ยาแก้แพ้ เป็นยาสามัญประจำบ้านที่ช่วยรักษาอาการคัดจมูก มี น้ำมูก ไอ จาม ผื่นคัน การใช้ยาแก้แพ้โดยไม่มีข้อบ่งชี้ ไม่รู้สรรพคุณหรือผลข้างเคียงของยา นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพและเป็นอันตรายกับร่างกายของผู้สูงอายุแล้ว ยาแก้แพ้บางชนิดยังส่งผลต่อการทำงานของสมองทำให้เกิดอาการคล้ายภาวะสมองเสื่อมได้อีกด้วย
ยาแก้แพ้ คืออะไร ?
ยาแก้แพ้เป็นยาที่ใช้ป้องกันหรือบรรเทาอาการแพ้ เมื่อเราได้รับสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้เข้ามาในร่างกาย สารเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารฮิสตามีน (histamine) ซึ่งจะทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้นในร่างกาย เช่น น้ำมูกหรือน้ำตาไหล เยื่อตาอักเสบ ผื่นคันตามผิวหนัง ยาแก้แพ้จะเข้าไปยับยั้งการออกฤทธิ์ของสารฮิสตามีนและบรรเทาอาการแพ้ได้
ยาแก้แพ้มีสรรพคุณอย่างไร ?
- บรรเทาอาการน้ำมูกไหล ไอ จาม จากการแพ้อากาศ
- บรรเทาอาการผื่นคัน ลมพิษ
รูปแบบของยาแก้แพ้ในปัจจุบัน
มีทั้งรูปแบบเม็ด ยาน้ำ และยาฉีด
- ยาแก้แพ้แบบเม็ด รักษาอาการแพ้และมี น้ำมูก
- ยาแก้แพ้แบบน้ำ มีลักษณะของยาจะเป็นแบบน้ำเชื่อม ใช้กับผู้ป่วยเด็กเล็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปจนถึงเด็กโต
- ยาแก้แพ้แบบฉีด ใช้กับผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรง เช่น มีอาการบวมตามใบหน้า เช่น ปาก ตา หายใจลำบากหรือติดขัด เยี่อบุรอบตาบวม หรือมีอาการรุนแรงหลายอาการร่วมกัน
ยาแก้แพ้แบบทำให้ง่วงและไม่ทำให้ง่วง ต่างกันอย่างไร ?
- ยาแก้แพ้แบบที่ทำให้ง่วง เป็น ยาแก้แพ้ กลุ่มดั้งเดิม เช่น คลอเฟนิรามีน (chlorpheniramine) ไดเฟนไฮดรามีน (diphenhydramine) ไดเมนไฮดริเนต (dimenhydrinate) ไฮดรอไซซีน (hydroxyzine) บรอมเฟนิรามีน (brompheniramine) คีโตติเฟน (ketotifen)
ยากลุ่มนี้จะสามารถผ่านเข้าสู่สมองไปกดประสาทโดยตรงทำให้รู้สึกง่วงซึม กระวนกระวาย นอนไม่หลับ ความจำไม่ดีในผู้สูงอายุ การกินยาแก้แพ้แบบง่วงโดยเฉพาะในวัยสูงอายุจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทาน
- ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วง (non-sedating antihistamines)
ยาแก้แพ้ชนิดนี้เป็นตัวยาที่จะผ่านเข้าสมองได้น้อย จึงทำให้กินแล้วไม่ง่วงซึมเท่ายาแก้แพ้แบบดั้งเดิม ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วงในปัจจุบัน เช่น ยาเซทิริซีน (cetirizine) เลโวเซทิริซีน (levocetirizine) เฟโซเฟนาดีน (fexofenadine) และลอราทาดีน (loratadine)
ข้อควรระวังการใช้ยาแก้แพ้
- ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการควบคุมเครื่องจักรหรือขับรถ ไม่ควรใช้ยาแก้แพ้ชนิดนี้
- ห้ามใช้ร่วมกับยากล่อมประสาท ยานอนหลับ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ระวังการใช้ในเด็กเล็ก โดยเฉพาะที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบ เพราะอาจทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- หญิงมีครรภ์และหญิงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา
ผู้ที่ไม่ควรใช้ ยาแก้แพ้
- โรคตับ โรคไต
- โรคหืด
- โรคความดันโลหิตสูง
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- รับประทานยาคลายกล้ามเนื้อบางชนิด
- รับประทานยานอนหลับ ยาต้านอาการซึมเศร้า เพราะยากลุ่มนี้มีฤทธิ์กดระบบประสาท
ยาแก้แพ้ ทำให้สมองเสื่อมจริงหรือไม่ ?
ยาแก้แพ้ไม่ได้เป็นสาเหตุที่จะทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมโดยตรง แต่เกิดจากการรับประทานยาหลายชนิดที่มีฤทธิ์กดประสาทแล้วเกิดผลข้างเคียงของยาที่จะไปกดการทำงานของสมองทำให้รู้สึกตื่นตัว รู้ตัวรู้เรื่องต่าง ๆ ลดลง เพราะฉะนั้นคนที่รับประทานยาหลายชนิดร่วมกันหรือเป็นวัยที่ไม่เหมาะกับการรับประทานยาที่มีฤทธิ์กดประสาทและสมอง เช่น ผู้สูงอายุ จะรู้สึกลืมไปช่วงขณะที่ยาออกฤทธิ์ ความตั้งใจหรือสมาธิในการเรียนรู้หรือจดจำบางอย่างลดลง จึงคล้ายกับภาวะสมองเสื่อม
รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ >>> ยาแก้แพ้รับประทานแล้วเสี่ยงสมองเสื่อมจริงหรือไม่ ?
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อมจากยาแก้แพ้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาแก้แพ้โดยไม่จำเป็น
- ควรรับประทานยาแก้แพ้เมื่อมีข้อบ่งชี้ตามลักษณะของอาการ
- หากมีโรคประจำตัวหรือมียาอื่น ๆ ที่รับประทานเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
ข้อมูลจาก
ผศ. พญ.อรพิชญา ศรีวรรโณภาส
สาขาวิชาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ
ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
อย่าลืมกดติดตามช่อง Rama Channel ที่น่าสนใจอีกมากมายได้ที่
Website: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/
Website Rama mahidol : https://www.rama.mahidol.ac.th/
Facebook: https://www.facebook.com/ramachannel