ปกบทความตับแข็ง
หน้าแรก
โรคตับแข็งไม่ใช่แค่ดื่มสุรา
โรคตับแข็งไม่ใช่แค่ดื่มสุรา

โรคตับแข็งคืออะไร ?

โรคตับแข็งเป็นภาวะของโรคตับเรื้อรังขั้นสุดท้าย ที่เกิดจากมีการอักเสบเรื้อรังของตับทำให้มีการสูญเสียเซลล์เนื้อตับรวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของตับไปทำให้เกิดพังผืดในตับปริมาณมาก จนตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติและมีภาวะแทรกซ้อนตามมา

สาเหตุของโรคตับแข็งมาจากไหน ?

โรคตับแข็งสามารถเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่

  1. ไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง เช่น ไวรัสตับอักเสบบีและซี
  2. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากและเป็นเวลานาน
  3. โรคทางพันธุกรรม เช่น Wilson disease (ความผิดปกติของตับที่ไม่สามารถขับทองแดงออกจากร่างกายได้ทำให้มีการสะสมทองแดงมากเกินไป), Hemochromatosis (ภาวะธาตุเหล็กในร่างกายเกินซึ่งอาจจะเป็นจากโรคทางพันธุกรรมทำให้ไม่สามารถขับธาตุเหล็กออกจากร่างกายได้หรือเป็นจากการได้รับธาตุเหล็กเกินโดยเฉพาะในคนไทยที่มีโรคเลือดจางธาลัสซีเมียรุนแรงจนต้องได้รับผลิตภัณฑ์เลือดอยู่บ่อยๆ), cystic fibrosis, alpha one antitrypsin deficiency, glycogen storage disease
  4. ภาวะไขมันคั่งตับ มักพบในคนอ้วน หรือคนไข้เบาหวาน
  5. โรคแพ้ภูมิตนเองที่เกิดกับตับ เช่น autoimmune hepatitis, primary biliary cholangitis, primary sclerosing cholangitis
  6. โรคท่อทางเดินน้ำดีฝ่อตั้งแต่แรกเกิด (Biliary atresia)
  7. การได้รับยาบางชนิดหรือสมุนไพรบางอย่างที่มีผลต่อตับ
  8. การมีภาวะหัวใจด้านขวาล้มเหลวเรื้อรัง
  9. มีการอุดกั้นของหลอดเลือดดำทางออกของตับ
  10.  ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งพบในถึง 1 ใน 4

อาการของโรคตับแข็งเป็นอย่างไรบ้าง ?

โดยส่วนมากในช่วงแรกของการเกิดโรคแทบไม่พบอาการหรือมีแสดงอาการน้อยมากโดยอาการแสดงก็ไม่จำเพาะเจาะจง เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาการ นอนไม่หลับ คันตามตัว  ต่อเมื่อการทำงานของตับแย่ลงก็จะมาด้วยภาวะแทรกซ้อน เช่น ตัวตาเหลืองหรือดีซ่าน ท้องมาน เท้าหรือตัวบวม อาเจียนเป็นเลือด หรือน้ำหนักลดจาการมีมะเร็งตับ

พฤติกรรมแบบไหนที่สุ่มเสี่ยงหรือมีแนวโน้มเป็นโรคตับแข็งได้บ้าง ?

พฤติกรรมที่จะเสี่ยงต่อการเกิดตับแข็งก็ต้องดูตามสาเหตุ บางสาเหตุหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้ เช่น

  1. กลุ่มไวรัสตับอักเสบบีและซี ก็ต้องระวังเรื่องการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ โดยไม่มีการป้องกันโรคที่เหมาะสม การใช้สารเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้นโดยใช้เข็มร่วมกัน การสักการเจาะโดยที่อุปกรณ์ไม่สะอาด หรือหากมีประวัติครอบครัวเป็นโรคตับแข็งจากไวรัสตับอักเสบบีก็ต้องไปตรวจเพราะสาเหตุหลักของไวรัสตับอักเสบบีคือการติดต่อจากแม่สู่ลูก
  2. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  3. ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน
  4. การใช้ยา อาหารเสริม หรือเสริมอาหาร หรือยาสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐานโดยไม่มีข้อบ่งชี้

วิธีการรักษาโรคตับแข็ง รักษาอย่างไร ? มีโอกาสหายเป็นโรคได้หรือไม่ ?

