8ค็อกเทล อะโวคาโดกุ้ง
หน้าแรก
ค็อกเทลอะโวคาโดกุ้ง แหล่งพลังงานที่สำคัญต่อร่างกาย
ค็อกเทลอะโวคาโดกุ้ง แหล่งพลังงานที่สำคัญต่อร่างกาย

ค็อกเทลอะโวคาโดกุ้ง อีกหนึ่งเมนูเพื่อสุขภาพที่เหมาะกับทุกเพศทุกวัย เต็มไปด้วยสารอาหารไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย เป็นแหล่งพลังงานที่เหมาะสมด้วยไขมันดีที่เหมาะสำหรับการบริโภค ช่วยลดความเสี่ยงในโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนผสมของค็อกเทลอะโวคาโดกุ้ง

  1. กุ้ง 2 ตัว
  2. น้ำมันมะกอก ½ ช้อนชา
  3. อะโวคาโด ¼ ลูก
  4. น้ำมะนาว 1/8 ช้อนชา
  5. เกลือป่นเล็กน้อย
  6. ผักสลัด (สำหรับตกแต่ง)

วิธีทำค็อกเทลอะโวคาโดกุ้ง

  1. นำกุ้งลวกไปคลุกกับน้ำมันมะกอก แล้วพักทิ้งไว้
  2. ผ่าอะโวคาโด นำเม็ดออก คว้านเอาเฉพาะเนื้อใส่ในลงภาชนะ ใช้ช้อนบดจนเนื้ออะโวคาโดเนียน
  3. ใส่น้ำมะนาวและเกลือป่นลงไป คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน
  4. ตักอะโวคาโดวางลงบนจานแล้ววางทับด้วยกุ้งที่พักไว้
  5. ตกแต่งหน้าอาหารด้วยผักสลัด พร้อมเสิร์ฟ

เคล็ดลับการทำค็อกเทลอะโวคาโดกุ้ง

  • วัตถุดิบที่ใช้ต้องสด เช่น กุ้งต้องสด ผักต้องสด
  • อะโวคาโดผลต้องสุก
  • กุ้งที่ลวกให้ลวกแค่พอสุก อย่าลวกนาน เพราะจะทำให้เนื้อกุ้งแข็ง
  • น้ำมันมะกอก สามารถใช้น้ำมันที่มีคุณสมบัติเทียบเท่าอย่างอื่นแทนได้ เช่น น้ำมันรำข้าว, น้ำมันเมล็ดชา, น้ำมันงา เหล่านี้ช่วยลดไขมันเลวในเลือดได้ แต่ไม่ควรใช้เยอะเกินไป เพราะจะส่งผลเสียต่อร่างกาย น้ำหนักตัวเพิ่ม

สารอาหารของค็อกเทลอะโวคาโดกุ้ง

สารอาหารที่โดดเด่นของเมนูนี้คือ “ไขมัน” จากอะโวคาโดสุกและน้ำมันมะกอก จึงเป็นแหล่งพลังงานชั้นดี โดยส่วนผสมทั้งสองให้ไขมันดีต่อร่างกาย ช่วยลดระดับไขมันในเลือดได้ โดยเฉพาะสารไขมันโอเมก้า 9 ที่พบได้ในอะโวคาโด มีคุณสมบัติเกี่ยวกับการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพในโรคดังกล่าว

หากรับประทานเป็นประจำยังช่วยเรื่องการดูดซึมวิตามินบางชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค ซึ่งต้องใช้ไขมันในการดูดซึม สารอาหารรองลงมาที่พบได้จากค็อกเทลอะโวคาโดคือ “โปรตีน” ที่ได้จากกุ้ง โดยในกุ้งจะมีไขมันต่ำ แต่มีคลอเลสเตอรอลสูง ให้พลังงานน้อยและเป็นแหล่งโปรตีนที่ดี ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ

นอกจากนี้ในค็อกเทลอะโวคาโดยังมีคาร์โบไฮเดรตที่ได้จากอะโวคาโด และมีวิตามินอีจากอะโวคาโดและน้ำมันมะกอกเช่นกัน ซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระช่วยชะลอวัยและต้านมะเร็ง โดยสารอาหารที่ได้จากค็อกเทลอะโวคาโดกุ้ง ได้แก่ ไขมัน เป็นไขมันดี โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และวิตามินอี

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับไขมัน

  • ไขมัน 1 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี่
  • น้ำมัน 1 ช้อนชา มีไขมัน 5 กรัม ให้พลังงาน 45 กิโลแคลอรี่ เทียบเท่ากับการรับประทานข้าว ½ ทัพพี

