Health check-up! ไกด์ ตรวจสุขภาพประจำปี สำหรับวัยทำงาน
หน้าแรก
Health check-up! ไกด์ตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับวัยทำงาน

Health check-up! ไกด์ตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับวัยทำงาน

ใกล้ปีใหม่เข้ามาทุกทีแล้ว หลาย ๆ คนอาจมองหาสถานที่พักผ่อนหรือหาของขวัญปีใหม่ให้ตนเอง หลังจากทำงานหนักมาทั้งปี ทำให้หลาย ๆ ท่านไม่มีเวลาดูแลสุขภาพตัวเอง อาจทำให้มีทรุดป่วยไปบ้าง ดังนั้นการ ตรวจสุขภาพประจำปี จึงมีความสำคัญเพื่ออัพเดทสุขภาพตนเองว่าเป็นอย่างไร เพราะการป้องกันง่ายกว่าการรักษาทีหลัง วันนี้รามาแชนแนลมีบทความสาระน่ารู้เกี่ยวกับการตรวจสุขภาพของคนวัยทำงานว่าทำไมต้องตรวจ ? ตรวจอะไรบ้าง ? มาแบ่งปันกัน

ทำไมถึงต้อง ตรวจสุขภาพประจำปี

“สุขภาพดี” คือ ความต้องการและความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ ที่มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และสิ่งแวดล้อมรอบตัว  ถ้ามนุษย์ต้องการมีสุขภาพที่ดี นอกเหนือจากการออกกำลังกาย การนอนหลับให้เพียงพอ และการรับประทานอาหารที่ดีนั้นยังคงไม่เพียงพอ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการตรวจคัดกรองสุขภาพของตนเอง เนื่องจากโรคและความเจ็บป่วยต่าง ๆ อาจเข้ามาโดยไม่รู้ตัว แม้ว่าจะดูแลร่างกายเป็นอย่างดี และด้วยเหตุผลด้านอายุ ความเสื่อมของร่างกาย การสัมผัสสิ่งคุกคามจากสิ่งแวดล้อม รวมถึงพันธุกรรมในครอบครัวแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ย่อมส่งผลทำให้เกิดโรคได้โดยไม่มีสัญญาณเตือนหรือบอกกล่าวให้ทราบล่วงหน้า โดยเฉพาะบางคนที่ทำงานจนไม่มีเวลาและไม่ได้สังเกตตนเอง เมื่อทราบอีกทีก็มีอาการมากจนอาจสายเกินไป

วัยทำงาน (ช่วงอายุ 20 – 60 ปี) จำเป็นต้องตรวจอะไรบ้าง

คุณหมอแนะนำการตรวจสุขภาพทั่วไป ดังนี้

  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) เป็นการตรวจเพื่อดูลักษณะของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดว่าสมบูรณ์ดีหรือไม่ เช่น มีภาวะโลหิตจางหรือไม่ และมีภาวะการอักเสบเกิดขึ้นในร่างกายหรือไม่ เป็นต้น
  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting Blood Sugar) เป็นการตรวจเพื่อดูความเสี่ยงของโรคเบาหวาน ในบุคคลอายุระหว่าง  40 – 70 ปี
  • ตรวจระดับไขมันในเลือด (Lipid Profiles) เป็นการตรวจเพื่อดูความเสี่ยงของหลอดเลือดและหัวใจ ถ้ามีปริมาณมาก ก็จะมีความเสี่ยงของหลอดเลือดและหัวใจมากขึ้น
  • ตรวจการทำงานของตับและไต เนื่องจากอวัยวะทั้งสองมีหน้าที่ในการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย สร้างสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย ถ้าค่าการทำงานของตับและไตปกติ ก็จะสามารถบอกถึงความสามารถในการกำจัดของเสียออกจากร่างกายที่ปกติ แต่ถ้าค่าผิดปกติ ก็จำเป็นจะต้องดูสาเหตุของการทำงานที่ผิดปกติโดยแพทย์อีกครั้ง

ตรวจสุขภาพเพิ่มเติม

  • เพศชาย – แนะนำให้เพิ่มการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ในบุคคลกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุตั้งแต่ 55 – 69 ปี
  • เพศหญิง – แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ในอายุมากกว่า 35 ปี หรือผู้หญิงที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว อันเนื่องมาจากความเสี่ยงของการรับเชื้อไวรัส HPV รวมถึงการคัดกรองมะเร็งเต้านม แนะนำให้เข้ารับการตรวจแมมโมแกรม(การเอกซเรย์เต้านมด้วยปริมาณรังสีขนาดต่ำ) ในหญิงอายุระหว่าง 50 – 74 ปี

นอกจากนั้น คนวัยทำงานที่ทำงานในสถานประกอบการยังจำเป็นต้องตรวจคัดกรองความเสี่ยงจากการทำงาน เช่น การสัมผัสฝุ่น สารเคมี โลหะหนักบางชนิด หรือการสัมผัสเสียงดัง โดยแนะนำให้ตรวจตามความเสี่ยงรายแผนก หรือเฉพาะบุคคล นอกจากจะเป็นการตรวจเพื่อคัดกรองและป้องกันความเสี่ยงแล้ว ยังเป็นการตรวจเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายกำหนดไว้อีกด้วย

คุณหมออยากบอก

“ในฐานะที่เป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และอาชีวเวชศาสตร์ ต้องตอบว่าความคิดดังกล่าว เป็นเรื่องที่น่ากังวล แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่แปลกใจอะไร เพราะในปัจจุบัน ผู้คนโดยส่วนใหญ่ย่อมนึกถึงเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้องของตนเองและครอบครัวก่อนเรื่องสุขภาพอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม หลายคนลืมคิดไปว่า ถ้าตนเองไม่แข็งแรงพอ หรือเริ่มมีปัญหาสุขภาพเมื่อไหร่ ก็จะมีผลต่อการทำงานของตนเองทันที แม้ว่าจะฝืนตนเองไปทำงาน แต่ประสิทธิภาพการทำงานไม่เต็มที่ และอาจส่งผลให้ต้องหยุดงานในระยะยาวในที่สุด”

 

ข้อมูลโดย

ผศ. นพ.จาตุรนต์ ตั้งสังวรธรรมะ

โรงเรียนแพทย์รามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดตาม Rama Channel เพื่อรับข้อมูลด้านสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่ 

บทความที่เกี่ยวข้อง

ติด HIV อาการ สาเหตุ และการป้องกัน
HIV เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเลือด อาการเริ่มแรกคล้ายไข้หวัด หากไม่รักษาอาจกลายเป็นเอดส์ ควรป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัยและตรวจสุขภาพเสมอ
บทความสุขภาพ
08-01-2025

0

วิธีฟื้นฟูสมอง กระตุ้นความจำ
อาการของโรคสมองเสื่อม เริ่มแรกจะมีอาการหลงๆ ลืมๆ พูดซ้ำ สับสนแต่ยังคงสามารถสื่อสารและช่วยเหลือตัวเองได้ ในระยะต่อมาจะมีปัญหาในเรื่องของความคิด
บทความสุขภาพ
06-01-2025

23

2-1-1-รหัสลับของคนอยากลดน้ำหนัก
อาหารลดน้ำหนักมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการกินแบบ IF หรือการกินแบบ 2:1:1 แต่ละคนก็จะมีวิธีการควบคุมที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ
บทความสุขภาพ
30-12-2024

21

ภูมิแพ้เกิดจากการตอบสนองผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน มีอาการน้ำมูกไหล คันตา หรือผื่น ควรหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้และดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม
บทความสุขภาพ
25-12-2024

8