โรคผิวหนัง โรคสะเก็ดเงิน
หน้าแรก
โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนัง ที่รักษาไม่หายขาด

โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนัง ที่รักษาไม่หายขาด

โรคสะเก็ดเงิน เป็น โรคผิวหนัง อักเสบเรื้อรัง ที่เกิดจากการทำงานของเม็ดเลือดขาวที่เพิ่มขึ้นทำให้ ผิวหนังแบ่งตัวเร็วขึ้น ไม่มีการติดเชื้อและไม่แพร่เชื้อ ไม่ใช่โรคติดต่อ ถึงแม้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถรักษาให้โรคสงบได้ ผู้ป่วยควรใช้ชีวิตตามปกติ และเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยและคนรอบข้างควรทำความเข้าใจ เกี่ยวกับโรคและการดูแลรักษา เพื่อป้องกันการกำเริบของโรค และควบคุมโรคอย่างได้ผล

รู้จักกับโรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงิน เป็น โรคผิวหนัง อักเสบเรื้อรัง ชนิดหนึ่ง ลักษณะของโรคคือผื่นสีแดงค่อนข้างหนาและมีขุยสีขาว คล้ายรังแคติดที่ผิวแต่มักจะรุนแรงกว่า มีสะเก็ดออกมามากกว่า กระจายอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยร้อยละ 80 ของผู้ป่วย ผื่นสะเก็ดเงินมักเริ่มต้นที่ศีรษะก่อนจะกระจายไปยังส่วนอื่น ตำแหน่งที่พบบ่อยคือบริเวณศอกและเข่า หรือตำแหน่งที่มีการเกาหรือเสียดสี ผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงินจะมีอาการคันร่วมด้วย โดยโรคสะเก็ดเงินไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่มีการติดเชื้อและไม่แพร่เชื้อ รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ >>> มารู้จักโรคสะเก็ดเงินกันเถอะ

สาเหตุของการเกิด โรคสะเก็ดเงิน

สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด พบว่าพันธุกรรมมีส่วนแต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะผู้ป่วยบางรายก็ไม่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคสะเก็ดเงินเลย

การรักษาโรคสะเก็ดเงิน

การรักษาโรคสะเก็ดเงินเป็นการรักษาให้โรคสงบ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากมีสิ่งมากระตุ้นโรคจะสามารถกำเริบได้อีกโดยในการรักษาแพทย์จะเลือกรักษาตามความรุนแรง แบ่งออกเป็น

  • กรณีเป็นน้อย รักษาโดยใช้ยาทาเฉพาะที่ เพื่อลดอาการอักเสบ ตัวยามักมีข้อจำกัดในการใช้ จึงควรใช้ภายใต้คำแนะนำและการควบคุมของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
  • กรณีมีผื่นหนาและเป็นมาก รักษาโดยใช้ยากินร่วมกับยาทา หรือรักษาด้วยวิธีอื่น ได้แก่ ฉายแสงอาทิตย์เทียม
  • กรณีดื้อต่อการรักษาวิธีใดอาจใช้วิธีอื่นมารักษาแทน เช่น ใช้ยาฉีดชีวภาพ

ปัจจัยของการกำเริบโรค สะเก็ดเงิน

  • ความเครียด
  • พักผ่อนไม่เพียงพอ นอนดึก
  • การติดเชื้อบางชนิด ที่พบบ่อยคือติดเชื้อแบคทีเรียที่คอ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดอาการสะเก็ดเงิน
  • การแกะและเกา
  • การดื่มสุราและสูบบุหรี่
  • น้ำหนักเกิน

ผลกระทบจากโรคสะเก็ดเงิน

  • อาการคัน ไม่ถึงขั้นรุนแรง แต่สร้างความรำคาญ
  • อาการผื่นตามผิวหนังอาจส่งผลด้านบุคลิกภาพ ทำให้สูญเสียความมั่นใจ
  • หากเป็นนาน ๆ อาจมีอาการข้ออักเสบร่วมด้วย
  • หากมีอาการทางข้อแล้วไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้ข้อผิดรูปและพิการได้

ข้อควรปฏิบัติในผู้ป่วย สะเก็ดเงิน

  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดการแห้งของหนังศีรษะหรือผิวหนัง
  • หากเป็นน้อยสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ทั่วไปได้ โดยเลือกที่อ่อนโยนต่อผิว ทาโลชั่นให้ผิวชุ่มชื้นเป็นประจำ
  • หากเป็นมาก ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ออกฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ
  • หลีกเลี่ยงการแกะหรือเกาผื่นสะเก็ดเงิน เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นและลุกลามได้
  • พยายามอย่าเครียด ทำใจให้สบาย พักผ่อนและออกกำลังกายให้เพียงพอ
  • หากติดเชื้อบางชนิด เช่น ติดเชื้อที่คอ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดสะเก็ดเงินได้ ควรรีบรักษาอาการติดเชื้อโดยเร็ว
  • หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและการสูบบุหรี่
  • ควบคุมไม่ให้มีภาวะน้ำหนักเกิน รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ >>> โรคสะเก็ดเงิน เลือกกินอย่างไรให้ปลอดภัย

