FOMO (Fear of Missing Out) : ก็ฉันกลัวตกกระแส!
ติ๊กแต๊ก! ติ๊กแต๊ก! ตื้อดึ่ง! ตื้อดึ่ง! ตึ่งโป๊ะ! แฮร่!
…….
line.e..! line.e..!
แบบนี้หละครับคุณหมอ
เพื่อนของคุณเป็นคนติด Social Media มากๆ เลยนะคะ
ครับคุณหมอ เพื่อนของผมเขาติดโทรศัพท์มือถือมาก ๆ เรียกได้ว่าเช็คตลอดเวลา บางครั้งก็หัวเราะหรือพูดคุยกับหน้าจอมือถือก็มี เวลาผมพูดอะไรเธอก็มักไม่มีสมาธิที่จะตั้งใจฟังเลย
แล้วมีอาการอะไรอื่นๆ อีกไหมคะ?
มีครับ ผมสังเกตเห็นเธอมักจะเช็คข่าวฮอตฮิตและยอดไลก์อยู่ตลอดเวลาว่ามันเยอะหรือยัง ถ้าวันไหนยอดไลก์น้อยๆ เธอก็จะเครียด หงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี
คุณหมอว่าเพื่อนของคุณน่าจะเข้าข่ายคนที่มีอาการ FOMO (โฟโม) นะคะ
มันคืออะไรครับ ชื่อแปลกดีจัง?
อาการ FOMO หรือ Fear of Missing Out คืออาการของคนที่กลัวการตกข่าว กลัวตกกระแส อีกทั้งกลัวการไม่เป็นที่ยอมรับ กลัวไม่ได้เป็นคนสำคัญ เพราะฉะนั้นเขาจะต้องเช็คข่าวสารตลอดเวลา ฉันต้องรู้ก่อนใคร ฉันจะต้องแชร์ ฉันจะต้องได้ไลก์เยอะๆ พอพลาดอะไรไปหรือไม่ได้ดั่งใจก็จะเกิดอาการเครียดขึ้นมา
คนส่วนใหญ่ที่มีอาการ FOMO มักจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีปัญหา เพราะชีวิตจะวนเวียนอยุ่แต่กับโลกออนไลน์ ไม่รู้ว่าตัวเองกำลัง “เสพติด” และมันส่งผลต่อบุคลิกภาพและการพัฒนาอื่นๆของตัวเขา
“อาการนี้เกิดได้ในทุกวัย แต่พบมากในวัยรุ่น เพราะเป็นช่วงที่สมองส่วนอารมณ์พัฒนาเยอะ แต่สมองส่วนเหตุผลยังทำงานไม่เต็มที่ รวมถึงเป็นวัยที่ยังค้นหาตัวเอง อยากเป็นที่ยอมรับ อยากมีความสำคัญ”
เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นอยู่เป็นประจำที่วัยรุ่นจะทำอะไรเพื่อแลกไลก์ในสื่อออนไลน์ ให้รู้สึกว่าเป็นที่น่าสนใจ มีคนชอบในสิ่งที่ฉันทำนั่นเองค่ะ
แล้วแบบนี้หากเป็นไปเรื่อย ๆ จะเกิดอะไรขึ้นได้บ้างครับ เพราะปัจจุบันก็มีคนใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น ๆ
1. โรคหลงตัวเอง เพราะรู้สึกว่าตัวเองเจ๋ง ตัวเองดีตลอดเวลา มีคนชอบฉันเยอะ
2. รับฟังคนอื่นได้น้อยลง
3. ผิดหวังกับอะไรยากขึ้น เมื่อมีคนไม่เห็นด้วยหรือโดนตำหนิ ก็จะรู้สึกโกรธแค้น ทนไม่ได้
4. โรคซึมเศร้า อะไรที่เราเคยได้แล้วมีความสุขอยู่ตลอดพอวนหนึ่งไม่มีก็เกิดความสงสัยในตัวเองว่าฉันไม่ดีแล้วหรอ เกิดความทุกข์ในจิตใจ คิดทำอะไรแบบไม่ไตร่ตรอง
แล้วเราจะป้องกันมันอย่างไรดีครับไอ้เจ้าอาการ FOMO นี่
เราต้องตระหนักรู้ตัวเองก่อนว่า สิ่งที่กำลังเป็นอยู่มันส่งผลลบในอนาคตได้ แม้ปัจจุบันเราจะรู้สึกดี รู้สึกเป็นที่ยอมรับ รู้สึกมีเพื่อนก็ตาม
คนรอบข้างต้องคอยสังเกต พยายามพูดคุยด้วย I Message คือการพูดแทนความรู้สึกของตัวเอง การกังวลของตัวเรา ไม่ใช่พูดแบบต่อว่า เช่น เล่นอะไรเนี่ยทั้งวัน ไร้สาระมากๆ แต่ควรพูดด้วย…
“เธอ…”
“เรารู้สึกเป็นห่วงเธอมากๆเลยที่อยุ่กับโทรศัพท์มือถือทั้งวัน”
“เราสังเกตเห็นว่าเธอหงุดหงิด อารมณ์ไม่ดีบ่อยๆนะ เวลาที่ไม่ได้เล่น เรารู้สึกไม่สบายใจเลย”
“เรามาช่วยกันลดเวลาให้กับพวกนี้ลงได้ไหม การได้ทำอะไรหลายๆอย่างมันสนุกกว่านี้มากนะ”
“เราอยากมีเวลาอยู่กับเธอมากขึ้นกว่านี้”
“อื้มมม… จะพยายามนะ เราเริ่มจะเข้าใจแล้วหละ ว่าเราติดมันจริง ๆ”
“ขอบคุณที่เป็นห่วงกันนะ”
“เรื่องเล็ก ๆ ในวันนี้ สามารถกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ในวันข้างหน้า”
ผู้ป่วยจะหายเป็นปกติได้นอกจากแพทย์แล้วคนรอบข้างก็สำคัญไม่แพ้กัน ดูแลกัน ห่วงใยกัน เป็นสิ่งที่ดีที่เราจะมอบให้แก่กันง่ายๆ ได้ทุกวันนะคะ
ข้อมูลจาก
อ. พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล