โรคลมแดด คือ
โรคที่เกิดจากความร้อนชนิดหนึ่ง โดยโรคที่เกิดจากความร้อนนั้นมีหลายระดับ ซึ่งโรคลมแดดเป็นภาวะฉุกเฉินที่รุนแรงที่สุด ถ้าได้รับการรักษาไม่รวดเร็วเพียงพอ อาจส่งผลให้คนไข้ถึงแก่ชีวิตได้ โดยในหนึ่งปีมีคนไข้เสียชีวิตจากโรคนี้เฉลี่ยกว่า 800 ราย
โดยปกติแล้วร่างกายของเราจะมีการสร้างความร้อนอยู่ภายในแล้วก็ค่อยๆสลายความร้อนออกไป คือถ้าอุณหภูมิข้างนอกสูงขึ้น หรือ อุณหภูมิภายในร่างกายสูงขึ้น ร่างกายเราจะขับความร้อนออกมาด้วยวิธีการดังนี้
- การแผ่ความร้อน คือการแผ่ออกไปในอากาศรอบๆ
- การนำความร้อน คือการที่มีวัตถุมาสัมผัส เช่นการเอาผ้าชุบน้ำมาโปะไว้ที่หน้าผาก
- การพาความร้อน เช่น การอาบน้ำ
วิธีการขับความร้อนที่ร่างกายเราใช้เป็นหลักคือ การแผ่ความร้อน
โดยเส้นทางที่จะทำให้ความร้อนออกจากร่างกายก็คือ เหงื่อ ซึ่งปกตินั้นร่างกายของเราจะคงอุณหภูมิไว้ได้ที่ 36-37 องศา แต่ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นก็จะมีกลไกไปบอกสมอง บริเวณ “ไฮโปทาลามัส” ที่จะทำให้เส้นเลือดขยายตัวโดยเฉพาะที่ผิวหนังและมีการสร้างเหงื่อเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยลดการสร้างความร้อนในร่างกาย จากนั้นร่างกายจะสั่งให้ปรับพฤติกรรมเพื่อให้รับมือกับความร้อนได้ เรียกว่า ขบวนการขับความร้อน แต่ถ้าอากาศชื้นมากกลไกนี้ก็จะเสียไป เพราะฉะนั้นหากอุณหภูมิสูงผนวกกับความชื้นสูง ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับโรคความร้อนโดยเฉพาะลมแดด
ลักษณะอาการของโรคที่เกิดจากความร้อน
- มีภาวะบวมจากความร้อน ในส่วนของเท้ากับข้อเท้า แต่ถ้าเราลดอุณหภูมิและหลีกเลี่ยงความร้อนได้ อาการเหล่านี้ก็จะยุบลง หรือบางทีจะหายไปเอง
- เป็นผื่นที่เกิดจากความร้อน หรือผื่นแดด มีลักษณะเป็นผื่นแดง คัน มีตุ่มแดงๆขึ้นตามร่างกาย ในลักษณะคล้ายการเป็นผด ซึ่งแก้ด้วยการใส่เสื้อผ้าที่บางเบาเพื่อคลายความร้อน
- ตะคริวแดด คือเมื่อความร้อนสูงขึ้นก็จะเกิดการเป็นตะคริว โดยเฉพาะบริเวณน่อง ซึ่งปกติจะเจอในกลุ่มคนที่ออกกำลังกาย แต่คนไข้ที่สัมผัสกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นก็สามารถเป็นได้เช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการสูญเสียเกลือแร่ ซึ่งแก้ด้วยการทานน้ำเกลือแร่ชดเชยในกรณีที่อาการไม่เยอะ แต่ถ้าอาการหนักขึ้น ควรพบแพทย์
- เพลียแดด จะเริ่มมีอาการเยอะขึ้น มีการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว เวียนหัว ท้องเสีย อาจมีการหน้ามืด ใจสั่น ความดันโลหิตสูง แก้ได้โดยทานน้ำเกลือแร่
- ลมแดด เป็นภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายเกิน 40 องศา ร่วมกับอาการทางระบบประสาท โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของความรู้สึก เช่น ซึม สับสน หรือบางทีอาจจะถึงขั้นชักและหมดสติได้เลย
นอกจากนี้ความร้อนยังส่งผลต่อร่างกายทำให้เซลล์ทำงานผิดปกติ และเซลล์สามารถตายได้ อีกทั้งยังส่งผลให้อวัยวะต่างๆทำงานผิดปกติหรือล้มเหลวได้หลายระบบมาก เช่น ตับ ไต กล้ามเนื้อสลาย เกลือแร่ผิดปกติ เป็นผลให้เสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นหากเราพบผู้ที่เป็นลมแดดเราควรจะปฐมพยาบาลเบื้องต้นในทันที
วิธีปฐมพยาบาล
- นำคนไข้ออกมาที่เย็น ถอดเสื้อผ้าเพื่อระบายความร้อน
- พ่นละอองน้ำ หรือพรมน้ำ เอาพัดลมมาเป่า ซึ่งช่วยในการระเหย
- สามารถวางน้ำแข็ง ผ้าเย็น ไว้แค่บางจุด เช่นคอ หรือหน้าผาก
ข้อมูลจาก
ผศ. พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย
ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล