สาเหตุและอาการของโรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปากเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชื่อ Enterovirus เด็กที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากอาการไข้ ซึ่งอาจจะไข้ต่ำหรือไข้สูงก็ได้และจะมีแผลในปาก มีผื่นที่มือที่เท้า
ส่วนใหญ่แผลในปากเราพบได้หลายตำแหน่ง ตั้งแต่บริเวณของเพดานแข็งเพดานอ่อนหรือบางคนก็พบที่กระพุ้งแก้มหรือที่ลิ้นได้ บางคนเป็นเยอะก็จะลามออกมาที่ริมฝีปากหรือรอบ ๆ ริมฝีปากเลยก็มี ส่วนผื่นที่มือที่เท้า ส่วนใหญ่จะเป็นตุ่มแดง ๆ หรือบางครั้งก็เป็นตุ่มน้ำใสได้ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ง่ามนิ้วมือนิ้วเท้า เป็นต้น
บางคนเป็นแผลเยอะ และทำให้เขาเจ็บปากมาก รับประทานอาหารไม่ค่อยได้ ถ้าเกิดว่าเขามีอาการเพลียมาก รับประทานอาหารไม่ได้ พวกนี้ก็คงต้องมาโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือเข้าทางเส้นเลือด ช่วยประคับประคองไป จนกว่าอาการจะดีขึ้น รับประทานได้ดีขึ้นก็กลับบ้าน
ภาวะแทรกซ้อน
ส่วนใหญ่มักจะหายได้เองภายใน 5-7 วัน แต่ขณะเดียวกันคือ ภาวะแทรกซ้อนก็พบได้ อันที่รุนแรงที่สุด เราเรียกว่าเป็นก้านสมองอักเสบ ซึ่งพบได้น้อยมาก ๆ 1-5 รายต่อปี แล้วก็มีโอกาสเสียชีวิตที่สูง พ่อแม่ต้องสังเกตให้ดีว่าเด็กมีอาการที่น่ากังวลไหม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเขามีอาการซึมลง หายใจหอบ หายใจเร็ว มีอาการชัก เกร็ง หมดสติ หรือมือสั่น ขาสั่น เดินเซ ถ้ามีอาการผิดปกติเหล่านี้ ควรจะต้องรีบพากลับมาพบแพทย์
การแพร่เชื้อและวิธีป้องกัน
ระยะแพร่เชื้อเริ่มได้ตั้งแต่เขามีอาการ ตอนนี้ก็จะเริ่มมีเชื้อออกมาทางน้ำลาย แล้วก็อุจจาระแล้ว ยังสามารถที่จะแพร่ไปได้ จนกระทั่งถึงแม้ว่าโรคจะหายดีแล้ว เช่น ประมาณสัปดาห์หนึ่งหลังจากโรคหายแล้ว เรายังสามารถตรวจพบเชื้อในอุจจาระได้อีกเป็นระยะเวลาหนึ่ง
ระยะที่แพร่เชื้อได้มาก ๆ ก็คือช่วงที่มีอาการ คือประมาณภายใน 7 วันแรก หลังจากเริ่มมีอาการ
การรักษาโรคนี้ โดยทั่วไปก็จะเป็นการรักษาตามอาการ ถ้ามีไข้ก็ให้กินยาลดไข้ เช็ดตัวลดไข้ไปหรือถ้ามีอาการคัน ก็อาจจะกินยาแก้แพ้ แก้คันได้ ปัจจุบันเรายังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากโดยเฉพาะ แต่ว่าการป้องกันทำได้หลายอย่าง
อันที่ดีที่สุดก็คือ หยุดการแพร่กระจายของเชื้อ เพราะฉะนั้น ถ้ามีใครไม่สบายก็ต้องหยุดเรียน จะได้ลดการแพร่กระจาย โรคนี้เกิดจากการไปสัมผัสสิ่งที่ปนเปื้อนกับน้ำลายหรืออุจจาระ แล้วก็ไม่ทันระวัง ก็สัมผัสเข้ามา รับประทานเข้ามา แล้วก็ทำให้เราได้รับเชื้อนี้เข้าไป เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะป้องกันได้ดีที่สุด ก็คือการดูแลสุขอนามัยให้ถูกต้อง ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะตอนก่อนและหลังรับประทานอาหาร หรือว่าหลังจากเข้าห้องน้ำ เป็นต้น สิ่งพวกนี้ ถ้าเราสอนให้เด็กมีสุขอนามัยเหล่านี้ที่ดีขึ้น ก็จะป้องกันโรคได้มากขึ้นนะครับ
ข้อมูลโดย
ผศ. นพ.ชนเมธ เตชะแสนศิริ
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล