หัวใจหยุดเต้น
หน้าแรก
ทำอย่างไรเมื่อเจอผู้ป่วย หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน
ทำอย่างไรเมื่อเจอผู้ป่วย หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกสถานที่ และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้ การมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการช่วยเหลือคนไข้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน จะช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรเตรียมความพร้อมในเรื่องของการฝึกช่วยเหลือเบื้องต้น และการเรียกรถพยาบาล รวมถึงการขอความช่วยเหลือที่ถูกต้องเหมาะสม

ขั้นตอนการช่วยเหลือผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน

  1. หากพบผู้ป่วยหมดสติ ให้ทำการกระตุ้นว่าผู้ป่วยรู้สึกตัวหรือมีการตอบสนองหรือไม่ หากคลำชีพจรเป็นให้คลำชีพจรเพื่อตรวจสอบ
  2. เรียกขอความช่วยเหลือแล้วกลับมาทำการกดหน้าอกผู้ป่วย เนื่องจากในการช่วยเหลือผู้ป่วยไม่สามารถช่วยเหลือได้ด้วยคนเดียวต้องมีผู้ช่วยด้วย

การทำ CPR ช่วยเหลือผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน

การกดหน้าอกผู้ป่วยให้กดบริเวณตรงกลางซึ่งเป็นตำแหน่งที่อยู่ของกระดูกหน้าอก โดยบริเวณนี้จะมีความปลอดภัยเนื่องจากมีกระดูกรองรับอยู่ โดยให้กดที่ตำแหน่งครึ่งล่างของกระดูกหน้าอก ใช้สันมือหนึ่งข้างในการกดพร้อมกับใช้มืออีกข้างหนึ่งล็อคมือที่ใช้กดหน้าอกไว้ กดหน้าอกให้ลึกลงไป 2 นิ้ว ไม่ควรลึกเกิน 2.4 นิ้ว ซึ่งปกติแรงกดของคนทั่วไปมักไม่เป็นอันตราย จึงควรพยายามกดให้แรงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการกระตุ้นหัวใจ โดยใช้ความเร็วในการกดหน้าอกที่ 100-120 ครั้งต่อนาที สำหรับคนทั่วไปไม่ต้องเว้นช่วงเพื่อเป่าปาก แต่ถ้าหากเป็นบุคลากรทางการแพทย์อาจใช้วิธีเป่าปากร่วมด้วยในการช่วยเหลือ และหากมีอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อก็ควรใช้ร่วมด้วย

รู้จักกับเครื่อง AED อุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน

ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นกะทันหันกว่าร้อยละ 50 เกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ในลักษณะของหัวใจห้องล่างเต้นพริ้ว หากเกิดภาวะนี้จำเป็นต้องใช้เครื่อง AED ในการช็อตหัวใจผู้ป่วย หากไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าว ส่งผลให้การช็อตหัวใจผู้ป่วยช้าไปเพียง 10 นาที ผู้ป่วยสามารถเสียชีวิตได้ ถือเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญมาก โดยเครื่องนี้สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเท่านั้น ดังนั้นหากพบคนหมดสติต้องแน่ใจก่อนว่าผู้ป่วยแค่เป็นลม หรือมีภาวะหัวใจหยุดเต้นไป หากพบผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นแล้วนำเครื่อง AED มาใช้งาน ตัวเครื่องจะทำการวิเคราะห์ได้ว่าผู้ป่วยรายนั้นต้องช็อตหัวใจหรือไม่

การใช้งานเครื่อง AED

  1. กดปุ่มเปิดเครื่อง เครื่องจะทำการแนะนำขั้นตอนการใช้งานด้วยเสียง
  2. นำแผ่นแปะหน้าอกแปะตามรูป ให้ติดผิวหนังของผู้ป่วยให้สนิท
  3. เครื่องทำการประเมินจังหวะการเต้นของหัวใจ เพื่อตรวจสอบว่าต้องทำการช็อตหัวใจหรือไม่ หากต้องทำการช็อตเครื่องจะสั่งการให้กดปุ่มช็อตหัวใจ
  4. ทำการกดหน้าอก (CPR) ตามจังหวะต่อไป

สิ่งที่ควรรู้ในการช่วยเหลือผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน

  1. หากพบผู้ป่วยหมดสติ ควรตรวจสอบว่ามีภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือไม่ โดยการกระตุ้นผู้ป่วยว่ามีการตอบสนองหรือไม่
  2. ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นด้วยคนเดียวได้ จำเป็นต้องมีผู้ช่วย โดยคนหนึ่งจะทำการ CPR เบื้องต้นก่อน ส่วนอีกคนหนึ่งจะทำการใช้เครื่อง AED
  3. เบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินเมื่อพบผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นคือ 1669 ควรโทรเรียกเพื่อการช่วยเหลือเพิ่มเติม เช่น การใช้เครื่อง AED แต่ระหว่างรอการช่วยเหลือเพิ่มเติมให้ทำ CPR ช่วยชีวิตไปก่อน
  4. เครื่อง AED ต้องใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเท่านั้น

 

ข้อมูลจาก
ผศ. พญ.รัชนี แซ่ลี้
สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์
และอาจารย์ประจำ CPR Training Center โรงพยาบาลรามาธิบดี
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “”แชร์เหตุการณ์จริง ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นบนเครื่องบิน” : พบหมอรามา ช่วง big story” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง เลี่ยง ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง หรือ ความดันเลือด สูง
ความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการชัดเจนทำให้หลายคนไม่รับรู้ถึง ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง ที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้นควรศึกษาความรู้เพื่อเลี่ยงการเกิดโรคนี้ในอนาคต
บทความสุขภาพ
27-03-2024

5

smiling depression คือ อาการ รอยยิ้ม โรคซึมเศร้า
รอยยิ้ม บนใบหน้าที่เป็นการแสดงความรู้สึกที่มีความสุข แต่ภายในจิตใจกลับทุกข์ไม่มีความสุข อาการแบบนี้อาจเสี่ยงเป็นภาวะ Smiling Depression
บทความสุขภาพ
21-03-2024

9

พยาธิในปอด อาการ รักษา โรคพยาธิใบไม้ในปอด อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ
อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เป็นอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุกตามสุขอนามัย สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายทำให้เสี่ยงกับการเป็น โรคพยาธิใบไม้ในปอด ได้
บทความสุขภาพ
20-03-2024

2

ไข้หวัดใหญ่อาการ รักษา ไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ุ A
“ไข้หวัดใหญ่” เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีแต่ช่วงที่เกิดการระบาดมากที่สุดคือช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
บทความสุขภาพ
20-03-2024

8