10รู้จักกับมะเร็งกล่องเสียง โรคร้ายที่ต้อ
หน้าแรก
รู้จักกับมะเร็งกล่องเสียง โรคร้ายที่ต้องพึงระวัง
รู้จักกับมะเร็งกล่องเสียง โรคร้ายที่ต้องพึงระวัง

ถ้าหากพูดถึงโรคมะเร็งกล่องเสียง นับเป็นอีกหนึ่งโรคที่มีความอันตรายไม่น้อยไปกว่ามะเร็งบริเวณอื่นๆ เพราะถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ก็สามารถเสียชีวิตได้เหมือนกับมะเร็งทั่วไป ในขณะเดียวกันถ้าหากรู้ตัวตั้งแต่ระยะแรก ก็สามารถรักษาให้หายได้เช่นกัน

มะเร็งกล่องเสียงเป็นโรคที่ยังพบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็สามารถเจอได้โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่สูบบุหรี่ หากปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งมะเร็งลุกลามจะสามารถเสียชีวิตได้ภายใน 1 ปี โดยจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

หน้าที่โดยทั่วไปของกล่องเสียง

คือปรับดึงเส้นเสียงเพื่อให้เสียงที่เปล่งออกมามีลักษณะแหลมคม โดยกล่องเสียงจะทำงานประสานโดยตรงกับสมอง และเมื่อมีความผิดปกติที่บริเวณกล่องเสียงจะส่งผลให้เสียงแหบหรือผิดปกติไปจากเดิม รวมถึงมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยขึ้นอยู่กับโรคนั้นๆ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งกล่องเสียง

ได้แก่ สุรา บุหรี่ อาการที่ต้องระวังคือเสียงแหบเป็นเวลานาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจละเอียดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เพราะอาจทำให้อาการลุกลามและยากต่อการรักษา

อาการอื่นที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งกล่องเสียงนอกจากเสียงแหบ

คือต่อมน้ำเหลืองขยายใหญ่ขึ้น มีก้อนที่คอเกิดขึ้น รู้สึกเจ็บเมื่อกลืนอาหาร หรือกลืนอาหารลำบาก หายใจลำบาก หากพบว่ามีความผิดปกติมากขึ้น ควรรีบพบแพทย์โดยเร็ว

ระยะของมะเร็งกล่องเสียงในระยะแรก จะมีเนื้องอกเกิดขึ้นบนเส้นเสียงข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้าง ไม่ถึงขั้นลุกลาม

สามารถรักษาได้ด้วยวิธี

การฉายรังสีและการผ่าตัด ข้อเสียของการฉายรังสีคือใช้เวลาพักฟื้นนาน ต้องเดินทางเข้าออกโรงพยาบาลต่อเนื่องนานนับเดือน ข้อดีคือผลการรักษาอวัยวะกล่องเสียงจะอยู่ครบ และมีเพียงแผลเป็นเกิดขึ้นเท่านั้น ขณะที่การผ่าตัดจะใช้เวลาในการพักฟื้นสั้นกว่า แต่ต้องเสียอวัยวะบางอย่างในกล่องเสียงไป ส่งผลให้เสียงมีความผิดปกติ แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถใช้งานได้

การเลือกวิธีการรักษาผู้ป่วยสามารถเลือกได้วิธีใดวิธีหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายผู้ป่วยด้วยว่าเหมาะกับวิธีใดมากกว่า บางกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถดมยาสลบได้ หรือมีโรคประจำตัวหลายโรค ก็อาจเลือกวิธีการฉายรังสีแทน แต่ถ้าร่างกายมีความสมบูรณ์ อาจเลือกวิธีการผ่าตัด เพื่อการรักษาระยะสั้น พักฟื้นภายในเวลาที่รวดเร็ว

ในกรณีที่อาการลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง ต้องใช้วิธีการรักษาหลายวิธีร่วมกัน ได้แก่ เคมีบำบัด การทำคีโม ร่วมกับการฉายรังสี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายผู้ป่วยและระยะอาการของโรค

