นิ้วล็อก 04-01
หน้าแรก
ท่าบริหารป้องกัน โรคนิ้วล็อก
ท่าบริหารป้องกัน โรคนิ้วล็อก

โรคนิ้วล็อก เกิดจากการอักเสบเรื้อรังและหนาตัวขึ้นของปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่นิ้วมือ ทำให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อที่อยู่ภายในปลอกหุ้มเส้นเอ็นถูกบีบรัดไม่สามารถยืดหดได้ตามปกติ เมื่องอนิ้วแล้วจึงไม่สามารถกลับมาเหยียดตรงได้โดยง่าย ส่งผลให้ขยับนิ้วมือได้ยาก กำมือได้ไม่สุด บางรายอาจมีข้อนิ้วมืองอผิดรูปร่วมด้วย

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนิ้วล็อก ส่วนใหญ่เกิดจากการทำกิจกรรมที่ต้องใช้มือรับน้ำหนักเป็นเวลานาน หรือต้องทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ถือหรือแบกของเป็นเวลานาน บิดผ้าแรง ๆ หรือใช้อุปกรณ์ที่ต้องออกแรงบริเวณมือและข้อมือบ่อย ๆ เช่น การใช้กรรไกรตัดแต่งต้นไม้ ใช้ไขควง จุดไฟแช็ก หรือกำเตารีดรีดผ้า เป็นต้น ถ้าสมัยนี้ก็มีกรณีที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์หรือเล่นโทรศัพท์มือถือนาน ๆ ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ด้วยเหมือนกัน

 

วิธีป้องกันในเบื้องต้น คือ การใช้เครื่องทุ่นแรงและสวมถุงมือหากต้องใช้มือทำงานหนักมาก นอกจากนั้น การลดระยะเวลาการเล่นมือถือหรือคอมพิวเตอร์ให้น้อยลงก็สามารถช่วยได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น เราควรสังเกตอาการตัวเองให้ดี

 

หากมีอาการเพียงเล็กน้อย ก็สามารถบริหารมือและนิ้วมือในน้ำอุ่นประมาณวันละ 5 นาที โดยกำและแบนิ้วมือ กางให้สุด แล้วค่อย ๆ กำนิ้วแต่ละข้อนิ้วเข้ามา จนกลายเป็นกำปั้นให้แน่น และค่อย ๆ คลายออก ร่วมกับการนวดคลึงเบา ๆ บริเวณข้อนิ้วมือที่มีอาการ เป็นการเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อต่อ ฝึกกล้ามเนื้อมือให้แข็งแรงและช่วยทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น

 

ส่วนกรณีที่มีอาการมาก ข้อนิ้วสะดุดมาก หรือมีอาการข้อยึดติดไม่สามารถงอนิ้วได้ ควรพบแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมทางมือโดยเร็ว เพราะหากทิ้งไว้นานเกิน 3 สัปดาห์ ทั้งเนื้อเยื่อ เส้นเอ็นและข้อจะเกิดอาการตึงแข็ง ส่งผลให้การผ่าตัดรักษายุ่งยากมากยิ่งขึ้น

 

ผศ.​ นพ.กุลพัชร จุลสำลี​ ศัลยแพทย์​กระดูกและข้อ​ สถาบันการแพทย์​จั​กรีน​ฤบดินทร์​

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล