หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดรับนักศึกษาแพทย์ปีละประมาณ 160 คน(จำนวนนักศึกษาที่รับเข้าอาจมีการเปลี่ยนแปลง) คัดเลือกโดยสอบผ่านระบบรับตรงร่วมกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) และระบบโควตาของมหาวิทยาลัยมหิดล
คุณสมบัติที่เหมาะสมในการเป็นบัณฑิตแพทย์รามาธิบดี คือ เป็นผู้มีความมุ่งมั่นในการเป็นแพทย์ มีความคิดเป็นตัวของตัวเอง ใฝ่รู้และมีทักษะทางภาษาอังกฤษ สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ค้นคว้า และสนใจในการทำวิจัยด้านการแพทย์
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการความรู้หลายสาขาวิชา โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนสามารถคิดและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ มีความใฝ่รู้ เรียนรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความเป็นแพทย์ ที่ต้องติดตามความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยี เพื่อมาประยุกต์ใช้ในวิชาชีพแพทย์ได้ตลอดชีวิต
นักศึกษาแพทย์รามาธิบดีจะได้รับการส่งเสริมให้เป็นผู้นำและทำงานเป็นทีมอย่างมีประสิทธิภาพ มีทักษะในการติดต่อสื่อสารและมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เป็นแพทย์ที่มีคุณธรรม จริยธรรมที่เหมาะสม ดำรงชีวิตอย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จในวิชาชีพเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม
เนื้อหาของหลักสูตรการเรียนตลอดหลักสูตรของนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี ใช้เวลา6 ปี รวมจำนวน 253 หน่วยกิต แบ่งเนื้อหาการเรียนออกเป็น 3 ช่วง และเสริมด้วยวิชาเลือก คือ
ปีที่ 1 หมวดวิชาศึกษาทั่วไป กลุ่มวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ การศึกษาทั่วไปเพื่อการพัฒนามนุษย์ ภาษาอังกฤษและภาษาไทย
ชั้นปรีคลินิก ปีที่ 2 และ 3 ศึกษาการทำงานของร่างกายมนุษย์ในภาวะปกติและเมื่อเป็นโรคต่างๆ โดยบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์พื้นฐาน เช่น กายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา จุลชีววิทยา เภสัชวิทยา พยาธิวิทยา และการเรียนวิชาบทนำเวชศาสตร์คลินิก เพื่อฝึกฝนการซักประวัติ และทักษะการตรวจร่างกายระบบต่างๆ ได้อย่างถูกขั้นตอน รวมทั้งฝึกหัตถการกับหุ่น
ชั้นคลินิก ปีที่ 4 ถึงปีที่ 6 เรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริงในโรงพยาบาล ได้ร่วมเป็นหนึ่งในทีมดูแลผู้ป่วย ศึกษาอาการและการรักษาโรคผ่านการฝึกทักษะกับอาจารย์แพทย์สาขาต่างๆ การพูดคุยกับผู้ป่วย ฝึกงานในห้องคลอดและห้องผ่าตัด เข้าค่ายทักษะชีวิต เพื่อเรียนรู้ตนเองและผู้อื่น และฝึกปฏิบัติงานในโรงพยาบาลในเขตชุมชนและต่างจังหวัด
วิชาเลือกเสรี เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองทั้งด้านวิชาการ คุณธรรม จริยธรรม กีฬา ตลอดจนศิลปวัฒนธรรม
วิชาเลือกคลินิก เพื่อเสริมประสบการณ์ในสาขาวิชาที่ตนเองสนใจ
สถานที่ศึกษาและแหล่งฝึกปฏิบัติ
- ปี 1 เรียนวิชาศึกษาทั่วไป ที่วิทยาเขตศาลายา มหาวิทยาลัยมหิดล จังหวัดนครปฐม
- ปีที่ 2 และ 3 เรียนที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตพญาไท
- ปลายปีที่ 3 จนถึงปีที่ 6 เรียนและฝึกปฏิบัติงานใน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ศึกษาดูงานที่โรงพยาบาลชุมชนในต่างจังหวัด เช่น จังหวัดนครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี ขอนแก่น ระยอง ฉะเชิงเทรา และ กาญจนบุรี
