hand-foot-mouse
หน้าแรก
มือ เท้า ปาก โรคติดต่อของเด็กเล็ก
มือ เท้า ปาก โรคติดต่อของเด็กเล็ก

โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่มักจะติดต่อในเด็กเล็กเนื่องจากเด็กมีภูมิต้านทานที่ยังไม่แข็งแรงนัก และยิ่งในช่วงเปิดเทอมแบบนี้ความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคก็มีมากขึ้น ขณะที่ทางด้านผู้ปกครองก็ควรจะระมัดระวังด้วยเช่นกัน เพราะไม่ใช่ว่าโรคนี้จะเป็นแต่เฉพาะเด็กเล็กเท่านั้น ในเด็กโตหรือแม้แต่ผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นได้เช่นกัน

โรคมือ เท้า ปาก ไม่ได้เกิดจากเชื้อไวรัสตัวเดียวแต่มีหลากหลายสายพันธุ์ เพราะฉะนั้นในแต่ละปีสายพันธุ์ที่ระบาดก็จะแตกต่างกันแต่เชื้อที่แรงที่สุดคือเชื้อ เอนเทอโรไวรัส 71 โดยสามารถติดต่อได้จากการสัมผัส

อาการของโรคนี้

แรกเริ่มอาจไม่รุนแรงมาก โดยมีอาการดังนี้ มีไข้ เจ็บปาก ทานอะไรไม่ค่อยได้ น้ำลายไหล มีแผลในปากคล้ายร้อนใน มีผื่นเป็นจุดแดงๆ หรือตุ่มน้ำใสบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า ซึ่งอาจขึ้นตามลำตัว แขน และขาได้เช่นกัน อาการของโรคจะหนักในช่วง 2-3 วันแรก จากนั้นจะค่อยๆทุเลาลงและหายเองได้ในเวลา 1 สัปดาห์

สิ่งที่น่ากลัวสำหรับโรคมือ เท้า ปาก คือ

เด็กบางคนอาจจะมีอาการที่รุนแรงมากขึ้น เช่นอาการสมองอักเสบ ซึ่งเด็กจะมีอาการซึมลงไป มีอาการชักหรือกระตุกที่มือและเท้า นอกจากนี้ยังมีอาการติดเชื้อที่กล้ามเนื้อหัวใจหรือติดเชื้อที่ปอด โดยเด็กจะมีอาการหอบหรือหายใจเร็วมากขึ้น หากเด็กมีอาการเหล่านี้ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที

ปัจจัยที่ทำให้โรคนี้รุนแรงขึ้นคือ

  1. เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 หรือ EV 71
  2. ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยที่มีมากหรือน้อย
  3. ปริมาณเชื้อที่ได้รับ

ด้วยความที่โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่หลากหลายสายพันธุ์ จึงยังไม่มียารักษาหรือฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง ฉะนั้นการรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ เช่น หากเด็กเจ็บคอทานข้าวไม่ได้ แพทย์ก็จะให้ยาพ่นที่คอ เพื่อให้เด็กสามารถทานข้าวได้มากขึ้น

วิธีการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ที่ดีที่สุดคือ

  1. แยกผู้ป่วยที่เป็นโรคเพื่อป้องกันการสัมผัสกับเด็กคนอื่น
  2. เด็กและผู้ใหญ่ทุกคนควรหมั่นล้างมือเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
  3. หมั่นทำความสะอาดของเล่นหรือของใช้เด็กทุกชิ้น
  4. ระมัดระวังสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่มหรืออาหาร
  5. ฝึกนิสัยกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ให้กับเด็ก
  6. ไม่ควรให้เด็กที่ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ไปโรงเรียนจนกว่าจะหายเป็นปกติดี
  7. ควรระวังการปนเปื้อนของเชื้อในอุจจาระ
  8. ทำความสะอาดห้องน้ำและล้างมือ หลังทำธุระเสร็จเรียบร้อยด้วยสบู่
  9. ช่วงที่มีการระบาดของโรคไม่ควรปล่อยให้บุตรหลานอยู่ในที่ที่มีเด็กรวมกันมากๆ เพราะอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสจากเด็กคนอื่น

หากว่าเชื้อไวรัสตัวไหนเคยระบาดมาแล้วครั้งหนึ่ง เชื้อไวรัสสายพันธุ์นั้นก็จะไม่ระบาดไปอีกซักระยะ เพราะฉะนั้นการระบาดจะเป็นในลักษณะปีเว้นปี หรือปีเว้นสองปี โรคมือ เท้า ปาก นั้นอาจจะเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับเด็กแต่ผู้ใหญ่เองก็สามารถที่จะติดเชื้อนี้ได้เช่นกัน

สิ่งที่เราเชื่อกันว่าผู้ใหญ่มีภูมิต้านทานที่มากและเพียงพอนั้นไม่ได้ถูกต้องเสมอไป หากวันใดภูมิคุ้มกันหมดไปหรือมีเชื้อสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น ก็สามารถจะเป็นโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าอาการจะไม่รุนแรงเท่ากับเด็กเล็กหรืออาจจะไม่มีอาการอะไรเลย จริงๆแล้วผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นแบบไม่แสดงอาการส่วนคนที่แสดงอาการจะเป็นแค่ส่วนน้อยเท่านั้น

 

ข้อมูลจาก
อ. ดร. นพ.นพพร อภิวัฒนากุล
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “Rama Focus | เฝ้าระวัง โรคมือ เท้า ปาก ในเด็ก” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง เลี่ยง ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง หรือ ความดันเลือด สูง
ความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการชัดเจนทำให้หลายคนไม่รับรู้ถึง ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง ที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้นควรศึกษาความรู้เพื่อเลี่ยงการเกิดโรคนี้ในอนาคต
บทความสุขภาพ
27-03-2024

5

smiling depression คือ อาการ รอยยิ้ม โรคซึมเศร้า
รอยยิ้ม บนใบหน้าที่เป็นการแสดงความรู้สึกที่มีความสุข แต่ภายในจิตใจกลับทุกข์ไม่มีความสุข อาการแบบนี้อาจเสี่ยงเป็นภาวะ Smiling Depression
บทความสุขภาพ
21-03-2024

9

พยาธิในปอด อาการ รักษา โรคพยาธิใบไม้ในปอด อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ
อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เป็นอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุกตามสุขอนามัย สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายทำให้เสี่ยงกับการเป็น โรคพยาธิใบไม้ในปอด ได้
บทความสุขภาพ
20-03-2024

2

ไข้หวัดใหญ่อาการ รักษา ไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ุ A
“ไข้หวัดใหญ่” เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีแต่ช่วงที่เกิดการระบาดมากที่สุดคือช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
บทความสุขภาพ
20-03-2024

8