ผ่าตัดมะเร็งเต้านม
หน้าแรก
ผ่าตัดมะเร็งเต้านม ควรดูแลตัวเองแบบไหน
ผ่าตัดมะเร็งเต้านม ควรดูแลตัวเองแบบไหน

มะเร็งเต้านมเป็นโรคมะเร็งที่พบมากในผู้หญิงเป็นอันดับ 1 การค้นพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรกเริ่มและเข้าสู่การรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่มจะช่วยให้ผลการรักษาดี และมีชีวิติที่ยืนยาวมากกว่าผู้ป่วยที่มารักษาในระยะที่มะเร็งลุกลามหรือแพร่กระจายไปแล้ว การรักษาโรคมะเร็งเต้านมเป็นการรักษาผสมผสานหลายวิธี ทั้งผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา ยาต้านฮอร์โมน และยามุ่งเป้า การผ่าตัดจะเป็นการรักษาหลักซึ่งต้องได้รับการดูแลด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสม

โรคมะเร็งเต้านม คืออะไร

มะเร็งเต้านมเกิดจากเซลล์ของเต้านมที่เติบโตอย่างผิดปกติ ส่วนใหญ่เกิดจากเซลล์ในท่อน้ำนม หรือเซลล์บางส่วนของต่อมน้ำนมแบ่งตัวผิดปกติ กลายเป็นมะเร็งเต้านมแล้วเจริญเติบโตเดินไปตามท่อน้ำเหลืองในเต้านม และต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ แล้วกระจายไปยังอวัยวะที่ไกลออกไป เช่น กระดูก ปอด สมอง ตับ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้ โรคมะเร็งเต้านมพบได้ตั้งแต่วัยสาวโดยพบมากในผู้หญิงอายุ 40-60 ปี

โรคมะเร็งเต้านม รักษาได้ด้วยวิธีใดบ้าง

  1. การผ่าตัด โดยทั่วไปการผ่าตัดมะเร็งเต้านมจะหมายถึงการผ่าตัดอวัยวะ 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนเต้านมและ ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ เพื่อป้องกันการแพร่กระจาย
  2. เคมีบำบัด
  3. ฉายรังสี
  4. ยาต้านฮอร์โมน
  5. ยามุ่งเป้า (ยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อเซลล์มะเร็งโดยตรง)

การดูแลหลังการรักษาโรคมะเร็งเต้านม

ผลข้างเคียงสำคัญที่อาจพบได้หลังการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งเต้านมโดยเฉพาะกลุ่มที่มีการผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออก คืออาการ “แขนบวม” ซึ่งถ้าหากเกิดแขนบวมจะรักษาได้ยาก การป้องกันการเกิดแขนบวมหลังผ่าตัดโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้ได้รับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออก ได้แก่

  1. ระวังอย่ามีวัตถุรัดแขนข้างที่ผ่าตัด และอย่าสวมเครื่องประดับที่คับจนรัดแน่นเกินไป
  2. ป้องกันไม่ให้ไหล่ แขน และมือข้างที่ผ่าตัดถูกความร้อนหรือตากแดดจัด
  3. หลีกเลี่ยงการใช้แขนข้างที่ผ่าตัด ดึง ลาก ยกของหนักเกิน 2 กิโลกรัมหรือออกแรงทำกิจกรรมซ้ำๆ และการ สะพาย หรือแบกของหนักบนไหล่ข้างที่ได้รับการผ่าตัด
  4. ระวังอย่าให้เกิดอุบัติเหตุหรือติดเชื้อของแขนและมือข้างที่ผ่าตัด
  5. หลีกเลี่ยง การวัดความดันโลหิต การฉีดยา การเจาะเลือดและการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำบริเวณแขนข้างเดียวกับที่ทำการเลาะต่อมน้ำเหลืองบรเวณรักแร้ออก
  6. หากมีแผลที่ผิวหนัง ต้องทำความสะอาดแผลให้สะอาด หากมีอาการเจ็บปวด บวมแดง ควรรีบพบแพทย์

เมื่อเกิดอาการแขนบวมจะใช้วิธีกายภาพบำบัด โดยทางโรงพยาบาลจะมีเครื่องนวดเพื่อช่วยเรื่องอาการแขนบวมโดยเฉพาะ ส่วนการดูแลตัวเองในระหว่างพักฟื้นที่บ้าน สามารถนวดด้วยมือได้ ทางโรงพยาบาลจะมีการสอนให้คนไข้นวดแขนตัวเองเพื่อป้องกันอาการบวม

