อาการป่วยทางจิตเป็นกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติทางความคิด การรับรู้ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ทำให้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และหลายครั้งนำมาซึ่งผลเสียที่พบบ่อยในสังคม เช่น การทำร้ายผู้อื่น ทำให้ผู้ป่วยด้วยโรคทางจิตเวชถูกมองเป็นคนน่ากลัว หรือถูกอคติจากสังคม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นโรคดังกล่าวสามารถบำบัดเพื่อให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตปกติในสังคมได้ เริ่มต้นที่คนในครอบครัวผู้ป่วยเอง
อาการป่วยทางจิตเวชเกิดจาก
สารเคมีสื่อประสาทในสมองถูกรบกวน เช่น การใช้สารเสพติด กรรมพันธุ์ การติดเชื้อ เป็นต้น ส่งผลให้สารเคมีในสมองเกิดการเปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านอารมณ์และพฤติกรรมการแสดงออก เนื่องจากสารเคมีที่เปลี่ยนแปลงในสมองนั้นส่งผลทางด้านความคิด การรับรู้ และการใช้ชีวิตในสังคม
- ผลกระทบต่อความคิดคือผู้ป่วยจะมีอาการหลงผิด หรือคิดว่าจะมีคนมาทำร้ายทั้งที่ไม่มี
- ผลกระทบต่อการรับรู้คือการเห็นภาพหลอน หูแว่ว แตกต่างไปจากความเป็นจริง สามารถรับรู้ได้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 แต่ที่พบบ่อยที่สุดคืออาการหูแว่ว
- ผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในสังคม คือผู้ป่วยจะไม่สามารถทำงานได้ ไม่มีสมาธิ เนื่องจากเสียงรบกวนที่เกิดขึ้นจากความคิดของตนเอง
วิธีการสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้างว่าเข้าข่ายผู้ป่วยอาการทางจิตเวชหรือไม่นั้น
เริ่มต้นจะต้องมีความเครียดเกิดขึ้นก่อน และเริ่มมีเสียงหรือบางสิ่งมารบกวน หรือมีความคิดที่ฝังใจ รวมถึงมีความระแวง มีพฤติกรรมแยกตัวออกจากสังคม เป็นต้น
การบำบัดรักษา
แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ การบำบัดโดยการใช้ยาและไม่ใช้ยา การใช้ยาจะให้ยาเป็นตัวปรับสารเคมีในสมองที่เป็นผลต่อโรคให้มีความสมดุล ส่วนการรักษาโดยไม่ใช้ยาจะดูแลในเรื่องของความเครียดที่ไปกระตุ้นให้เกิดโรค หรือรักษาอาการป่วยทางร่างกายที่ทำให้เกิดโรคทางจิตเวช
การรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยด้วยโรคทางจิตเวช เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตปกติในสังคมได้ มีดังนี้
- ตรวจพบแต่เนิ่นๆ รักษาให้เร็วและต่อเนื่อง
- ครอบครัว ชุมชน และสังคมให้การสนับสนุน พูดคุยแบ่งปันประสบการณ์และความรู้สึกกับผู้ป่วย
- ให้ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรมที่มีความหมายต่อชีวิต ได้แก่ การเรียน งานอาชีพ งานอดิเรก
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา การใช้สารเสพติด
การดูแลผู้ป่วยโรคจิตเวช
คนในครอบครัวคือส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ควรทำความเข้าใจ เปิดใจรับฟัง รวมถึงให้กำลังใจผู้ป่วย และไม่มองว่าผู้ป่วยเป็นบุคคลอันตราย หรือแสดงอาการหวาดกลัวต่อผู้ป่วย หลีกเลี่ยงการพูดจาด้วยถ้อยคำรุนแรงต่อผู้ป่วย เพราะอาจส่งผลให้อาการมีความรุนแรงมากขึ้น
ข้อมูลจาก
ผศ. พญ.ดาวชมพู นาคะวิโร
ภาคจิตเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล