บทความ ส.ค.61_๑๘๐๘๑๓_0007
หน้าแรก
ระวัง "เห็ดพิษ" ช่วงฤดูฝน เสี่ยงรับประทานอาจถึงชีวิต
ระวัง "เห็ดพิษ" ช่วงฤดูฝน เสี่ยงรับประทานอาจถึงชีวิต

สภาพแวดล้อมในช่วงฤดูฝน เหมาะกับการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ของเห็ด ทำให้มีผู้คนบางพื้นที่นิยมเก็บเห็ดไปรับประทาน แต่หลายครั้งการเก็บเห็ดก็มีอันตรายแฝงอยู่ หากเห็ดที่เก็บไปเป็นเห็ดพิษ ซึ่งไม่สามารถแยกออกจากเห็ดที่สามารถรับประทานได้ ส่งผลให้มีอันตรายถึงแก่ชีวิต ถือเป็นเรื่องที่ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับเห็ดพิษ

ชนิดของเห็ดพิษในประเทศไทย

เห็ดพิษมีหลากหลายชนิดด้วยกัน แต่ที่สำคัญในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ เช่น เห็ดระโงกหิน
  • กลุ่มที่ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ เช่น เห็ดเหลืองนกขมิ้น
  • กลุ่มที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น เห็ดแดงน้ำหมาก เห็ดหัวกรวดครีบเขียว

อาการหลังรับประทานเห็ดพิษ

1. กลุ่มที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบ

หลังรับประทานเห็ดพิษกลุ่มนี้จะไม่มีอาการในตอนแรก แต่จะเริ่มมีอาการเมื่อผ่านไปแล้ว 4-6 ชั่วโมงเป็นต้นไป อาการเริ่มต้นคือคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย บางรายอาจมีอาการเกิดขึ้นช้ามากกว่า 10 ชั่วโมงหรือข้ามวันไปแล้ว หลังจากมีอาการผ่านไป 2-3 วัน การทำงานของตับจะเริ่มแย่ลง เอนไซม์ตับสูงขึ้น มีภาวะตับอักเสบ หากรุนแรงอาจเกิดตับวายและเสียชีวิตได้

2. กลุ่มที่ทำให้เกิดกล้ามเนื้อสลาย

อาการเริ่มต้นคือคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย โดยจะมีอาการเร็วภายใน 6 ชั่วโมงหลังรับประทาน จากนั้นจะมีอาการของการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อปวดเมื่อยตามตัวร่วมด้วย รวมถึงปัสสาวะมีสีดำหรือสีโค้ก เนื่องจากมีของเสียในกล้ามเนื้อรั่วออกมาปนอยู่ในปัสสาวะ ในรายที่รุนแรงจะมีเกลือโพแทสเซียมที่รั่วออกมาจากกล้ามเนื้อมากจนมีหัวใจเต้นผิดจังหวะเสียชีวิตได้ นอกจากยังมีสารมัยโอโกลบินในกล้ามเนื้อรัวออกมาทำให้เกิดไตวายร่วมด้วย

3. กลุ่มที่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบทางเดินอาหาร

หลังรับประทานเกิดความผิดปกติกับระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย โดยจะมีอาการเร็วภายใน 6 ชั่วโมงหลังรับประทาน พิษจากเห็ดกลุ่มนี้จะไม่รบกวนอวัยวะในระบบอื่น ผู้ที่มีอาการรุนแรงสามารถเสียชีวิตได้เหมือนกับอาการท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษที่รุนแรง ทำให้ขาดน้ำรุนแรง เกิดภาวะช็อคหรือความดันตกและเสียชีวิตได้

4. การรักษาเมื่อรับประทานเห็ดพิษ

หากเริ่มมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หลังรับประทานเห็ดที่ไม่ได้ซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้นานกว่า 6 ชั่วโมงต้องระวังว่าเป็นเห็ดที่จะทำให้มีตับอักเสบควรรีบไปพบแพทย์ แต่ถ้าหากเพิ่งรับประทานเห็ดไปไม่เกิน 6 ชั่วโมงแล้วมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย อาจรักษาตัวเองเหมือนอาการอาหารเป็นพิษก่อนได้ แต่ถ้าหากอาการรุนแรง เช่น รับประทานไม่ไหว ดื่มน้ำเกลือแร่ไม่ไหว ปัสสาวะมีสีเข้มหรือสีโค้ก ท้องเสียมาก อ่อนเพลียมาก ปวดเมื่อยเนื้อตัวร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์

