3ระบบเผาผลาญเสื่อม
หน้าแรก
ระบบเผาผลาญเสื่อม ลดเท่าไรก็ไม่ผอม จริงหรือไม่?
ระบบเผาผลาญเสื่อม ลดเท่าไรก็ไม่ผอม จริงหรือไม่?

ในบางรายที่ลดน้ำหนักอาจเคยเจอปัญหาน้ำหนักไม่ลดน้อยลงเลย ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย หรือการควบคุมอาหาร นับเป็นอุปสรรคในการลดน้ำหนักที่สำคัญ ที่เป็นเช่นนั้นอาจเกิดจาก “ระบบเผาผลาญเสื่อม” ที่หลายคนไม่เคยรู้ เป็นปัญหาที่เกิดจากภายในร่างกาย และเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้การลดน้ำหนักล้มเหลว โดยระบบเผาผลาญเสื่อมก็มีสาเหตุหลายอย่างด้วยกัน ทั้งแบบที่สามารถรักษาได้และรักษาไม่ได้

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบเผาผลาญของร่างกาย

โดยปกติร่างกายคนเรามีการเผาผลาญตลอดเวลา แม้ในระหว่างนอนนิ่ง ๆ อยู่กับที่ ร่างกายก็ยังมีการเผาผลาญไปด้วย เรียกว่า “อัตราการเผาผลาญพื้นฐาน” โดยแต่ละบุคคลจะมีอัตราการเผาผลาญพื้นฐานแตกต่างกันออกไป และเมื่อร่างกายมีการทำกิจกรรมต่าง ๆ หรือมีการใช้แรง เช่น เดิน พูดคุย ร่างกายก็จะมีอัตราการเผาผลาญที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ขณะที่ร่างกายทำการย่อยอาหารและดูดซึมก็มีการเผาผลาญเกิดขึ้นเช่นกัน

อัตราการเผาผลาญของร่างกาย สามารถวัดได้หรือไม่?

อัตราการเผาผลาญของร่างกาย สามารถวัดได้ แต่จะทำในผู้ที่มีแนวโน้มว่าอาจมีปัญหาในเรื่องของระบบเผาผลาญที่ผิดปกติเท่านั้น หรือใช้ในคนไข้ที่มีโรคบางโรคที่ทำให้คำนวณอัตราการเผาผลาญได้ไม่แม่นยำ หรือใช้ในงานวิจัย ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาจากแพทย์เฉพาะทาง เช่น คนที่พยายามลดน้ำหนักแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ หรือในผู้ป่วยวิกฤติ มีอาการบาดเจ็บสาหัส เช่น แผลไฟไหม้ แผลน้ำร้อนลวกขั้นรุนแรง เป็นต้น โดยก่อนการวัด คนไข้จะต้องเตรียมตัวมาก่อนเหมือนกับการเตรียมตัวก่อนเจาะเลือด อาทิ การงดน้ำ งดอาหาร เป็นต้น

วิธีการวัดคือให้คนไข้นอนนิ่ง ๆ เป็นเวลา 30 นาทีเพื่อวัดอัตราการใช้ออกซิเจนของคนไข้ และอัตราการสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ว่าสามารถสร้างได้เท่าไร ซึ่งจะบอกได้ว่าร่างกายมีอัตราการเผาผลาญพื้นฐานที่เท่าไร หรือเผาผลาญพลังงานได้กี่แคลอรี่

วิธีสังเกตภาวะระบบเผาผลาญเสื่อม

  1. รับประทานอาหารน้อยหรือเท่ากับคนอื่น แต่น้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่าคนอื่น (อ้วนง่ายผิดปกติ)
  2. พยายามลดน้ำหนัก แต่น้ำหนักไม่ยอมลดน้อยลง

สาเหตุของระบบเผาผลาญเสื่อม

  1. ป่วยด้วยโรคบางอย่าง เช่น ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ
  2. อายุที่เพิ่มขึ้น อัตราการเผาผลาญพื้นฐานมักต่ำลง
  3. คนที่ตัวเล็กกว่ามักมีอัตราการเผาผลาญต่ำกว่าคนที่ตัวใหญ่กว่า
  4. คนที่มีน้ำหนักขึ้น ๆ ลง ๆ ซ้ำซาก จากการลดน้ำหนักผิดวิธี ส่งผลให้อัตราการเผาผลาญพื้นฐานต่ำลงได้

