รู้ทันป้องกันโรคกระเพาะอาหาร
โรคกระเพาะอาหารหรือที่เรามักเรียกสั้น ๆ ว่า “โรคกระเพาะ” เป็นโรคที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน ด้วยวิถีชีวิตที่ต้องเร่งรีบทำเวลา ทำให้เรามีพฤติกรรมรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง เช่น ทานอาหารไม่ตรงเวลา หรือความเครียดที่สะสมจากการทำงาน นำไปสู่ปัจจัยเกิดโรคในที่สุด
อาการของโรคกระเพาะ เราสามารถสังเกตตัวเองได้ดังนี้
👉 ปวดหรือแสบท้องบริเวณลิ้นปี่เป็น ๆ หาย ๆ
👉 แน่นท้อง ท้องอืด
👉 ปวดท้องก่อนหรือหลังรับประทานอาหาร
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะ
🍛 การรับประทานไม่ตรงเวลา ทานอาหารมากเกินไป
🦠 การติดเชื้อแบคทีเรีย H. Pylori ทำให้เกิดการอักเสบของกระเพาะอาหาร
🚬 การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์
💊 การใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือด
😭 ความเครียดและวิตกกังวล
ชมคลิปวิดีโอ ความเชื่อเรื่องโรคกระเพาะ
โรคกระเพาะแม้จะไม่ใช้โรคที่รุนแรง แต่หากเราไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือรักษาอาการ ก็อาจพัฒนาไปเป็นโรคที่มีความรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารทะลุ มะเร็งกระเพาะอาหาร
วิธีการป้องกันจึงควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารให้ตรงเวลา ไม่กินอาหารมากเกินไป แต่ควรทานน้อยแต่ทานบ่อย ๆ เลี่ยงอาหารที่กระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารหรือทำให้มีอาการมากขึ้น เช่น อาหารรสเปรี้ยว เผ็ด ถั่วที่ทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และที่สำคัญ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะยาบางชนิดอาจกัดกระเพาะอาหาร
หากเราได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว แต่อาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องค่ะ
ข้อมูลโดย
อ. พญ.ศุภมาส เชิญอักษร
สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล