Burnout Syndrome ภาวะหมดไฟจากการทำงาน
ช่วงนี้หลายคนอาจมีการเปลี่ยนงานกันบ้าง ซึ่งเกิดมาจากหลากหลายสาเหตุ แต่หนึ่งในสาเหตุที่คนเราอยากลาออกหรือไม่อยากทำสิ่งที่ทำอยู่อยู่เป็นประจำแล้วก็คือการหมดไฟ เรามักจะได้ยินบ่อย ๆ หลังจากใครคนหนึ่งไม่อยากทำสิ่งที่เขาทำอยู่ แล้วถ้าหากอยากเติมเชื้อไฟให้ลุกขึ้นสู้ต้องทำอย่างไรล่ะ ? วันนี้ RAMA Channel มีคำตอบให้ทุกคนมาเติมเชื้อไฟกันครับ
ภาวะหมดไฟ burnout syndrome
หมายถึง การตอบสนองต่อความเครียดเรื้อรังทางอารมณ์และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอันเกิดจากการทำงาน โดยประกอบด้วย 3 ด้าน คือ
- ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ (emotional exhaustion) เช่น ความรู้สึกหมดแรงเมื่อหมดเวลาทำงาน
- ความรู้สึกแยกจากความเป็นบุคคล (depersonalization) เช่น ความรู้สึกว่าได้ปฏิบัติกับผู้อื่นเสมือนเขาเป็นสิ่งไร้ชีวิตจิตใจ
- ความคิดว่าตนเองด้อยความสามารถ ไม่ประสบความสำเร็จ (reduced personal accomplishment) เช่น ความคิดว่าไม่สามารถแก้ปัญหางานได้
ใครที่เสี่ยงต่อภาวะหมดไฟ ?
ผู้ที่ทำงานลักษณะที่ต้องเผชิญกับความเครียด ความกดดัน มีภาระงานมากเกินไปเมื่อเทียบกับเวลาพักผ่อน รวมถึงผู้ที่มีบุคลิกภาพเชื่อมั่นในตนเองน้อย และมีการจัดการกับความเครียดได้ไม่ดี
อาการต่าง ๆ ในการทำงาน ซึ่งนำมาสู่ภาวะหมดไฟ
- ด้านการทำงาน ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ขาดสมาธิ ลางานบ่อย ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานแย่ลง
- ด้านร่างกาย มีความรู้สึกเหนื่อยต่อเนื่องเรื้อรัง รวมถึงอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยไม่พบความผิดปกติอื่นที่ชัดเจน
- ด้านจิตใจ นอนไม่หลับ มีภาวะซึมเศร้า
หากเกิดภาวะหมดไฟ ต้องรับมืออย่างไร
การดูแลในส่วนของบุคคล เข้าใจอารมณ์และความคิด เมตตาต่อตนเอง ปรับมุมมองตามความเป็นจริง
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกาย
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- จัดเวลาในการทำงานให้มีช่วงพัก
- ตอบสนองความต้องการของคนทำงาน
ข้อมูลโดย
รศ. พญ.ดาวชมพู นาคะวิโร
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล