสาร การบริหารจัดการต่าง ๆ แต่ถ้าไม่มีแนวทางตรงนี้ พี่ก็คงไม่มั่นใจและก็กลัวกับการดูแลผู้ป่วย พี่เป็นเพียงแม่บ้านเรื่องบางอย่างที่น้อง ๆ รู้ แต่พี่ก็ได้แต่มองแต่ไม่เคยเข้าใจเลยสักที” นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้หัวใจฉันพองโต การเริ่มกระทำอะไรบางอย่าง ทำให้เกิดผลกับผู้อื่นได้มากมายเช่นนี้ 
    หลังจากนั้นฉันจึงพัฒนาและการปรับปรุงงานอยู่เสมอ อาทิเช่น การจัดทำป้ายตู้เอกสารต่าง ๆ เพราะแต่เดิมที่นี่จะไม่ให้ติดป้ายเนื่องจากป้ายเหล่านี้คือแหล่งสะสมเชื้อโรค ฉันจึงหาวิธีที่จะทำให้ป้ายไม่เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค นั่นคือการทำให้ป้ายสามารถทำความสะอาดได้ การใช้สติ๊กเกอร์กันนํ้าเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดี ฉันจึงไปหาซื้อและนำมาทำป้ายใหม่ ซึ่งทุกขั้นตอนฉันจะปรึกษาพี่หัวหน้าหอผู้ป่วยและเพื่อนร่วมงานเสมอ เพราะสิ่งหนึ่งที่ฉันได้รับการสั่งสอนจากรามาธิบดีนั่นคือการอ่อนน้อมถ่อมตน การให้เกียรติแก่ผู้อาวุโสและเพื่อนร่วมงาน ฉันจึงค่อนข้างระวังการกระทำไม่ให้กระทบหรือเดือดร้อนกับคนอื่น แต่สิ่งที่ฉันได้รับกลับมาในทุกครั้งทำคิดริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ นั่นคือเพื่อนร่วมงานที่แม้ว่าจะต่างสถาบันกัน เมื่อฉันมีแนวคิดหรืออยากทำอะไร ทุกคนล้วนมาร่วมช่วย และแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ร่วมกันอย่างเต็มที่ ไม่มีใครที่มองว่านี่คือภาระหรือเพิ่มงานของเขาเลยแม้แต่น้อย 
    จนวันหนึ่งฉันได้รับการแจ้งข่าวว่าให้ฉันกลับปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลรามาธิบดีตามเดิม เนื่องจากสถานการณ์ตอนนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ฉันรู้สึกกังวลว่าหลังจากนี้ที่นี่จะเป็นอย่างไร จะมีใครมาทำอะไรแบบนี้แทนฉันหรือเปล่า ซึ่งเหมือนทุก ๆ คนจะเข้าใจความคิดของฉัน เพื่อนที่ฉันสนิทคนหนึ่งกล่าวว่า “ที่เธอทำทุกวันนี้มันดีมากแล้ว ดีจริง ๆ นะ เธอก็ไม่ต้องห่วงไม่ต้องคิดมากหรอก แต่ก่อนเราก็แค่ทำงานไปวัน ๆ ก็เหนื่อยมากแล้ว แต่เธอกลับแบ่งเวลามาทำอะไรแบบนี้ ทีแรกเราก็ไม่ค่อยเห็นด้วยนะ มันดูว่างานมันยังไม่เยอะพอ ไม่เหนื่อยพออีกหรือไง แต่ตอนนี้เราเข้าใจแล้ว ต่อไปเราจะเอาเธอเป็นตัวอย่างนะ เราจะพัฒนาปรับปรุงงานของเราเองบ้าง เพื่อนสบายใจได้ ต่อไปที่นี่จะมีเราเป็นตัวแทนของเธอเอง” 
    หลังจากกลับมาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ฉันได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่ที่ฉันเคารพอีกครั้ง ฉันได้เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้พบเจอที่สมุทรสาครให้พี่เขาฟัง พี่เขาจึงย้อนกลับมาถามว่าแล้วน้องคิดว่าได้อะไรกลับมาบ้าง ฉันจึงตอบไปว่า “หนูได้ไฟในการทำงานกลับมาค่ะพี่ หนูไม่คิดเลยว่าการทำอะไรซักอย่างแล้วทำให้คนอื่นมีความสุขกับการทำงาน มันจะส่งพลังบวกมาให้หนูได้มากขนาดนี้ หนูก็ไม่รู้นะคะว่าตอนนั้นหนูไปได้แนวคิดที่จะทำเรื่องแบบนี้มาจากที่ไหนกัน น่าแปลกใจจังนะคะ” 
    พี่เขาจึงตอบฉันกลับมาว่า “น้องมีแนวคิดพวกนี้อยู่ตั้งแต่แรกแล้วต่างหาก แต่เพราะที่รามาธิบดี มีทุกอย่างพร้อมแล้ว น้องเลยไม่มีโอกาสดึงสิ่งนั้นออกมาใช้ พี่ดีใจนะการที่น้องได้ไปที่นั่นจะทำให้น้องได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมายขนาดนี้ อืมม ... ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดูสิ แล้วน้องจะเข้าใจว่าสิ่งที่น้องทำ มันเป็นสิ่งที่เราทุกคนได้รับการปลูกฝังมาตลอด” 
    เมื่อฉันรับหนังสือมาและพลิกอ่านก็พบว่ามันคือหนังสือ มาตรฐาน HA นั่นเอง ซึ่งเนื้อหาด้านในส่วนหนึ่งกล่าวถึง วงล้อคุณภาพ ใช่แล้วแนวคิดนี้เองที่ครั้งนั้นฉันเริ่มพัฒนา ปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ มากมายก็มาจากแนวคิดนี้นี่เอง ฉับพลันฉันก็พลันยิ้มให้กับตัวเองทันที ที่จริงแล้วฉันก็มีของดีอยู่กับตัวมาตลอด นี่ถ้าไม่ได้ไปปฏิบัติงานที่สมุทรสาคร ฉันคงไม่มีโอกาสได้รู้ ว่าฉันมีสิ่งที่มีค่าอยู่กับตัวมากมายนี้ 
    สิ่งที่ยากสำหรับการทำงานในที่ที่ไม่คุ้นเคยไม่ใช่จากอุปสรรคจากระบบ หรือความไม่พร้อมของอุปกรณ์ แต่กลับเป็นใจของคนทำงาน ใจที่มุ่งจะแก้ไขพัฒนาให้ดีขึ้น หรือเลือกที่จะปล่อยผ่านไป ซึ่งเป็นสิ่งที่บุคคลนั้น ๆ จะเลือกและตัดสินใจปฏิบัติด้วยตัวของเขาเอง หากเขาได้รับการอบรมสั่งสอนมาเป็นคนคุณภาพ ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ใด สถานการณ์ใด ๆ ก็ตาม เขาก็จะยังคงมองหาและพัฒนางานนั้น ๆ ให้ดียิ่งขึ้นต่อไปได้เสมอ เพราะว่าเขาคือคนคุณภาพนั่นเอง 

ดาวน์โหลดเพื่ออ่านรูปแบบ PDF: 
เนื้อหาภายในฉบับที่ 42