- ปีที่ 6 เพิ่มพูนประสบการณ์ทางคลินิก ที่โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยาและโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช จังหวัดสุพรรณบุรี
กิจกรรมเสริมหลักสูตร
ส่งเสริมให้นักศึกษาแพทย์มีความรอบรู้ มีทักษะในการพัฒนาตนเอง และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข โดยมีชมรมนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี (ชพร.) เป็นแกนนำในการจัดกิจกรรม เช่น งานเปิดโลกฝันสร้างสัมพันธ์สู่รามา งานมอบเสื้อกาวน์ งานคืนสู่เหย้า และทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนแพทย์อื่นๆ เช่น กีฬา 17 เข็ม ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มกิจกรรมของนักศึกษาตามความสนใจ คือ
- ชมรมวิเทศสัมพันธ์ และ English club ได้พบปะและเยี่ยมชมสถาบันแพทย์ทั่วโลก ผ่านเครือข่ายองค์กรนักศึกษาแพทย์นานาชาติ
- ชมรมดนตรีรามาธิบดี จัดประกวดร้องเพลงและงานแสดงดนตรี
- ชมรมกีฬาและศูนย์ออกกำลังกาย เช่น ฟุตบอล แอโรบิค
- ชมรมถ่ายภาพ อบรมเทคนิค ออก field trip ประกวดภาพถ่าย
- กิจกรรมศึกษาแหล่งท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรมไทย
- กิจกรรมแข่งขันตอบปัญหา Ramathibodi’s Medical Student Championship
ค่าใช้จ่ายและสวัสดิการนักศึกษา
- ค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทะเบียนเรียนตลอดหลักสูตรประมาณ 120,000 บาท
- นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1 สามารถอยู่หอพักในวิทยาเขตศาลายา และสามารถพักในหอพักแพทย์ของคณะฯ ได้ในชั้นคลินิก ตั้งแต่ ปีที่ 4 ถึงปีที่ 6
- นักศึกษาที่ต้องการความช่วยเหลือด้านการเงิน สามารถสมัครขอรับทุนการศึกษา หรือกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาได้ที่งานกิจการนักศึกษา
สัญญาผูกพัน
เมื่อนักศึกษาแพทย์สำเร็จการศึกษาแล้ว ต้องปฏิบัติงานชดใช้ทุนที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข หรือ กระทรวงอื่นๆ เป็นเวลา 3 ปี ถ้าลาออกก่อนครบกำหนดตามสัญญา จะต้องชดใช้เงินให้กับรัฐบาลตามสัดส่วนเวลาที่ปฏิบัติงานไม่ครบในวงเงิน 400,000 บาท
ลักษณะงานที่ทำและความก้าวหน้า
บัณฑิตแพทย์รามาธิบดี สามารถทำงานเป็นแพทย์ในระบบราชการ หรือในโรงพยาบาลและคลินิกเอกชนได้ โดยหลังจากใช้ทุนแล้ว สามารถเลือกศึกษาต่อเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ณ สถาบันในประเทศ และต่างประเทศตามสาขาที่สนใจ เช่น กุมารแพทย์ อายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ สูติ-นรีแพทย์ จิตแพทย์ พยาธิแพทย์ทางนิติเวช ฯลฯ นอกจากงานรักษาผู้ป่วย แพทย์ยังมีโอกาสก้าวหน้าในการทำงาน วิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็นศาสตราจารย์ สอนนักศึกษา หรือเป็นที่ปรึกษาและผู้บริหาระดับสูงในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน
หลักสูตรพิเศษ Ph.D., M.D.
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและแพทยศาสตรบัณฑิต
เป็นโครงการสร้างอาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีวัตถุประสงค์ในการผลิตแพทย์นักวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อพัฒนาการแพทย์ของประเทศไทย โดยมีการคัดเลือกนักศึกษาผู้จบการศึกษาชั้นปีที่ 3 ที่มีผลการเรียนดี และมีศักยภาพ แยกไปศึกษาจนสำเร็จระดับปริญญาเอก แล้วจึงกลับมาเรียนต่อชั้นคลินิกที่คณะแพทย์ต้นสังกัดจนสำเร็จเป็นบัณฑิตแพทย์
สอบถามรายละเอียด ได้ที่ งานแพทยศาสตรศึกษา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
โทร. 0-2201-1734-6 , 0-2201-1053 Fax. 0-2201-1289
ดาวน์โหลดเอกสารแผ่นพับ