ที่มา
เนื่องด้วยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มีนโยบายให้นักศึกษาแพทย์มีส่วนร่วมในการกำหนดพันธกิจของคณะ การพัฒนาและการออกแบบหลักสูตร และการบริหารจัดการหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เพื่อให้การบริหารหลักสูตรดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย และยังเป็นไปตามมาตรฐานสากลสำหรับการรับรองคุณภาพทั้งในระดับคณะ (Education Criteria for Performance Excellence: EdPEx) และระดับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (World Federation for Medical Education: WFME และ ASEAN University Network for Quality assurance: AUNQA) ที่กำหนดให้มีนักศึกษาเป็นตัวแทนและมีส่วนร่วมที่เหมาะสมในการพัฒนาหลักสูตร การออกแบบหลักสูตร การบริหารจัดการหลักสูตร และการประเมินหลักสูตร ตลอดจนมีผู้แทนของนักศึกษาเป็นคณะกรรมการร่วมในการบริหารหลักสูตร
เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายของมหาวิทยาลัยมหิดลที่มุ่งมั่นจะเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก คณะฯจึงเห็นควรให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี เพื่อเป็นองค์กรนักศึกษาในการมีส่วนร่วมในการพัฒนา การปรับปรุง และการบริหารจัดการหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายได้
คณะกรรมการนักศึกษาแพทย์
ประกอบด้วยสมาชิก 38 คน ดังนี้
1. สมาชิกโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย
1.1 นายกสโมสรนักศึกษารามาธิบดี
1.2 ประธานชมรมนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี
1.3 ประธานชั้นปีของนักศึกษาแพทย์แต่ละชั้นปี จำนวน 6 คน
2. สมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งหรือการรับรองหรือสรรหาโดยนักศึกษา
2.1 ผู้แทนนักศึกษาที่ได้มาจากการเลือกตั้งหรือรับรองของนักศึกษาแต่ละชั้นปี ชั้นปีละ 5 คน
คุณสมบัติ
1. เป็นนักศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งได้ลงทะเบียนเป็นนักศึกษาโดยสมบูรณ์แล้วในปีการศึกษานั้น
2. ไม่อยู่ในระหว่างถูกลงโทษทางวินัยตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย
3. ไม่เป็นผู้มีสภาพวิทยาทัณฑ์
การได้มาซึ่งกรรมการนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี
ประเภทผู้แทนนักศึกษาแต่ละชั้นปีให้ดำเนินการ ดังนี้
1. ประธานนักศึกษาแต่ละชั้นปีดำเนินการแต่งตั้งนักศึกษาจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคนแต่ไม่เกินเก้าคนเป็นคณะกรรมการคัดเลือก ทำหน้าที่คัดเลือกผู้แทนเป็นกรรมการนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี
2. นักศึกษาทุกคนมีสิทธิเสนอชื่อตนเองหรือนักศึกษาคนอื่นต่อคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อรับการคัดเลือกเป็นกรรมการนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี
3. ผู้ได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี ต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 30 คน ว่ามีคุณสมบัติดังนี้
3.1 มีความสมัครใจและมีความตั้งใจและมุ่งมั่นต่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรและการบริหารจัดการหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
3.2 มีความมั่นใจและกล้าแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ต่อการพัฒนาหลักสูตร
3.3 มีมนุษยสัมพันธ์ดีและมีความสามารถในการรวบรวมความคิดเห็นและความต้องการของเพื่อนนักศึกษาในชั้นปีเพื่อการบริหารจัดการหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตได้อย่างครอบคลุม
4. คณะกรรมการคัดเลือกสามารถพิจารณาวิธีการคัดเลือกที่เหมาะสมกับนักศึกษาแต่ละรุ่นให้ได้ผู้แทนของรุ่น จำนวน 5 คน และผู้แทนของรุ่นมีความหลากหลาย
5. คณะกรรมการคัดเลือกดำเนินการคัดเลือกผู้แทนเพื่อเป็นคณะกรรมการนักศึกษาแพทย์รามาธิบดีให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันหลังเริ่มปีการศึกษา และเสนอรายชื่อให้รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาดำเนินการจัดประชุม
6. รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาจัดให้มีการประชุมครั้งแรกภายใน 30 วันหลังจากได้กรรมการครบจำนวน เพื่อคัดเลือกผู้ทำหน้าที่ ประธาน รองประธาน และเลขานุการ ของคณะกรรมการนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี โดยประธาน รองประธาน และเลขานุการ จะเป็นผู้แทนนักศึกษาในคณะกรรมการบริหารหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของคณะ
7. คณบดีออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี
8. คณะกรรมการนักศึกษาแพทย์รามาธิบดีมีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ ๑ ปี นับแต่วันประกาศแต่งตั้ง
การดำเนินการของคณะกรรมการนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี
1. คณะกรรมการนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี จัดให้มีการประชุมอย่างน้อยภาคการศึกษาละ 1 ครั้ง
2. คณะกรรมการนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี จัดให้มีการสัมมนาอย่างน้อยปีการศึกษาละ 1 ครั้ง
อำนาจหน้าที่
1. จัดประชุมสัมมนาเพื่อแสดงความคิดเห็นและรวบรวมความคิดเห็นของนักศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาและการบริหารจัดการหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต
2. แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต
3. จัดประชุมคณะกรรมการนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี และจัดทำรายงานเพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงพัฒนา และการบริหารหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต
4. ประธาน รองประธาน และเลขานุการคณะกรรมการนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี เป็นผู้แทนนักศึกษาร่วมเป็นกรรมการบริหารหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต
5. ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการประจำคณะฯ กรณีที่ได้รับการร้องขอ
6. ให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตของคณะฯ