เบาหวานตา
หน้าแรก
ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา อันตรายแค่ไหน?
ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา อันตรายแค่ไหน?

ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน มักเกิดภาวะแทรกซ้อนตามระบบและอวัยวะต่างๆ ภาวะแทรกซ้อนสำคัญที่ผู้ป่วยเบาหวานควรได้รับการคัดกรอง คือภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตา ซึ่งพบว่าเป็นสาเหตุของการสูญเสียการมองเห็นมากเป็นอันดับ 2 รองลงมาจากต้อกระจก จากสถิติพบว่าโอกาสที่เบาหวานจะเข้าสู่จอประสาทตามีสูงถึง 80% โดยผู้ป่วยร้อยละ 2 มีภาวะตาบอด ขณะที่ผู้ป่วยร้อยละ 10 สูญเสียการมองเห็นอย่างรุนแรง

ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

จะทำให้เกิดความผิดปกติต่อการมองเห็น ซึ่งเกิดจากเส้นเลือดที่เข้าไปเลี้ยงจอประสาทตาผิดปกติ ทำให้จอประสาทตาเสื่อม เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น จอประสาทตาบวม หรือจอประสาทตาหลุดลอก ทำให้เลือดออก และส่งผลต่อการมองเห็น

การแบ่งระยะอาการสามารถแบ่งออกได้เป็น

ภาวะเบาหวานยังไม่เข้าจอประสาทตา ภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทแล้วแต่ยังไม่รุนแรง และระยะที่ภาวะเบาหวานเข้าจอประสาทตาอย่างรุนแรง วิธีการสังเกตว่าอาการอยู่ในระดับไหนคือ ถ้าหากว่ายังไม่มีเส้นเลือดงอกออกมาใหม่ ให้จัดว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง

การที่ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาส่งผลต่อการมองเห็นนั้น เกิดจาก

เส้นเลือดที่เปรียบเสมือนท่อน้ำ มีหน้าที่กักเก็บเลือด ไขมัน น้ำ และเม็ดเลือดเอาไว้ เพื่อเกิดความผิดปกติขึ้น จะทำให้เก็บสิ่งต่างๆ นั้นไว้ไม่ดี และรั่วออกมาที่จอประสาทตา ส่งผลให้เลือดออก เมื่อถึงระยะรุนแรงจะเริ่มมีเส้นเลือดใหม่งอกออกมานอกจากเส้นเลือดเดิม ซึ่งเส้นเลือดนี้จะแตกง่ายและพอแตกออกมาในวุ้นตา หรือเกิดพังผืดขึ้น ทำให้เกิดการดึงจอประสาทตาจนกระทั่งฉีกขาดหรือหลุดออก

อาการของผู้ป่วยภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

จะไม่มีอาการเจ็บปวดเกิดขึ้น แต่จะมองเห็นสิ่งต่างๆ ผิดปกติไป เกิดภาพมัว แบ่งแยกสิ่งต่างๆ ไม่ค่อยได้ หรือเห็นภาพบิดเบี้ยว หากเริ่มมีเลือดออกจะบดบังการมองเห็น และถ้าหากบดบังการมองเห็นทั้งหมด ผู้ป่วยจะมีภาวะตาบอดในที่สุด

การเฝ้าระวังการเกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา

หากรู้ตัวว่าเป็นเบาหวาน โดยปกติแล้วจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจะมีอาการแสดงของโรคมากกว่ากลุ่มที่ 2 กล่าวคือกลุ่มที่ 2 จะมีอาการแสดงน้อยๆ ซึ่งกลุ่มนี้ควรไปตรวจดวงตา และตรวจซ้ำทุก 1 ปี เพื่อดูว่าเบาหวานเข้าสู่จอประสาทตาหรือไม่อย่างไร แต่สำหรับกลุ่มแรกยังสามารถทิ้งไว้ได้สัก 2-3 ปี ซึ่งสุดท้ายก็ควรไปตรวจดวงตา และควรตรวจซ้ำทุก 1 ปีเช่นกัน

