เรื่องของ EQนั้น เราสามารถสร้างเสริมให้ลูกมีการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง วันนี้เรามี 12 วิธีเลี้ยงลูกให้ดี และมี EQ สูง มีอะไรกันบ้างลองอ่านบทความนี้ดูกัน
12 วิธีเลี้ยงลูกให้ดี และมี EQ สูง
- ให้ความรัก เป็นข้อแรกที่สำคัญมากและไม่เพียงแต่ให้ความรักเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องแสดงออกอย่างเหมาะสม การยิ้มให้ การสัมผัส การกอด โอบไหล่ ล้วนแล้วแต่เป็นภาษากายซึ่งบ่งบอกถึงความรักได้เป็นอย่างดี
- ครอบครัวมีสุข คือ การที่คุณพ่อและคุณแม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และรวมถึงการมีทัศนคติ ความคิดเห็นในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนลูกไปในทิศทางเดียวกัน
- มีความรู้ความเข้าใจในพัฒนาการของลูก จะทำให้เราเข้าใจและปฏิบัติต่อลูกได้ถูกต้องและเหมาะสม เพราะพัฒนาการของลูกไม่ได้หยุดหรือหมดไปเมื่อพ้นวัยอนุบาล
- คุณพ่อคุณแม่ควรมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูกให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
- สร้างเสริมความภาคภูมิใจในตัวเองหรือความรู้สึกว่า ตนเองมีคุณค่า (self-esteem) ให้ลูก นั่นหมายถึงเมื่อลูกทำดีหรือประสบความสำเร็จ คุณพ่อคุณแม่ต้องชม เมื่อเขาท้อแท้ก็ให้กำลังใจ
- ให้อิสระและโอกาสในการตัดสินใจกับลูก จะช่วยให้ลูกมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดกล้าทำ ไม่พยายามบังคับความคิดลูก
- สอนลูกให้รู้จักรักและดูแลตนเองเช่นเดียวกันกับผู้อื่น ซึ่งข้อนี้ก็คือส่วนสำคัญข้อหนึ่งของ E.Q. ซึ่งรวมไปถึงการสอนลูกให้รู้สึกเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ผู้อื่นด้วย
- ส่งเสริมให้ลูกรู้จักคิดด้วยหลักการและเหตุผล โดยส่งเสริมทั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและเรื่องสำคัญๆ ด้วย ตัวอย่างถ้าลูกอยากจะซื้อของเล่น ของใช้ที่แพงๆ หรือเป็นของที่มีอยู่แล้วก็สอนให้ลูกรู้จักว่า ควรซื้อหรือไม่ควรซื้อเพราะอะไร
- สอนลูกให้รู้จักการผ่อนคลายและหาความสุขให้ตัวเองด้วย
- เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก (modeling) คุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่างให้ลูกทำสิ่งดีๆตามลูกจะเรียนรู้โดยอัตโนมัติแทบไม่ต้องพูดสอนเลย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ นิสัยรักการอ่าน ส่วนหนึ่งเกิดจากพ่อแม่เป็นแบบอย่าง เช่นอยู่บ้านว่างๆ ก็หยิบหนังสือมาอ่าน ชอบที่จะอ่านนิทานให้ลูกฟัง พูดคุยกับลูกถึงเรื่องในหนังสือที่อ่าน แบบนี้ลูกก็มักจะติดนิสัยรักการอ่านหนังสือไปโดยไม่รู้ตัว
- กฎเกณฑ์ ระเบียบวินัย พบว่า เด็กที่ E.Q. ดี มักอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่ให้ความรักความเข้าใจ ในขณะเดียวกันก็สอนรู้ว่า อะไรควร อะไรไม่ควร และควบคุมเรื่องของกฎเกณฑ์ระเบียบวินัยในลักษณะของทางสายกลางตามหลักพระพุทธศาสนา ไม่ควบคุมมากเกินไปหรือน้อยเกินไป เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและมีรายละเอียดมาก
ข้อมูลจาก
นายแพทย์กมล แสงทองศรีกมล
ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ
ติดตาม Rama Channel เพื่อรับข้อมูลด้านสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่
Website Ramathibodi: https://www.rama.mahidol.ac.th/
Youtube: RAMA Channel
Facebook: รามาแชนแนล Rama Channel
LINE: Ramathibodi
Tiktok: ramachanneltv รามาแชนแนล ช่องของคนรักสุขภาพ
Youtube: RAMA Channel
Facebook: รามาแชนแนล Rama Channel
LINE: Ramathibodi
Tiktok: ramachanneltv รามาแชนแนล ช่องของคนรักสุขภาพ