สะเก็ดเงินและความผิดปกติของข้อ

ในบางราย อาจมีอาการข้ออักเสบร่วมด้วย และถ้าหากมีอาการทางข้อควรรีบพบแพทย์ ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะจะทำให้เสี่ยงต่ออาการข้อผิดรูป แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มสำหรับคนที่ปวดข้อ ได้แก่

  • กลุ่มคนอายุน้อย บางครั้งมีอาการทางข้อนำมาก่อน กลุ่มนี้มักมีความรุนแรง อาจมีพันธุกรรมเกี่ยวข้อง จำเป็นต้องได้รับการดูแลข้ออย่างดี ป้องกันอาการข้อผิดรูป
  • กลุ่มคนอายุมาก เกิดจากเป็นสะเก็ดเงินมานานนับสิบปี อาจทำให้มีอาการทางข้อ เช่น ปวดข้อ หรือตึงที่มือ

ข้อควรปฏิบัติของคนรอบข้างผู้ป่วย สะเก็ดเงิน

  1. ทำความเข้าใจว่าโรคดังกล่าวไม่ใช่โรคติดต่อ และเป็นโรคที่ไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อและไม่เกี่ยวข้องกับความสกปรก สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ป่วยได้อย่างปกติ
  2. ให้กำลังใจผู้ป่วย และคำแนะนำเกี่ยวกับการรักษากับผู้ป่วย แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ทำให้โรคสงบได้
  3. ไม่เพิ่มความเครียดให้กับผู้ป่วย เพราะโรคนี้มีความเครียดเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ

รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ >>> โรคผิวหนัง ป้องกันรักษาได้ | โรคสะเก็ดเงิน

 

ข้อมูลจาก

ผศ. พญ.พลอยทราย รัตนเขมากร

สาขาวิชาโรคผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

มหาวิทยาลัยมหิดล

 

อย่าลืมกดติดตามช่อง Rama Channel ที่น่าสนใจอีกมากมายได้ที่ 

Website Ramathibodi: https://www.rama.mahidol.ac.th/

Youtube: https://www.youtube.com/RamachannelTV

Facebook : https://www.facebook.com/ramachannel

Line: https://page.line.me/ramathibodi

Tiktok: https://www.tiktok.com/@ramachanneltv


คลิกชมคลิปรายการ “โรคสะเก็ดเงิน โรคร้ายทำลายผิวหนัง : พบหมอรามา ช่วง Big story” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคฝีดาษลิง ไวรัสอันตรายจากลิงสู่คน
โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่แพร่จากสัตว์สู่คน มีอาการไข้ ผื่นตุ่มหนอง และปวดเมื่อย พบมากในพื้นที่ที่มีการสัมผัสสัตว์ป่าโดยตรง
บทความสุขภาพ
30-11-2024

3

โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร อาการ สาเหตุ การป้องกัน
มะเร็งกระเพาะอาหารเกิดจากพฤติกรรมการกินและปัจจัยทางพันธุกรรม อาการเริ่มต้นไม่ชัดเจน ควรตรวจสุขภาพและปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยง
บทความสุขภาพ
29-11-2024

1

ภาวะเบาหวานขึ้นตา อันตรายถึงตาบอดตลอดชีวิต
เบาหวานขึ้นตาเกิดจากน้ำตาลในเลือดสูงทำลายหลอดเลือดในจอประสาทตา เสี่ยงตาบอดถาวร ควรตรวจตาและควบคุมน้ำตาลเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน
บทความสุขภาพ
28-11-2024

-28

ข้อเข่าเสื่อม สามารถเกิดได้แม้ในวัยหนุ่มสาว หากใช้งานเข่าหนักหรือมีน้ำหนักเกิน ควรดูแลข้อเข่าและออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยง
ข้อเข่าเสื่อมสามารถเกิดได้แม้ในวัยหนุ่มสาว หากใช้งานเข่าหนักหรือมีน้ำหนักเกิน ควรดูแลข้อเข่าและออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเพื่อลดความเสี่ยง
บทความสุขภาพ
25-11-2024

33

ปรึกษาปัญหาสุขภาพ
0 2201 1000
0 2200 3000

งานสื่อสารองค์กร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

270 ถนนพระรามที่ 6 แขวงทุ่งพญาไท
เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทร. 0 2201 0182
โทรสาร 0 2201 2127
อีเมล ramachannel24@gmail.com

© 2024, RAMA CHANNEL