บทความรามา ก.ย._๑๗๐๘๓๑_0008
หน้าแรก
รู้จักกับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
รู้จักกับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออกยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญในสังคมไทย ทั้งยังเป็นสาเหตุการตายของคนไข้ส่วนหนึ่ง ทำให้การป้องกันโรคดังกล่าวยังคงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดก็มีการนำเอาวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกมาใช้งานเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง

ไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดจาก

เชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า “เดงกี” แบ่งออกเป็น 4 สายพันธุ์ โดยการติดเชื้อของแต่ละบุคคลนั้นจะมีอาการแตกต่างกัน บางรายไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการเล็กน้อย แต่บางรายก็อาจมีอาการรุนแรงที่บ่งบอกถึงอันตราย โดยอาการรุนแรงของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้เลือดออกนั้น ได้แก่ ช็อค มีเลือดออกผิดปกติ ตับวาย ตับเสีย สมองอักเสบ เสียชีวิต เป็นต้น ส่วนอาการแสดงที่ไม่รุนแรง ได้แก่ มีไข้ ปวดท้อง อาเจียน ตับโต รับประทานอาหารไม่ได้ เป็นต้น โดยความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนไข้แต่ละคนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ตัวคนไข้เอง สายพันธุ์ของเชื้อ หรือการติดเชื้อซ้ำในคนที่เคยติดเชื้อมาแล้วอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงมากกว่าเดิมได้เช่นกัน โดยกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้จะอยู่ในช่วงอายุ 10-30 ปี

วิธีการป้องกันการติดเชื้อไข้เลือดออก

ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดก็พบว่าการป้องกันด้วยวัคซีนเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ค่อนข้างใหม่ แม้จะคิดค้นมายาวนานกว่า 80 ปี แต่เพิ่งนำมาใช้อย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้ และเป็นวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูงทีเดียว

หลักการของวัคซีนคือ

เมื่อร่างกายได้รับวัคซีนเข้าไปแล้วจะทำการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัส ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นจะไปจับกับไวรัสดังกล่าวทำให้ไม่เกิดโรค โดยวัคซีนชนิดนี้คนที่สามารถรับได้นั้นต้องอยู่ในช่วงอายุ 9-45 ปี ข้อแนะนำคือควรฉีดทั้งหมด 3 เข็ม ทิ้งระยะห่างระหว่างเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 เป็นเวลา 6 เดือน ส่วนระยะห่างของเข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 เป็นเวลา 6 เดือนเช่นกัน วัคซีนชนิดดังกล่าวสามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ 66% จุดเด่นของวัคซีนคือช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ หรือลดอัตราการนอนโรงพยาบาลลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับระยะเวลาในการป้องกันโรคของวัคซีนนั้นต้องติดตามกันต่อไป เนื่องจากอยู่ในระหว่างวิจัยและยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่นอน

การรับวัคซีนสามารถรับได้ทั้งคนที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออกและคนที่ไม่เคยเป็นโรค

แต่เนื่องจากวัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนเชื้อเป็น กล่าวคือเป็นการนำเอาเชื้อไวรัสที่มีชีวิตอยู่มาทำเป็นวัคซีน ทำให้บุคคลบางกลุ่มควรหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนชนิดนี้ ได้แก่ ในผู้ที่มีโรคประจำตัวบางโรค หรือผู้ที่ได้รับยากดภูมิ ได้รับการเคมีบำบัด ผู้ติดเชื้อ HIV คนกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ ไม่สามารถรับวัคซีนเชื้อเป็นได้ รวมถึงในหญิงตั้งครรภ์ก็เช่นกัน ผลข้างเคียงของวัคซีนค่อนข้างน้อย อาจมีอาการปวดบวมแดง มีไข้ เบื่ออาหารเล็กน้อย และสามารถหายได้เองภายใน 1-2 วัน

ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกยังมีการวิจัยอย่างต่อเนื่อง อนาคตอาจขยายอายุผู้รับวัคซีนได้ถึง 60 ปี หรืออาจมีข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาในการป้องกันโรคของวัคซีนเพิ่มเติมออกมา และระยะเวลาที่ควรฉีดวัคซีนกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันเพิ่มเติม ทั้งนี้ทั้งนั้นยังคงเป็นเรื่องของอนาคตที่ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด ดังนั้นการรับวัคซีนจึงควรเป็นไปตามรายละเอียดที่ระบุ ณ ปัจจุบัน สำหรับค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยในจำนวนวัคซีนทั้งหมด 3 เข็มอยู่ที่ 8,000- 10,000 บาท

อย่างไรก็ตามทุกคนยังคงต้องป้องกันโรคด้วยวิธีการอื่นๆ ร่วมด้วย เนื่องจากตัววัคซีนไม่ได้ป้องกันโรค 100%  ได้แก่ การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย การทายากันยุง หรือใช้มุ้ง มุ้งลวด ก็ยังคงเป็นวิธีป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ สำหรับความจำเป็นในการรับวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก วัคซีนชนิดนี้มีคุณสมบัติในการป้องกันที่มีประสิทธิภาพสูง แต่โรคดังกล่าวก็ยังสามารถป้องกันเองด้วยวิธีต่างๆ ได้เช่นกัน

 

ข้อมูลจาก
ผศ. นพ.ชนเมธ เตชะแสนศิริ
รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “เตรียมพร้อมเพิ่มภูมิคุ้มกัน กับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก : พบหมอรามา ช่วง Big Story” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง โรคคางทูม เกิดจาก การใช้ หลอดดูดน้ำ เดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อได้
โรคคางทูม เกิดจากการใช้หลอดดูดน้ำเดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
บทความสุขภาพ
17-04-2024

1

บทความเรื่อง ยาระบาย แก้ท้องผูก ได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้นยาระบายช่วยให้อาการ ท้องผูก หายได้เบื้องต้น
ยาระบาย แก้ท้องผูกได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้น ยาระบายช่วยให้อาการท้องผูกหายได้เบื้องต้นเท่านั้น
บทความสุขภาพ
11-04-2024

1

บทความเรื่อง โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรค ผิวหนังอักเสบ เรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรค สะเก็ดเงิน รักษา อย่างไรได้บ้าง ?
โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรคสะเก็ดเงินรักษาอย่างไรได้บ้าง ?
บทความสุขภาพ
10-04-2024

8

บทความเรื่อง ปวดขมับ หรือท้ายทอย คือสัญญาณเตือน โรคไต ! จริงหรือไม่ ? ปวดศีรษะ บริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้มาสังเกตอาการกันว่าแบบนี้จะเข้าข่ายหรือไม่แล้วเมื่อเป็น โรคไต อาการ จะเป็นอย่างไร ?
อาการปวดศีรษะที่ต้องเฝ้าระวัง หากมีอาการปวดบริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้ มาสังเกตอาการกันว่าเมื่อปวดขมับหรือท้ายทอยแบบนี้จะเข้าข่ายเป็นโรคไตหรือไม่ !
บทความสุขภาพ
05-04-2024

5