ไขมันแบ่งเป็น 2 กลุ่ม

  1. กรดไขมันอิ่มตัว เช่น น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ข้อดีคือช่วยเพิ่มไขมันดี (HDL) ในร่างกาย แต่มีข้อเสียคือช่วยเพิ่มไขมันเลว (LDL) ให้กับร่างกายไปพร้อม ๆ กัน ทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
  2. กรดไขมันไม่อิ่มตัว แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ดังนี้
    • กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันคาโนลา สามารถลดไขมันเลว (LDL) แต่ไม่มีผลต่อไขมันดี (HDL)
    • กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน จะมีกรดไขมันจำเป็นโอเมก้า 3 และกรดไขมันโอเมก้า 6 พบได้ในน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด เป็นไขมันดีต่อร่างกาย และร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น จึงควรรับประทานอาหารที่มีสารดังกล่าวเป็นประจำ โดยในกรดไขมันโอเมก้า 3 ยังช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด คุณสมบัติของกรดไขมันอิ่มตัวเชิงซ้อนคือลด LDL และลด HDL ในร่างกายไปพร้อม ๆ กัน จึงควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม

ข้อแนะนำในการบริโภคสารอาหารจำพวกไขมัน

  1. ไขมันที่เหมาะกับการบริโภคมากที่สุดคือกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว เพราะช่วยลดไขมันเลว (LDL) แต่ไม่มีผลต่อไขมันดี (HDL) ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดและหัวใจได้ดีที่สุด สามารถบริโภคได้จากน้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว เป็นต้น
  2. กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนเป็นไขมันที่ควรบริโภครองลงมา เพราะช่วยลด LDL จึงส่งผลดีต่อร่างกาย แต่ในขณะเดียวกันไขมันชนิดนี้ก็ไปลด HDL ด้วย จึงควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม
  3. ไขมันที่ควรหลีกเลี่ยงมากที่สุดคือไขมันทรานส์ เป็นไขมันไม่อิ่มตัวชนิดหนึ่ง มีคุณสมบัติคือเพิ่ม LDL และลด HDL ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูง รวมถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ พบได้ในมาการีน เนยเทียม เนยขาว และน้ำมันทอดซ้ำ

การเลือกน้ำมันที่เหมาะกับวิธีการประกอบอาหาร

  1. การทำน้ำสลัด ควรใช้เป็นน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันมะกอกธรรมชาติ น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันข้าวโพด
  2. การประกอบอาหารที่ใช้น้ำมันเพียงเล็กน้อยหรือขลุกขลิกนั้นควรใช้น้ำมันทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดฝ้าย หรือน้ำมันปาล์มโอเลอิน
  3. การทอดอาหารที่ต้องใช้น้ำมันมากและใช้ความร้อนสูงในการประกอบอาหาร ควรใช้น้ำมันปาล์ม น้ำมันหมู และน้ำมันรำข้าว

ประโยชน์ที่ได้รับจากค็อกเทลอะโวคาโดกุ้ง

  1. ช่วยลดไขมันในหลอดเลือด ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด
  2. ช่วยผู้สูงอายุในรายที่มีปัญหาเบื่ออาหาร
  3. เป็นแหล่งพลังงานชั้นดีจากสารอาหารประเภทไขมันที่ได้จากอะโวคาโดสุกและน้ำมันมะกอก
  4. ช่วยลดไขมันเลว (LDL) ในร่างกาย โดยไม่ทำให้ไขมันดี (HDL) ลดลง จากคุณสมบัติของน้ำมันมะกอกซึ่งมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว
  5. ช่วยลดระดับไขมันในเลือดจากสารไขมันโอเมก้า 9 ที่พบได้ในอะโวคาโด

 

ข้อมูลจาก
คุณปิยานุช ไมตรีจร
นักวิชาการโภชนาการ ฝ่ายโภชนาการ
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “ค็อกเทลอะโวคาโดกุ้ง : Rama Square ช่วง เปิดตู้เย็น” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง เลี่ยง ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง หรือ ความดันเลือด สูง
ความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการชัดเจนทำให้หลายคนไม่รับรู้ถึง ปัจจัยเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง ที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนั้นควรศึกษาความรู้เพื่อเลี่ยงการเกิดโรคนี้ในอนาคต
บทความสุขภาพ
27-03-2024

5

smiling depression คือ อาการ รอยยิ้ม โรคซึมเศร้า
รอยยิ้ม บนใบหน้าที่เป็นการแสดงความรู้สึกที่มีความสุข แต่ภายในจิตใจกลับทุกข์ไม่มีความสุข อาการแบบนี้อาจเสี่ยงเป็นภาวะ Smiling Depression
บทความสุขภาพ
21-03-2024

9

พยาธิในปอด อาการ รักษา โรคพยาธิใบไม้ในปอด อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ
อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ เป็นอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงให้สุกตามสุขอนามัย สามารถส่งผลเสียต่อร่างกายทำให้เสี่ยงกับการเป็น โรคพยาธิใบไม้ในปอด ได้
บทความสุขภาพ
20-03-2024

2

ไข้หวัดใหญ่อาการ รักษา ไข้หวัดใหญ่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ุ A
“ไข้หวัดใหญ่” เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย โดยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีแต่ช่วงที่เกิดการระบาดมากที่สุดคือช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
บทความสุขภาพ
20-03-2024

8