ผลกระทบ long covid ต่อระบบประสาทและสมอง
หน้าแรก
ภาวะ Long COVID (ลองโควิด) เมื่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ได้อยู่กับคุณแค่สั้น ๆ
ภาวะ Long COVID (ลองโควิด) เมื่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ได้อยู่กับคุณแค่สั้น ๆ

หากคุณเคยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจนหายแล้ว ให้คุณลองสังเกตตัวเองดูอีกทีว่าอาการที่เคยมีขณะที่ติดเชื้อ อย่างอาการเหนื่อยเพลียนั้นยังมีหลงเหลืออยู่หรือไม่? ถ้าคำตอบคือ “ยังมีอยู่” มันมีความเป็นไปได้ว่าคุณกำลังตกอยู่ในภาวะ Long COVID (ลองโควิด)

ในการเรียกชื่อภาวะที่พบผลกระทบระยะยาวของการติดเชื้อโควิด-19 นั้นมีอยู่หลากหลายชื่อไม่ว่าจะเป็น Long COVID-19 (ลองโควิด), Post-COVID condition, Long-haul COVID, post-acute COVID-19, post-COVID-19 syndrome หรือ chronic COVID มีลักษณะคือมีอาการผิดปกติยาวนานกว่า 4 สัปดาห์ ทั้ง ๆ ที่ตามปกติแล้วเชื้อโควิด-19 นั้นมักจะหายไปในไม่กี่สัปดาห์หลังการติดเชื้อ

และจากรายงานการวิจัยหลายฉบับมีการระบุไว้ว่า 80% ของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะมีอาการ อ่อนเพลีย ปวดหัว ขาดสมาธิ ผมร่วง และหอบเหนื่อยมากที่สุด

แล้วภาวะ Long COVID นี้มีกี่ประเภท สังเกตอาการได้อย่างไร ?

ภาวะ Long COVID ถูกแบ่งเป็นทั้งหมด 3 ประเภท ซึ่งแบ่งแยกตามลักษณะอาการดังนี้

1. ภาวะที่ผู้ป่วยมีอาการใหม่ หรืออาการเดิมไม่หายไป (New or ongoing symptoms)

 คือการที่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 นั้นมีอาการยาวนานต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลานานหลายเดือนหลังจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นครั้งแรก มักพบในคนไข้อาการรุนแรงตั้งแต่ต้น และทวีคูณความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อออกกำลังกายหรือใช้สมาธิจดจ่อมาก ๆ โดยมีอาการ เช่น

  • เป็นไข้ ปวดหัว วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม
  • หายใจเหนื่อย หายใจไม่อิ่ม ไอ แน่นหน้าอก อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • ปวดท้อง ท้องเสีย รับประทานอาหารไม่ลง
  • ปวดหู หรือมีเสียงในหู
  • ใจสั่น ขาดสมาธิ หรือคิดอะไรไม่ออก หัวตื้อ นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน
  • มีอาการชา ปวดกล้ามเนื้อและข้อ 
  • ไม่ได้กลิ่นหรือรับรสได้ไม่ดี
  • ผื่นตามตัว
  • รอบประจำเดือนมาผิดปกติ

ผลกระทบ Long Covid

2. ภาวะที่ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีความผิดปกติในหลายอวัยวะ (multiorgan effects)

คือการที่ผู้ป่วยนั้นมีอาการผิดปกติเกี่ยวเนื่องกับอวัยวะหลายส่วนในร่างกาย โดยมีสาเหตุจากปฏิกิริยาทางสรีรวิทยาที่รุนแรงอย่าง cytokine storm ที่ร่างกายของผู้ป่วยโควิด-19 ไม่สามารถควบคุมการหลั่งสารในระบบภูมิคุ้มกันกลุ่ม cytokine ได้ส่งผลให้เนื้อเยื่อของอวัยวะหลายส่วนถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกันของตัวผู้ป่วยเอง มักพบมากที่บริเวณเนื้อเยื่อหัวใจ ปอด ไต สมอง และผิวหนัง