อาหารที่สัมพันธ์กับระบบเผาผลาญของร่างกาย

  1. อาหารที่กระตุ้นการเผาผลาญ คืออาหารหมู่โปรตีน
  2. อาหารประเภทไขมัน ไม่ค่อยกระตุ้นการเผาผลาญมากนัก

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการกระตุ้นระบบเผาผลาญของอาหารนั้นมีผลเพียงร้อยละ 10 ซึ่งน้อยมาก หลัก ๆ เลย สิ่งที่มีผลต่อระบบเผาผลาญของร่างกายอย่างมากก็คือการเผาผลาญพื้นฐานในบุคคลนั้นและกิจกรรมทางกาย

ผลกระทบจากภาวะระบบเผาผลาญเสื่อม

  1. โรคอ้วน
  2. โรคอื่นที่เกิดจากความอ้วน อาทิ โรคทางน้ำตาล โรคทางไขมัน โรคความดัน โรคหัวใจ เข่าเสื่อม เป็นต้น

การรักษาภาวะระบบเผาผลาญเสื่อม

รักษาที่สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว เช่น หากพบว่ามีสาเหตุมาจากตัวโรค ก็ทำการรักษาโรคนั้น หรือถ้าหากเกิดจากการลดน้ำหนักที่ผิดวิธี ก็ต้องรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการลดน้ำหนักให้ถูกต้อง

การลดน้ำหนักที่มีผลต่อระบบเผาผลาญ

การลดน้ำหนักที่ไม่ถูกต้องเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ระบบเผาผลาญเสื่อม ได้แก่

  1. การอดอาหาร
  2. การรับประทานเฉพาะผัก ผลไม้ หลีกเลี่ยงการรับประทานแป้งและเนื้อสัตว์
  3. การปล่อยให้น้ำหนักขึ้น ๆ ลง ๆ ซ้ำซาก

การรับประทานเฉพาะผักและผลไม้ จะทำให้น้ำหนักลดลงจริง แต่สิ่งที่ลดลงมักจะเป็นมวลกล้ามเนื้อซึ่งจะทำให้อัตราการเผาผลาญพื้นฐานลดลง   จะส่งผลให้ระบบเผาผลาญเสื่อมลง ทำให้กลับมาอ้วนอีกและน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมักจะมากกว่าน้ำหนักตั้งต้น

วิธีลดน้ำหนักที่ถูกต้อง

การลดน้ำหนักที่ถูกต้อง จะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต และเลือกรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม มีปริมาณโปรตีนเพียงพอ พร้อมกับสารอาหารที่ครบถ้วน สามารถรับประทานไปได้ตลอดในระยะยาว เพื่อให้ระบบเผาผลาญมีการปรับตัวที่สมดุล ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น ร่วมกับการออกกำลังกาย

 

ข้อมูลจาก
อ. พญ.ประพิมพ์พร ฉัตรานุกูลชัย
ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “ระบบเผาผลาญเสื่อม อุปสรรคสำคัญในการลดน้ำหนัก : พบหมอรามา ช่วง Big Story” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะขาดน้ำ ที่ผู้สูงอายุต้องระวัง ยิ่งในช่วงหน้าร้อน อากาศแห้งทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำได้ง่าย จะมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้ได้อย่างไร มาทำความเข้าใจเพื่อนำไปป้องกันก่อนจะเกิดภาวะนี้กับร่างกาย
บทความสุขภาพ
24-04-2024

5

บทความ เรื่อง ไส้ติ่งอักเสบ อาการเริ่มต้น จะมีอาการ ปวดท้องข้างขวา แบบเฉียบพลันที่ไม่สามารถหายเองได้ หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจเกิดภาวะที่อันตรายถึงชีวิตได้
ไส้ติ่งอักเสบ จะมีอาการเริ่มต้นคือปวดท้องข้างขวาแบบเฉียบพลันที่ไม่สามารถหายเองได้ หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจเกิดภาวะที่อันตรายถึงชีวิตได้
บทความสุขภาพ
18-04-2024

2

บทความเรื่อง โรคคางทูม เกิดจาก การใช้ หลอดดูดน้ำ เดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อได้
โรคคางทูม เกิดจากการใช้หลอดดูดน้ำเดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
บทความสุขภาพ
17-04-2024

3

บทความเรื่อง ยาระบาย แก้ท้องผูก ได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้นยาระบายช่วยให้อาการ ท้องผูก หายได้เบื้องต้น
ยาระบาย แก้ท้องผูกได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้น ยาระบายช่วยให้อาการท้องผูกหายได้เบื้องต้นเท่านั้น
บทความสุขภาพ
11-04-2024

2