thumbnail ซน สมาธิสั้น-01
หน้าแรก
ซน สมาธิสั้น ต้นตอสู่ปัญหาการเข้าสังคม
ซน สมาธิสั้น ต้นตอสู่ปัญหาการเข้าสังคม

โรคซน สมาธิสั้น

เป็นโรคที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนจากปกติ เด็กเล็ก ๆ จะมีพฤติกรรมซน สมาธิสั้นและหุนหันพลันแล่น ยังควบคุมตัวเองไม่ได้ตามวัยเนื่องจากพัฒนาการของสมองส่วนการควบคุมตนเองยังพัฒนาไม่มาก เมื่อค่อยๆเติบโตขึ้น เด็กจะมีความสามารถในการควบคุมตนเองได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ จนเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยเรียน จะสามารถนั่งเรียนได้นานขึ้น และยับยั้งชั่งใจได้เมื่อมีความต้องการ รอได้นานขึ้น แต่ถ้าเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะเหล่านี้ได้เหมือนในวัยเดียวกัน ก็จะเป็นปัญหาในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม หากมีปัญหามาก ก็อาจมีอุบัติเหตุเกิดการบาดเจ็บค่อนข้างรุนแรงเนื่องจากซนมาก เช่น เป็นแผลต้องเย็บ กระดูกหัก หรือหยิบหรือกินของอันตรายเพราะอยากเล่นอยากกิน เป็นต้น รวมทั้งมีปัญหาการอยู่ร่วมกับคนอื่น เล่นกับเพื่อน ๆ แรง ไม่ยอมรอ เมื่อถึงวัยที่ควรนั่งเรียนเขียนอ่านได้ ก็ไม่สามารถทำได้ มักเดินเรียน หรือรบกวนคนอื่นขณะเรียน พฤติกรรมของเด็กอาจมีปัญหามากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและสภาพแวดล้อม อย่างไรก็ตาม เด็กมักไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคก่อนอายุ 5 ปีนอกจากจะมีปัญหาอย่างรุนแรงชัดเจน เด็กทุกคนทั้งที่เป็นและไม่เป็นโรคจะมีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาลดลงเสมอ เนื่องจากสมองสส่วนการควบคุมตนเองพัฒนาเพิ่มขึ้น

ผู้ปกครองควรทำอย่างไร

  • การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ในวัยเด็กเล็กควรมีสถานที่ที่เด็กสามารถวิ่งเล่นปีนป่ายได้อย่างอิสระและมีความปลอดภัย ควรจัดเก็บของที่อาจเป็นอันตรายไม่ให้เด็กหยิบมาเล่นได้ ในกรณีเด็กวัยเรียนเมื่อต้องทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิ เช่น เรียนออนไลน์ หรือทำการบ้าน เป็นต้น ควรจัดให้เด็กนั่งเรียนหรือทำการบ้านในที่ไม่มีสิ่งเร้ามาคอยกระตุ้นความสนใจ ซึ่งจะทำให้เด็กวอกแวกและเสียสมาธิง่าย อาจเป็นห้องที่เงียบหรือนั่งหันหน้าเข้าหากำแพง
  • ผู้ปกครองควรมีเวลาคุณภาพในการทำกิจกรรมกับเด็กในสิ่งที่เด็กสนใจเท่าที่พอหาโอกาสได้ในแต่ละวันหรือสัปดาห์ โดยเฉพาะเด็กเล็ก เพื่อจะได้สังเกตพฤติกรรมและความสนใจเด็กได้อย่างใกล้ชิด หากเด็กได้ทำกิจกรรมที่ตนเองสนใจ มักมีแนวโน้มที่จะทำได้ค่อนข้างนาน ยิ่งถ้ามีผู้ปกครองอยู่ด้วย ก็จะช่วยให้มีทำกิจกรรมนั้นได้นานต่อเนื่องมากขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาการจดจ่อมีสมาธิในการทำกิจกรรม และเพิ่มการมีความสัมพันธ์ที่ดี เมื่อต้องมีการดุเตือนกันบ้างในโอกาสอื่น ๆ เด็กก็จะรับฟังมากขึ้น
  • ลดหรือหลีกเลี่ยงการดุด่าว่ากล่าวโดยไม่จำเป็น เช่น หากเด็กซุกซน ก็ไม่จำเป็นต้องดุหรือห้ามอยู่ตลอด เพราะเด็กจะเคยชินและไม่ฟังการห้ามหรือที่ถูกดุ ควรแก้ที่สาเหตุ เพราะเด็กที่ซนมาก มักต้องมีอะไรทำอยู่เสมอ ไม่ควรคาดหวังให้เด็กอยู่นิ่งๆนานๆ หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการตีเด็ก เพราะการตีอาจหยุดเด็กได้เพียงชั่วคราว แต่เมื่อเด็กถูกตีประจำ เด็กอาจเลียนแบบความรุนแรง แล้วตีคนอื่นบ้างเมื่อโกรธหรือหงุดหงิด
  • ควรพยายามมองหาข้อดีและให้คำชมเชยตามโอกาส เด็กที่ซนมักชอบช่วยทำสิ่งต่างๆ แต่ผู้ปกครองมักไม่อยากให้ทำ เพราะกลัวจะทำเสียหาย ควรให้โอกาสเด็กช่วยทำเท่าที่พอทำได้ และมีผู้ใหญ่คอยกำกับดูแล และให้คำชมเชยว่า แม่ชอบที่หนูมาช่วยแม่ทำหรือถ้าวันนั้นทั้งวันเด็กดูไม่ซนมากเหมือนเคย ก็สามารถให้คำชมได้ว่าวันนี้หนูไม่ซนมาก แม่ชอบ แม้เด็กจะมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ไม่มากนัก แต่หากได้รับการชมเชยอยู่ประจำ ก็จะมีความพยายามที่จะค่อยๆมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การชมเด็กควรต้องเป็นไปตามที่เกิดขึ้นจริง ไม่ชมลอย ๆ