วิธีการนวดเพื่อลดอาการแขนบวม

วิธีการนวดแขนเพื่อกระตุ้นการไหลเวียน โดยยกแขนข้างที่ผ่าตัดขึ้น ค่อยๆนวดไล่จากปลายมือลงไปที่ต้นแขน อย่างเบามือ ประมาณ 20 ครั้งต่อรอบ วันละ 3-4 รอบ โดยจะต้องนวดตั้งแต่เริ่มบวมในระยะแรก ๆ หากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานจนบริเวณที่บวมมีลักษณะแข็ง การนวดเพื่อลดอาการบวมจะไม่ค่อยได้ผล

หมายเหตุ ถ้าแขนบวมแดงอักเสบต้องพักการนวดแขนไว้ก่อน

การรักษาอาการแขนบวม ด้วยวิธีผ่าตัด

นอกจากการนวดเพื่อลดอาการบวมของแขน ยังมีอีกหนึ่งวิธีนั่นก็คือการผ่าตัดเชื่อมท่อน้ำเหลืองเข้าสู่หลอดเลือดดำ เพื่อเพิ่มทางระบายของน้ำเหลือง ช่วยลดอาการแขนบวมได้ แต่จะต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

ทำไมรักษาโรคมะเร็งเต้านมถึงทำให้แขนบวม

อาการแขนบวมไม่ได้เกิดกับทุกรายที่รักษามะเร็งเต้านม แต่จะเกิดเฉพาะกับผู้ป่วยที่มีการเลาะต่อมน้ำเหลืองออกไปในจำนวนมาก ส่งผลให้ระบบไหลเวียนของน้ำเหลืองที่แขนผิดปกติไป จึงทำให้เกิดอาการบวมขึ้นที่แขน

สำหรับผู้ป่วยที่ทำการรักษาโรคมะเร็งเต้านม จะต้องติดตามผลอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์อาจนัดทุก 6 เดือนหรือทุก 1 ปี และควรสำรวจตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยการคลำเต้านมข้างที่รักษาไปแล้วหรือข้างที่ยังไม่ได้เป็นมะเร็ง หากมีอาการปวดหลังผิดปกติ หรือไอเรื้อรังผิดปกติควรรีบพบแพทย์ สำหรับผู้หญิงที่ไม่เคยป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม ก็ควรตรวจด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอด้วยการฝึกคลำหน้าอกและถ้าหากพบความผิดปกติหรือคลำเจอก้อนเนื้อต้องสงสัยก็ควรรีบพบแพทย์

 

ข้อมูลจาก
คุณสุวลักษณ์ วงศ์จรรโลงศิล
ผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง สาขามะเร็งเต้านม ฝ่ายการพยาบาล
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “การดูแลผู้ป่วยที่รักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัด : RAMA Square ช่วง Daily Expert” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความ เรื่อง ไส้ติ่งอักเสบ อาการเริ่มต้น จะมีอาการ ปวดท้องข้างขวา แบบเฉียบพลันที่ไม่สามารถหายเองได้ หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจเกิดภาวะที่อันตรายถึงชีวิตได้
ไส้ติ่งอักเสบ จะมีอาการเริ่มต้นคือปวดท้องข้างขวาแบบเฉียบพลันที่ไม่สามารถหายเองได้ หากปล่อยไว้ไม่รีบรักษาอาจเกิดภาวะที่อันตรายถึงชีวิตได้
บทความสุขภาพ
18-04-2024

1

บทความเรื่อง โรคคางทูม เกิดจาก การใช้ หลอดดูดน้ำ เดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อได้
โรคคางทูม เกิดจากการใช้หลอดดูดน้ำเดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
บทความสุขภาพ
17-04-2024

2

บทความเรื่อง ยาระบาย แก้ท้องผูก ได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้นยาระบายช่วยให้อาการ ท้องผูก หายได้เบื้องต้น
ยาระบาย แก้ท้องผูกได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้น ยาระบายช่วยให้อาการท้องผูกหายได้เบื้องต้นเท่านั้น
บทความสุขภาพ
11-04-2024

1

บทความเรื่อง โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรค ผิวหนังอักเสบ เรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรค สะเก็ดเงิน รักษา อย่างไรได้บ้าง ?
โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรคสะเก็ดเงินรักษาอย่างไรได้บ้าง ?
บทความสุขภาพ
10-04-2024

9