โรคเอ็มเอ็ม
หน้าแรก
โรคเอ็มเอ็ม คืออะไร และอันตรายแค่ไหนกัน
โรคเอ็มเอ็ม คืออะไร และอันตรายแค่ไหนกัน

โรคเอ็มเอ็ม เป็นอีกหนึ่งโรคร้ายที่หลายคนยังไม่คุ้นเคยนัก โดยโรคดังกล่าวเป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายและส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตได้

โรคเอ็มเอ็มมีชื่อเต็มว่า Multiple Myeloma คือ

โรคมะเร็งทางโลหิตวิทยา เกิดจากความผิดปกติของพลาสมาเซลล์ ซึ่งเป็นกลุ่มของเซลล์เม็ดเลือดขาว ในผู้ป่วยโรคเอ็มเอ็มพลาสมาเซลล์จะมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติไป ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในร่างกายตามมา

โดยพลาสมาเซลล์ที่เติบโตผิดปกติจะเกิดขึ้นในไขกระดูก ซึ่งในไขกระดูกมีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด หากเกิดความผิดปกติขึ้นที่บริเวณนี้ จะส่งผลให้ร่างกายขาดเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ทำให้เกิดภาวะต่าง ๆ ตามมา ได้แก่ หากร่างกายขาดเม็ดเลือดแดง จะเกิดอาการซีด อ่อนเพลีย และเหนื่อยง่าย หากขาดเกล็ดเลือดจะเกิดภาวะเลือดออกมากผิดปกติ เพราะเกล็ดเลือดมีหน้าที่ช่วยในการแข็งตัวของเลือด และเมื่อร่างกายขาดเม็ดเลือดขาว จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่งผลให้ร่างกายเกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้พลาสมาเซลล์ที่เติบโตผิดปกติยังส่งผลให้ภูมิคุ้มกันสร้างโปรตีนมากขึ้น ทำให้เลือดมีลักษณะข้นหนืดและก่อให้เกิดภาวะอุดตันที่ส่วนต่าง ๆ ตามมา หากอุดตันที่สมอง จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง หากอุดตันที่ไตอาจส่งผลให้ไตวายได้ในที่สุด ไม่เพียงเท่านั้นโรคเอ็มเอ็มยังทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้ อันเนื่องมาจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ ส่งผลให้เกิดการสร้างสารเคมีชนิดหนึ่งที่ไปกระตุ้นการสร้างเซลล์ชนิดที่ทำลายกระดูก

โรคเอ็มเอ็ม มักเกิดกับ

ผู้สูงอายุ อายุเฉลี่ยของคนไข้โรคเอ็มเอ็มในประเทศไทยอยู่ที่ 59 ปี นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งทำอาชีพที่ใกล้ชิดกับสารเคมีประเภทยาฆ่าแมลง (เกษตรกร) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าปัจจัยใดเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเอ็มเอ็ม เบื้องต้นได้มีการสันนิษฐานว่าเมื่ออายุมากขึ้นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคก็มากขึ้นด้วย และสารเคมีประเภทยาฆ่าแมลงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้

เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น อาจมีความเสื่อมในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงระบบการแบ่งเซลล์ จึงอาจเกิดความผิดปกติของการแบ่งเซลล์ที่พลาสมาเซลล์และทำให้กลายเป็นโรคเอ็มเอ็มได้

สำหรับการสันนิษฐานเกี่ยวกับสารเคมี

คือสารเคมีอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสารพันธุกรรมได้ จึงทำให้เกิดเซลล์ชนิดร้ายกลายเป็นเซลล์มะเร็งในไขกระดูก เกิดเป็นโรคเอ็มเอ็มในที่สุด

สถิติของการเกิดโรคเอ็มเอ็มในประเทศไทย

พบผู้ป่วยรายใหม่โดยเฉลี่ยต่อปี 300-400 ราย และพบผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวเป็นอัตรา 0.5-1% ของประชากรทั้งประเทศ อัตราที่พบในผู้หญิงและผู้ชายเท่ากัน และอายุโดยเฉลี่ยที่พบคือ 59 ปี

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเอ็มเอ็ม

ได้แก่ ภาวะกระดูกพรุนหรือกระดูกผุ ไตวายเฉียบพลัน เกิดภาวะซีด เลือดออกผิดปกติ และร่างกายติดเชื้อได้ง่าย

ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์มักพบด้วยอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ภาวะซีด หรืออาการอื่น ๆ และตรวจพบว่าเป็นโรคเอ็มเอ็ม หากตรวจพบว่าเป็นโรคเอ็มเอ็ม แพทย์จะทำการประเมินความรุนแรงและทำการรักษา สามารถรักษาได้ 3 วิธี ได้แก่ การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง และการปลูกถ่ายไขกระดูก

 

ข้อมูลจาก
อ. นพ.สิทธาคม ผู้สันติ
สาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “โรคเอ็มเอ็ม (Multiple Myeloma) โรคที่มักเกิดในผู้สูงอายุ : พบหมอรามา ช่วง Big Story” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง โรคคางทูม เกิดจาก การใช้ หลอดดูดน้ำ เดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อได้
โรคคางทูม เกิดจากการใช้หลอดดูดน้ำเดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
บทความสุขภาพ
17-04-2024

1

บทความเรื่อง ยาระบาย แก้ท้องผูก ได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้นยาระบายช่วยให้อาการ ท้องผูก หายได้เบื้องต้น
ยาระบาย แก้ท้องผูกได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้น ยาระบายช่วยให้อาการท้องผูกหายได้เบื้องต้นเท่านั้น
บทความสุขภาพ
11-04-2024

1

บทความเรื่อง โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรค ผิวหนังอักเสบ เรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรค สะเก็ดเงิน รักษา อย่างไรได้บ้าง ?
โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรคสะเก็ดเงินรักษาอย่างไรได้บ้าง ?
บทความสุขภาพ
10-04-2024

8

บทความเรื่อง ปวดขมับ หรือท้ายทอย คือสัญญาณเตือน โรคไต ! จริงหรือไม่ ? ปวดศีรษะ บริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้มาสังเกตอาการกันว่าแบบนี้จะเข้าข่ายหรือไม่แล้วเมื่อเป็น โรคไต อาการ จะเป็นอย่างไร ?
อาการปวดศีรษะที่ต้องเฝ้าระวัง หากมีอาการปวดบริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้ มาสังเกตอาการกันว่าเมื่อปวดขมับหรือท้ายทอยแบบนี้จะเข้าข่ายเป็นโรคไตหรือไม่ !
บทความสุขภาพ
05-04-2024

5