ตกขาว ช่องคลอด
หน้าแรก
สีของ ตกขาว บอกโรคได้อย่างไร ?
สีของ ตกขาว บอกโรคได้อย่างไร ?

ตกขาว คืออะไร

ตกขาว คือ สารน้ำที่ผลิตจากต่อมภายในช่องคลอด และปากช่องคลอด เพื่อผลัดเซลล์เก่าภายใน ช่องคลอด ดังนั้นการมีตกขาวจึงเป็นเรื่องธรรมชาติของผู้หญิงทุกคน ผู้หญิงสามารถมีตกขาวได้เกือบทุกวัน ปริมาณมากบ้าง น้อยบ้าง หรือลักษณะของตกขาวอาจจะแตกต่างไปในแต่ละช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนของร่างกาย กล่าวคือ ช่วงไข่ตกหรือกลางรอบเดือน ตกขาวจะมีลักษณ์ใส ยืดได้คล้ายเจลลี่ แต่ในช่วงก่อนมีประจำเดือน ตกขาวจะเปลี่ยนเป็นสีขาวขุ่นและข้น เป็นต้น 

สีของตกขาว บอกโรคอะไรได้บ้าง

สีของตกขาวที่เปลี่ยนแปลงไปจากสีใส หรือสีขาวขุ่น บ่งบอกถึงตกขาวที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติบางอย่างได้ นอกจากสีของตกขาวที่เปลี่ยนแปลงแล้วอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น ตกขาวมีกลิ่นเหม็น อาการคันช่องคลอด ปวดท้อง แสบร้อนบริเวณ ช่องคลอด ช่วยบ่งบอกว่าตกขาวดังกล่าวเป็นตกขาวที่ผิดปกติ ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการติดเชื้อในช่องคลอด ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ยังเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การอักเสบ เนื้องอก มะเร็ง รวมทั้งการมีสิ่งแปลกปลอมในช่องคลอด 

ตกขาวจากเชื้อราในช่องคลอด

อาการตกขาวจากเชื้อรามักมีลักษณะเป็นตกขาวสีขาวขุ่น รวมตัวกันเป็นก้อนเหมือนนมบูด หรือนมที่ขอบแก้วโยเกิร์ต มักมีอาการคันบริเวณช่องคลอด หรือขาหนีบร่วมด้วย

ตกขาว จากแบคทีเรียในช่องคลอด

ตกขาวมักมีปริมาณมากกว่าปกติ ตกขาวมีสีขาวอมเทา ร่วมกับมีกลิ่นเหม็น แต่ไม่มีอาการคัน ไม่ปวดท้อง และไม่แสบร้อนช่องคลอด

ตกขาวจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์

ตกขาวมักมีปริมาณมากกว่าปกติ ตกขาวมีสีเหลืองเขียวคล้ายหนอง มีกลิ่นเหม็น อาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ ปวดท้อง เลือดออกจากช่องคลอด เป็นต้น

การป้องกันการเกิดอาการ ตกขาว ผิดปกติ

ช่องคลอดในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์มีไกลโคเจน (glycogen) ในปริมาณมาก ซึ่งไกลโคเจนจะถูกเปลี่ยนเป็นกรดแลคติก (lactic acid) โดยการทำงานของแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus species) ซึ่งเป็นเชื้อประจำถิ่นในช่องคลอด (normal vaginal flora) ทำให้ช่องคลอดมีภาวะเป็นกรดอ่อน ๆ โดยค่าความเป็นกรดด่างอยู่ที่ pH 4.0 – 4.5 ภาวะความเป็นกรดดังกล่าวช่วยปรับสมดุลภายในช่องคลอดให้มีการเจริญเติบโตของเชื้อประจำถิ่นอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคอื่น ๆ เมื่อไรก็ตามที่ทำให้เกิดการเสียสมดุลของสภาวะภายในช่องคลอดไปจากปกติ เช่น ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen) ที่เปลี่ยนแปลง การได้รับยาฆ่าเชื้อ การมีสิ่งแปลกปลอมในช่องคลอด การมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในช่องคลอดและมีอาการตกขาวผิดปกติได้

