บทบาทหน้าที่ของพยาบาลวิชาชีพซึ่งเปรียบเสมือนเสาหลักในการดูแลสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่เจ็บป่วยนั้นมีความสำคัญมาก เพราะพยาบาลเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยมากที่สุดและผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง
บทบาทหน้าที่ในการปฏิบัติงานของพยาบาล รับผิดชอบอะไรบ้าง?
บทบาทหน้าที่ในการปฏิบัติงานของพยาบาล เริ่มตั้งแต่การประเมินปัญหาภาวะสุขภาพที่ต้องการการดูแลและให้การช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ป่วยปรับตัวได้ นำแผนการรักษาของแพทย์สู่การปฏิบัติ ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน และให้การฟื้นฟูและสร้างเสริมสุขภาพโดยคำนึงถึงความเป็นองค์รวมและความเป็นปัจเจกบุคคลที่มีความต้องการที่แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้และกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคมได้
แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ ๆ ได้แก่
- บทบาทอิสระ หมายถึง พยาบาลปฎิบัติหน้าที่โดยใช้ความรู้จากศาสตร์ทั้งทางด้านการพยาบาลและความรู้ที่เกี่ยวข้องในศาสตร์สาขาอื่นๆ ตัดสินใจวางแผนเพื่อให้การดูแลผู้เจ็บป่วย ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ช่วยฟื้นฟูและสร้างเสริมสุขภาพ อย่างเป็นอิสระภายใต้ขอบเขตของการพยาบาล
- บทบาทร่วม หมายถึง พยาบาลปฎิบัติหน้าที่โดยทำงานร่วมกับแพทย์และทีมสหสาขา โดยนำแผนการรักษาของแพทย์สู่การปฏิบัติดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยเพื่อให้หายจากโรค หรือควบคุมโรคได้
หน้าที่ของพยาบาลในการคัดกรองผู้ป่วย ในภาวะเร่งด่วน
เช่นการปฏิบัติหน้าที่ที่แผนกฉุกเฉิน การคัดกรองผู้ป่วยเป็นหน้าที่สำคัญของพยาบาลอีกด้านหนึ่ง ซึ่งมีประโยชน์ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัย โดยจะคัดกรองอาการของผู้ป่วยแต่ละราย ออกเป็น
- ต้องรีบพบแพทย์ทันที
- สามารถรอได้แต่ไม่นานนัก พยาบาลอาจต้องให้การช่วยเหลือเบื้องต้น เช่น การเช็ดตัวเพื่อลดไข้
- สามารถรอได้นานกว่า การปฏิบัติในส่วนนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยอย่างมากระหว่างรอเพื่อพบแพทย์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของพยาบาลที่จะต้องดูแลและรับผิดชอบ
หน้าที่ของพยาบาลในชุมชนที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่
พยาบาลไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่การดูแลผู้ป่วยยังต้องต่อเนื่องไปที่บ้านหรือในชุมชนที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ หน้าที่ของพยาบาลส่วนนี้คือการดูแลให้ผู้ป่วยดูแลตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ควบคุมโรคไม่ให้กำเริบ ด้วยการดูแลวิธีปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย และพฤติกรรมสุขภาพเพื่อให้สอดคล้องกับอาการและความเจ็บป่วยป่วยที่เป็นอยู่ ตลอดจนการรักษาโรคเบื้องต้น เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ของการรักษาพยาบาลที่ดี หรือหายจากโรค
นอกจากนี้การดูแลสุขภาพที่บ้านหรือในชุมชนโดยพยาบาล ยังมุ่งดูแลชีวิตตั้งแต่แรกเกิด ดูแลสุขภาพมารดา และสุขภาพและพัฒนาการของเด็กวัยต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นบทบาทที่สำคัญอีกด้านของพยาบาลในการสร้างเสริมสุขภาพประชาชนและผู้ที่เจ็บป่วยในชุมชน
บทบาทหน้าที่ของพยาบาลในยุคประเทศไทย 4.0 มีเป้าหมายอย่างไร?