และในเด็กอาจะพบการเกิดโรค Multisystem Inflammatory Syndrome in Children Associated with COVID-19 (MIS-C) ที่มีอาการโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) คือเกิดการอักเสบในหลายอวัยวะ มีไข้สูง ผื่นขึ้น ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองโต อาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่ติดเชื้อโควิด-19 อยู่หรือหลังหายทันที โดยโรคนี้อาจมีผลกระทบต่อหลายอวัยวะ (multiorgan effects) ในระยะยาวได้

3.ผลกระทบระยะยาวจากการนอนโรงพยาบาลและจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

มักเกิดในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีการนอนโรงพยาบาล โดยเฉพาะห้อง ICU ที่ส่งผลกระทบด้านจิตใจ อาจทำให้แขนขาไม่ค่อยมีแรงและยังคงรู้สึกเหนื่อยล้าอยู่แม้จะไม่มีเชื้อโควิดอยู่แล้ว ในบางกรณีอาจมีผลต่อเรื่องการคิดและคำพูด นำไปสู่ภาวะที่มีอาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบเหตุการณ์รุนแรง (post-traumatic stress disorder; PTSD) เช่น การได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจ หรือถูกปั๊มหัวใจในการช่วยชีวิต ส่งผลให้เกิดความเครียดฉับพลันและอาจสะสมมาอย่างต่อเนื่อง

ผลกระทบ long covid ต่อระบบประสาทและสมอง

นอกจากภาวะดังกล่าวที่มีสาเหตุมาจากอาการเจ็บป่วยแล้วนั้น โรคโควิด-19 ยังส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ หรือการที่บางคนนั้นจำเป็นต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวที่คนใกล้ชิดติดเชื้อหรือเสียชีวิต รวมไปถึงการเข้าถึงสถานพยาบาลได้ยากเวลามีอาการผิดปกติ ส่งผลให้มีความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้น

แล้วเราจะป้องกันภาวะ Long COVID ได้อย่างไร?

  • การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 
  • สวมใส่หน้ากากที่คลุมบริเวณปากและจมูกอย่างมิดชิด
  • รักษาระยะห่าง โดยอยู่ห่างจากผู้อื่นประมาณ 1.5-2 เมตร เลี่ยงบริเวณแออัดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก 
  • ล้างมือบ่อย ๆ

ข้อมูลโดย
อ. พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ
ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

บทความที่เกี่ยวข้อง

Introvert โรคกลัวสังคม
ชอบอยู่คนเดียว เก็บตัว หลีกเลี่ยงการเข้าสังคมหรือคำนิยามของบุคลิกภาพนี้ว่า Introvert แต่อีกด้านหนึ่งอาจมีโอกาสเสี่ยงเป็น โรคกลัวสังคม ได้
บทความสุขภาพ
07-03-2024

2

กรดไหลย้อน แสบร้อนกลางอก
กรดไหลย้อน ภาวะที่น้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นไปหลอดอาหาร ซึ่งเกิดจากกรดในกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดอาการ แสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว แน่นหน้าอก
บทความสุขภาพ
22-02-2024

10

ภาวะฮีทสโตรก อากาศร้อน
อากาศร้อนของประเทศไทยอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมแดด หรือ ภาวะฮีทสโตรก ที่มาจากอากาศร้อนจัดภัยฉุกเฉินจากฤดูร้อนช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นไป
บทความสุขภาพ
19-02-2024

35

ทอนซิลอักเสบ เจ็บคอ
ทอนซิลอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือการติดเชื้อแบคทีเรีย โรคคออักเสบที่มีอาการ เจ็บคอ ร่วมกับไข้สูง หนาวสั่น กลืนอาหารหรือน้ำลายได้ลำบาก
บทความสุขภาพ
15-02-2024

9