สิ่งสำคัญที่สุดคือการให้การวินิจฉัยที่ถูกต้อง จากนั้นการดูแลผู้ป่วยตับแข็งที่ควรทำได้แก่

  1. การหาสาเหตุของตับแข็ง เพื่อให้การรักษาให้ตรงตามสาเหตุ เช่น การให้ยาต้านไวรัสตับอักเสบบีหรือซี การหยุดดื่มแอลกอฮอล์ การให้ยากดภูมิคุ้มกัน การให้ยาขับธาตุเหล็กหรือทองแดง เป็นต้น
  2. ประเมินระยะของโรคตับแข็ง เพื่อดูว่ามีภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง เช่น อาจจะต้องส่องกล้องเพื่อดูหลอดเลือดขอดที่หลอดอาหารหรือกระเพาะอาหาร การทำอัลตราซาวด์เพื่อดูน้ำในช่องท้อง เป็นต้น
  3. พิจารณาให้วัคซีนที่จำเป็น โดยเฉพาะวัคซีนสำหรับป้องกันไวรัสตับเสบเอ และบีหากยังไม่มีภูมิคุ้มกัน
  4. การคัดกรองมะเร็งตับโดยการเจาะเลือดและการทำอัลตราซาวด์ทุก 6-12 เดือน
  5. การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับระยะของโรคตับแข็ง โดยทั่วไปหากยังเป็นไม่มากสามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ แต่หากเป็นมากแล้วควรงดการออกกำลังกายประเภทที่ต้องเบ่งแรงๆ หรือเร็วๆ เพราะอาจเพิ่มความดันในช่องท้องจนทำให้เส้นเลือดขอดแตกได้
  6. การดูแลภาวะโภชนาการให้เหมาะสม ที่แนะนำคือ ให้แบ่งมื้อรับประทานเป็นหลายๆ มื้อหากกินได้ครั้งละไม่มากจากการมีท้องมาน ลดปริมาณเกลือต่อวัน เพิ่มโปรตีนโดยใช้โปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ยกเว้นมีภาวะซึมจาก ammonia คั่งอาจพิจารณาให้เป็นโปรตีนจากพืชหรือโปรตีนเสริมสำเร็จรูปสำหรับคนไข้โรคตับแข็งได้
  7. ระวังการใช้ยาที่ผ่านการทำลายยาที่ตับ เช่น พาราเซตามอล

ในอดีตโรคตับแข็งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ยกเว้นการปลูกถ่ายตับกรณีที่โรคเป็นมากแล้ว แต่ปัจจุบันพบว่าการเอาสาเหตุที่กระตุ้นให้ตับเสียหายออกไปได้ก็สามารถทำให้การทำงานของตับดีขึ้นได้ เช่น การใช้ยาต้านไวรัสบีหรือซี การหยุดดื่มแอลกอฮอล์ การให้ยาขับเหล็กหรือทองแดง เป็นต้น

 

ข้อมูลโดย
อ. พญ.ศุภมาศ เชิญอักษร
สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ
ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง โรคคางทูม เกิดจาก การใช้ หลอดดูดน้ำ เดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อได้
โรคคางทูม เกิดจากการใช้หลอดดูดน้ำเดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
บทความสุขภาพ
17-04-2024

1

บทความเรื่อง ยาระบาย แก้ท้องผูก ได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้นยาระบายช่วยให้อาการ ท้องผูก หายได้เบื้องต้น
ยาระบาย แก้ท้องผูกได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้น ยาระบายช่วยให้อาการท้องผูกหายได้เบื้องต้นเท่านั้น
บทความสุขภาพ
11-04-2024

1

บทความเรื่อง โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรค ผิวหนังอักเสบ เรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรค สะเก็ดเงิน รักษา อย่างไรได้บ้าง ?
โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรคสะเก็ดเงินรักษาอย่างไรได้บ้าง ?
บทความสุขภาพ
10-04-2024

8

บทความเรื่อง ปวดขมับ หรือท้ายทอย คือสัญญาณเตือน โรคไต ! จริงหรือไม่ ? ปวดศีรษะ บริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้มาสังเกตอาการกันว่าแบบนี้จะเข้าข่ายหรือไม่แล้วเมื่อเป็น โรคไต อาการ จะเป็นอย่างไร ?
อาการปวดศีรษะที่ต้องเฝ้าระวัง หากมีอาการปวดบริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้ มาสังเกตอาการกันว่าเมื่อปวดขมับหรือท้ายทอยแบบนี้จะเข้าข่ายเป็นโรคไตหรือไม่ !
บทความสุขภาพ
05-04-2024

5