การรักษา

คนไข้จะต้องควบคุมสภาวะร่างกายให้ใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด ได้แก่ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด ซึ่งส่วนมากผู้ป่วยเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง สามารถควบคุมได้ด้วยอาหารการกิน และถ้าสามารถควบคุมความดันโลหิตและระดับไขมันในเลือดได้ จะช่วยชะลอการเกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้ดียิ่งขึ้น และถ้าหากเบาหวานเข้าจอประสาทตาแล้ว ผู้ป่วยจะต้องมาตรวจเป็นระยะ เพื่อทำการรักษาได้ทันท่วงที หากเกิดภาวะจอประสาทตาบวม แพทย์จะทำการฉีดยาเข้าไปในดวงตาเพื่อยับยั้งอาการบวม

ปัจจุบันนี้มียาที่ได้ผลอยู่มาก และถ้าหากมีเส้นเลือดใหม่งอกออกมา แพทย์จะทำการฉายแสงเลเซอร์เพื่อยับยั้งภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ถ้าหากเป็นมาก มีเยื่อหรือพังผิดเกิดขึ้นหรือเลือดออกในน้ำวุ้นตา หรือจอประสาทตาหลุดลอก แพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซมจอประสาทตา

โดยปกติแล้วโรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่หายขาด เมื่อเป็นแล้วจะเป็นไปตลอดชีวิต วิธีการรักษาจะช่วยเพิ่มการควบคุมสภาวะของโรคเท่านั้น ให้ผู้ป่วยสามารถใช้ดวงตาต่อไปได้อย่างมีความสุขโดยตลอด

วิธีการป้องกัน

ผู้ป่วยต้องดูแลเรื่องอาหารการกินอย่างหนัก เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ต่ำใกล้เคียงคนปกติมากที่สุด หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และตรวจร่างกาย ตรวจระดับน้ำตาล ตรวจจอประสาทตาเป็นระยะๆ โดยในผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเกิดต้อกระจกมากกว่าคนทั่ว 50% และโอกาสเกิดต้อหินเกิน 100% ผู้ป่วยเบาหวานต้องหมั่นตรวจเพื่อการรักษาที่ทันท่วงที

ซึ่งปัจจุบันภาวะศูนย์กลางจอประสาทตาบวมเป็นภาวะที่พบมาก แต่สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาฉีดเข้าไปที่ดวงตาเพื่อยับยั้งอาการบวมของจอประสาทตา โดยฤทธิ์ของยาจะอยู่ได้ 1 เดือนหรือเดือนกว่า ผู้ป่วยต้องมาฉีดซ้ำทุกเดือนในระยะแรก

 

ข้อมูลจาก
รศ. นพ.ภฤศ หาญอุตสาหะ
สาขาวิชาน้ำวุ้นตาและจอประสาทตา ภาควิชาจักษุวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “ภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา : พบหมอรามา ช่วง Big Story “ ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง การ ฉีดอินซูลินด้วยตัวเอง เป็นวิธีการรักษาที่แพทย์แนะนำให้แก่ผู้ป่วย โรคเบาหวาน เพราะจะสามารถช่วยรักษาสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดได้
การฉีดอินซูลินด้วยตัวเอง เป็นวิธีการรักษาที่แพทย์แนะนำให้แก่ผู้ป่วยโรคเบาหวานเพราะจะสามารถช่วยรักษาสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดได้
บทความสุขภาพ
24-04-2024

1

ภาวะขาดน้ำ ที่ผู้สูงอายุต้องระวัง ยิ่งในช่วงหน้าร้อน อากาศแห้งทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำได้ง่าย จะมีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้ได้อย่างไร มาทำความเข้าใจเพื่อนำไปป้องกันก่อนจะเกิดภาวะนี้กับร่างกาย
บทความสุขภาพ
24-04-2024

6

บทความ เรื่อง ไส้ติ่งอักเสบ อาการเริ่มต้น จะมีอาการ ปวดท้องข้างขวา แบบเฉียบพลันที่ไม่สามารถหายเองได้ หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจเกิดภาวะที่อันตรายถึงชีวิตได้
ไส้ติ่งอักเสบ จะมีอาการเริ่มต้นคือปวดท้องข้างขวาแบบเฉียบพลันที่ไม่สามารถหายเองได้ หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจเกิดภาวะที่อันตรายถึงชีวิตได้
บทความสุขภาพ
18-04-2024

2

บทความเรื่อง โรคคางทูม เกิดจาก การใช้ หลอดดูดน้ำ เดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อได้
โรคคางทูม เกิดจากการใช้หลอดดูดน้ำเดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
บทความสุขภาพ
17-04-2024

4