Info Rama PrEP PEP
หน้าแรก
ก่อนมีเพศสัมพันธ์คืนนี้ รู้จักยา PrEP-PEP กันหรือยัง?
ก่อนมีเพศสัมพันธ์คืนนี้ รู้จักยา PrEP-PEP กันหรือยัง?

#รู้ไว้ก่อนเสี่ยงเมื่อโรคเอดส์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่คิด

วันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี ถูกจัดตั้งให้เป็น วันเอดส์โลก (World AIDS Day) เพื่อรณรงค์และยับยั้งการแพร่กระจายของโรคเอดส์และเชื้อเอชไอวี แม้ตัวเลขของผู้ป่วยที่ติดเชื้อจะยังสูงอยู่มาก แต่วิวัฒนาการทางแพทย์ก็ไปไกลกว่าในอดีต ลบความเชื่อที่ว่า “เป็นเอดส์เท่ากับตาย” เพราะในปัจจุบันมี “ยาต้านเอชไอวี” ที่สามารถช่วยป้องกันและรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างปกติ

ซึ่งวันนี้รามาแชนแนลจะพาทุกคนไปทำความรู้จักว่ายาต้านเอชไอวีทั้ง 2 ชนิดนี้ ว่ามีวิธีใช้และมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้อง เพราะไม่แน่ว่าวันหนึ่ง คุณอาจจะต้องเจอความเสี่ยงเหล่านี้ก็เป็นได้

PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis)

  • ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีก่อนที่จะมีความเสี่ยง
  • กินในกรณีที่รู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยง เช่น ไม่ใส่ถุงยางอนามัย มีคู่นอนหลายคน
  • กินทุกวัน วันละ 1 เม็ด
  • ประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 90 หากกินยาอย่างสม่ำเสมอ
  • แพทย์จะนัดทุก 3 เดือน เพื่อตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี และเฝ้าระวังผลข้างเคียงของยา
  • ถ้าไม่มีความเสี่ยงแล้ว สามารถหยุดได้หลังมีความเสี่ยงครั้งสุดท้าย 4 สัปดาห์

PEP (Post-Exposure Prophylaxis)

  • ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังจากที่มีความเสี่ยงมาแล้ว
  • กินในกรณีฉุกเฉิน เช่น มีเพศสัมพันธ์แล้วถุงยางอนามัยแตก
  • กินให้เร็วที่สุด หรือภายในไม่เกิน 72 ชั่วโมง
  • ประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 70-80
  • กินให้ครบ 28 วัน หากกินไม่ครบประสิทธิภาพการป้องกันจะลดลง
  • มีสูตรยาหลายสูตรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

หมายเหตุ : ยา PEP และ PrEP สามารถป้องกันได้แค่การติดเชื้อเอชไอวีเท่านั้น ดังนั้นควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ

 

ข้อมูลจาก
ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล

บทความที่เกี่ยวข้อง