แพทย์จะทำการซักประวัติว่าคนไข้รับประทานอะไรมาบ้าง ช่วงเวลาที่อาการแสดงเกิดขึ้นหลังรับประทานไปแล้วกี่ชั่วโมง หากว่าเพิ่งรับประทานอาหารไปแล้วมีอาการ แพทย์จะดูเรื่องเกลือแร่ หากพบเกลือแร่และโพรแทสเซียมสูง มีการทำงานที่กล้ามเนื้อผิดปกติ ปัสสาวะสีเปลี่ยน จะทำการส่งปัสสาวะไปตรวจว่ามีเม็ดสีจากมัยโอโกลบินออกมาหรือไม่ หากมีจะถูกจัดเป็นเคสรุนแรง หากมีอาการเฉพาะในทางเดินอาหารแพทย์จะให้น้ำและเกลือแร่เป็นหลัก

ถ้าหากเป็นเห็ดพิษกลุ่มที่ทำให้ตับอักเสบ คือเริ่มมีอาการหลังรับประทานเห็ดนานกว่า 6 ชั่วโมง นอกจากแพทย์จะรักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียนก่อน ยังอาจให้ผงถ่านกัมมันต์รับประทานเพื่อเร่งการขับของพิษ ในรายที่ประวัติชัดเจนอาจให้ยาชนิดอื่นๆเพื่อต้านการอักเสบของตับร่วมด้วยจากนั้นติดตามตรวจการทำงานของตับ หากมีการอักเสบของตับ จะต้องให้ยาต่อหากไม่มีอาการอักเสบแพทย์จะหยุดให้ยา

ข้อควรปฏิบัติในการรับประทานเห็ด

ไม่ควรเก็บเห็ดมารับประทานเอง แต่ควรซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ คือแหล่งที่มีการเพาะเห็ดเอง และทราบถึงชนิดของเห็ดแน่ชัด สำหรับการรับประทานเห็ดที่ไม่ใช่เห็ดพิษ ควรทำความสะอาดก่อนรับประทานด้วยน้ำสะอาดหลายน้ำ

 

ข้อมูลโดย
ผศ. นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ
ศูนย์พิษวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “ระวัง“เห็ดพิษ”ในช่วงฤดูฝน เสี่ยงรับประทานอาจถึงแก่ชีวิต : พบหมอรามา ช่วง Big Story” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง การ ฉีดอินซูลินด้วยตัวเอง เป็นวิธีการรักษาที่แพทย์แนะนำให้แก่ผู้ป่วย โรคเบาหวาน เพราะจะสามารถช่วยรักษาสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดได้
การฉีดอินซูลินด้วยตัวเอง เป็นวิธีการรักษาที่แพทย์แนะนำให้แก่ผู้ป่วยโรคเบาหวานเพราะจะสามารถช่วยรักษาสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดได้
บทความสุขภาพ
24-04-2024

1

ภาวะขาดน้ำ ที่ผู้สูงอายุต้องระวัง ยิ่งในช่วงหน้าร้อน อากาศแห้งทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำได้ง่าย จะมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้ได้อย่างไร มาทำความเข้าใจเพื่อนำไปป้องกันก่อนจะเกิดภาวะนี้กับร่างกาย
บทความสุขภาพ
24-04-2024

7

บทความ เรื่อง ไส้ติ่งอักเสบ อาการเริ่มต้น จะมีอาการ ปวดท้องข้างขวา แบบเฉียบพลันที่ไม่สามารถหายเองได้ หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจเกิดภาวะที่อันตรายถึงชีวิตได้
ไส้ติ่งอักเสบ จะมีอาการเริ่มต้นคือปวดท้องข้างขวาแบบเฉียบพลันที่ไม่สามารถหายเองได้ หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจเกิดภาวะที่อันตรายถึงชีวิตได้
บทความสุขภาพ
18-04-2024

2

บทความเรื่อง โรคคางทูม เกิดจาก การใช้ หลอดดูดน้ำ เดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อได้
โรคคางทูม เกิดจากการใช้หลอดดูดน้ำเดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
บทความสุขภาพ
17-04-2024

4