การทำความสะอาดช่องคลอดอย่างไม่เหมาะสม เช่น ล้างทำความสะอาดมากหรือน้อยเกินไป อาจเป็นสาเหตุของการเสียสมดุลในช่องคลอด และทำให้เกิดอาการตกขาวผิดปกติได้ ดังนั้น การทำความสะอาดช่องคลอดที่เหมาะสมจึงเป็นหนึ่งวิธีในการป้องกันการเกิดอาการตกขาวผิดปกติได้ โดยการล้างช่องคลอดด้วยน้ำเปล่าเช้าเย็นก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้สบู่ เพราะความเป็นด่างในสบู่จะไปลดความเป็นกรดในช่องคลอดได้ ในกรณีที่ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่มีเหงื่อมาก แนะนำให้ล้างทำความสะอาดแล้วซับให้แห้ง เพื่อป้องกันเชื้อราที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน

การใช้น้ำยาล้างทำความสะอาดเฉพาะนั้นสามารถใช้ได้ เพียงแต่ต้องอ่านฉลากให้ดี เพราะบางยี่ห้อมีน้ำยาสำหรับเฉพาะบุคคล เช่น กลุ่มเด็กก่อนมีประจำเดือน กลุ่มผู้หญิงวัยมีประจำเดือน กลุ่มวัยหมดประจำเดือน เป็นต้น แต่ถ้าเป็นยี่ห้อทั่วไป มักจะเหมาะกับคนที่ยังมีประจำเดือนมากกว่าเด็กหรือผู้หญิงวัยทอง

การรักษาอาการตกขาวผิดปกติ

การรักษาอาการตกขาวผิดปกติขึ้นอยู่กับผลการวินิจฉัยโรคโดยแพทย์ จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย กล่าวคือ ตกขาวจากเชื้อราในช่องคลอดจะให้การรักษาโดยการใช้ยาฆ่าเชื้อราชนิดรับประทาน หรือชนิดเหน็บช่องคลอด ร่วมกับยาฆ่าเชื้อราชนิดทาภายนอก สำหรับตกขาวจากแบคทีเรียในช่องคลอดจะให้การรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อแบบรับประทาน โดยระยะเวลาในการรักษาเฉลี่ยอยู่ที่ 1–7 วัน เว้นแต่การติดเชื้อดังกล่าวเป็นการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่ลุกลามเข้าไปในมดลูกและรังไข่ จะต้องรักษาด้วยการใช้เป็นยาฉีดฆ่าเชื้อ และต้องใช้เวลาในการรักษาที่ยาวนานขึ้น

สุดท้ายอย่างที่กล่าวไปว่า อาการตกขาวสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน ดังนั้น การล้างเพื่อทำความสะอาดและซับให้แห้ง ก็ถือว่าเพียงพอแล้ว แต่หากมีอาการผิดปกติ เช่น ตกขาวเปลี่ยนสี ลักษณะตกขาวเปลี่ยนแปลงไป มีกลิ่นผิดปกติ มีอาการคัน ปวดท้อง หรือแสบร้อนบริเวณช่องคลอด ควรรีบมาพบแพทย์ ตรวจร่างกาย เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ >>> อาการตกขาวบอกโรคได้อย่างไร

 

ข้อมูลจาก

อ. พญ.สิริลักษณ์ ตันธนาวิภาส

สาขาวิชาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

มหาวิทยาลัยมหิดล

 

บริการด้านอื่น ๆ ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

Website: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/
Website Ramathibodi: https://www.rama.mahidol.ac.th/
Facebook: https://www.facebook.com/ramachannel
Line: https://page.line.me/ramathibodi