สิ่งที่ผู้ป่วยมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวโรค

คือความสับสนระหว่างมะเร็งกล่องเสียงกับกรดไหลย้อน เนื้องอก และหูดในกล่องเสียง ทั้งหมดนี้ต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง จึงจะทำให้ทราบผลที่ชัดเจน โดยลักษณะของกรดไหลย้อนที่เกี่ยวข้องกับกล่องเสียงคือกรดไหลย้อนขึ้นมาที่กล่องเสียง โดยจะขึ้นมาที่หลอดอาหาร บริเวณหูรูดด้านบนหรือด้านล่าง เกิดจากการทานอาหารแล้วไม่ออกกำลังกาย (กินแล้วนอน) อาการจะคล้ายกับมะเร็งกล่องเสียง คือเสียงแหบ มีบางอย่างจุกอยู่ที่ลำคอ แต่เมื่อตรวจละเอียดโดยแพทย์จะพบลักษณะที่ต่างกัน หากพบว่าที่ด้านหลังกล่องเสียงกลายเป็นสีแดง จะแสดงออกถึงอาการของกรดไหลย้อน ซึ่งไม่ร้ายแรงและสามารถรักษาให้หายได้

สำหรับโรคมะเร็งกล่องเสียงแพทย์จะตรวจพบเนื้องอกบนเส้นเสียงโดยตรง แตกต่างจากกรดไหลย้อนที่พบบริเวณหลังกล่องเสียงและไม่ใช่เนื้องอก สามารถรักษาให้หายได้เช่นกันและผลการรักษาค่อนข้างออกมาดี เพียงแต่ผู้ป่วยต้องทำการรักษาตั้งแต่มีอาการป่วยในระยะเริ่มต้น ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นานจนอาการลุกลามที่ทำให้รักษาได้ยาก สำหรับการป้องกันที่ดีที่สุด คือการหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดโรค เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ รวมถึงพยายามอยู่ให้ห่างจากผู้ที่สูบบุหรี่ด้วย หากพบว่ามีอาการเสียงแหบนาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรรีบพบแพทย์

 

ข้อมูลจาก
อ. นพ. ภูริช ประณีตวตกุล
ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ ““มะเร็งกล่องเสียง” : พบหมอรามา ช่วง Meet The Expert” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะขาดน้ำ ที่ผู้สูงอายุต้องระวัง ยิ่งในช่วงหน้าร้อน อากาศแห้งทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำได้ง่าย จะมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้ได้อย่างไร มาทำความเข้าใจเพื่อนำไปป้องกันก่อนจะเกิดภาวะนี้กับร่างกาย
บทความสุขภาพ
24-04-2024

6

บทความ เรื่อง ไส้ติ่งอักเสบ อาการเริ่มต้น จะมีอาการ ปวดท้องข้างขวา แบบเฉียบพลันที่ไม่สามารถหายเองได้ หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจเกิดภาวะที่อันตรายถึงชีวิตได้
ไส้ติ่งอักเสบ จะมีอาการเริ่มต้นคือปวดท้องข้างขวาแบบเฉียบพลันที่ไม่สามารถหายเองได้ หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจเกิดภาวะที่อันตรายถึงชีวิตได้
บทความสุขภาพ
18-04-2024

2

บทความเรื่อง โรคคางทูม เกิดจาก การใช้ หลอดดูดน้ำ เดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อได้
โรคคางทูม เกิดจากการใช้หลอดดูดน้ำเดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
บทความสุขภาพ
17-04-2024

4

บทความเรื่อง ยาระบาย แก้ท้องผูก ได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้นยาระบายช่วยให้อาการ ท้องผูก หายได้เบื้องต้น
ยาระบาย แก้ท้องผูกได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้น ยาระบายช่วยให้อาการท้องผูกหายได้เบื้องต้นเท่านั้น
บทความสุขภาพ
11-04-2024

4