สำหรับบทบาทหน้าที่ของพยาบาลวิชาชีพในยุคประเทศไทย 4.0 ซึ่งมุ่งเน้น
- การมองหาการปฏิบัติที่ดีที่สุดทางด้านการพยาบาลเพื่อแก้ปัญหาให้แก่ผู้ป่วย
- การจัดการระบบการดูแลสุขภาพผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
- การดูแลการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เท่าเทียมกันของผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด
- การมุ่งเน้นเรื่องความคุ้มค่าคุ้มประโยชน์ รวมถึงการใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างคุ้มค่ามากที่สุด
การพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ จึงเป็นคำตอบ และเพื่อให้เกิดการขยายผล นวัตกรรมที่พัฒนานอกจากพัฒนางานประจำที่รับผิดชอบแล้ว ยังต้องให้สามารถให้เกิดผลประโยชน์เชิงพานิชย์ด้วย เพื่อให้สามารถขยายผลการใช้งานและผลลัพธืที่ดีทางด้านเศรษฐกิจชาติด้วย จึงมีคำกล่าวที่ว่า ยุคประเทศไทย 4.0 นี้จะต้องพัฒนานวัตกรรมที่เข้าห้าง ไม่ใช่ขึ้นหิ้ง เหมือนที่ผ่านมา
โดยทุกหน้าที่ของพยาบาลยุคนี้ต้องสอดคล้องไปกับการขับเคลื่อนประเทศไทยในบริบทไทยแลนด์ 4.0 พยาบาลต้องรู้จักคิดนอกกรอบ คิดสร้างสรรค์ และรู้จักบูรณาการความรู้สู่การพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ทางการพยาบาลและผลลัพธ์ด้านสุขภาพผู้ป่วยที่ดีที่สุด
พยาบาลยุคประเทศไทย 4.0 ต้องเรียนรู้หรือมีทักษะความสามารถอะไรบ้าง?
เพื่อส่งเสริมให้พยาบาลวิชาชีพสามารถมองหาการปฏิบัติที่ดีที่สุดทางด้านการพยาบาลเพื่อแก้ปัญหาให้แก่ผู้ป่วย การจัดการระบบการดูแลสุขภาพผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด การดูแลการเข้าถึงบริการสุขภาพที่เท่าเทียมกันของผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด และการมุ่งเน้นเรื่องความคุ้มค่าคุ้มประโยชน์ รวมถึงการใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างคุ้มค่ามากที่สุด พยาบาลยุคประเทศไทย 4.0 จำเป็นต้องพัฒนาทักษะหรือความสามารถ ซึ่งได้แก่
- ทักษะเพื่อพัฒนาตน เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพ เริ่มตั้งแต่การดูแลที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ สามารถใช้ความรู้ในการดูแลรักษาพยาบาล กล้าที่จะรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนการทำงานอย่างเป็นระบบ คิดเป็นระบบ ทำ พูด และรายงานอย่างเป็นระบบ
- ทักษะการทำงานร่วมกับคนอื่น คือ ความสามารถในการทำงานเป็นทีม ความสามารถในการประสานงานที่รวดเร็ว แม่นยำและถูกต้อง
- ทักษะการดูแลที่เน้นความปลอดภัยของผู้ป่วย คู่ขนานไปกับการพัฒนาคุณภาพในการทำงาน รู้จักใช้ข้อมูลทางวิชาการหลักฐานเชิงประจักษ์ ข้อมูลทางด้านวิจัย และนำมาบูรณาการกับการทำงาน โดยทักษะต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรในปัจจุบันการเรียนรู้ตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนพยาบาล ทั้งนี้โดยใช้ศาสตร์และศิลป์ในการปฏิบัติการพยาบ
ศาสตร์และศิลป์ในการปฏิบัติหน้าที่ของพยาบาลในยุคประเทศไทย 4.0 มีอะไรบ้าง?
การปฏิบัติหน้าที่ของพยาบาลในยุคประเทศไทย 4.0 ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ดังนี้
- ศาสตร์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการพยาบาลที่ได้มาจากงานวิชาการ งานวิจัย และนำมาประยุกต์ใช้ และพัฒนานวัตกรรมการพยาบาลในด้านต่าง ๆ เพื่อคุณภาพบริการที่ดีขึ้น
- ศาสตร์ความรู้ในการเข้าใจตนเอง โดยฟังผู้ป่วยและครอบครัวให้มากที่สุด นำข้อมูลไปสู่การวางแผนการดูแลช่วยเหลือ ผนวกกับให้การดูแลโดยเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และสนใจในความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วย
- ศาสตร์ความรู้ด้านคุณธรรมจริยธรรม คือเข้าใจความทุกข์ผู้ป่วย รู้จักเสียสละ เพื่อดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่
- ศิลป์-ศิลปะในการพยาบาล ที่จะสามารถเลือใช้เพื่อให้สามารถเข้าถึง เข้าใจ และสื่อสารแก่ผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อมูลโดย
รศ. ดร.เรณู พุกบุญมี
ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล